อ่านหนังสือการ์ตูน “คู่มือมนุษย์”

วันนี้มีโอกาสได้รับหนังสือเล่มนี้มาค่ะ (^____^) สดๆร้อนๆเลย

human-handbook-comic-cover

ขอบอกว่าเนื้อหาข้างในเล่มเป็นอะไรที่น่าดูชมมาก
ภาพก็อลังการมากเลยค่ะ

human-handbook-comic-1

น่าอ่านมากๆเลย

human-handbook-comic-2

ภาพอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆก็มีนะคะ

human-handbook-comic-3

human-handbook-comic-7

human-handbook-comic-6

ซื้ออ่านได้จากร้านหนังสือค่ะ เช่น ร้านซีเอ็ด ร้านนายอินทร์ อะไรแบบนี้

หรือสั่งซื้อทีละเยอะๆจากเว็บ A Thing Book ก็ได้เหมือนกันค่ะ
เค้าจะมีลดราคาอยู่นะคะ สำหรับท่านที่สนใจนำไปแจกเป็นธรรมทาน
ที่เว็บไซต์ http://www.athingbook.com
(ตรวจสอบราคาจากเว็บไซต์ A Thing Book อีกทีนะคะ)
ซื้อตั้งแต่ 10 เล่มขึ้นไป ลดพิเศษ 30%
ซื้อตั้งแต่ 100 เล่มขึ้นไป ลดพิเศษ 50%

เสียงอ่านหนังสือ “คู่มือมนุษย์” เล่มนี้ดังมากๆๆๆ

หนังสือเล่มนี้ดังมากๆๆเลย
เคยอ่านไหมคะ

โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

handbook_for_mankind

ฟังแล้วได้ความรู้และประโยชน์มากๆ
บางอย่างเกี่ยวชีวิตจิตใจมนุษย์

พึ่งรู้ว่าเล่มนี้มีไฟล์เสียงอ่านหนังสือออกมาด้วยล่ะ เจอโดยบังเอิญ
เป็นเสียงอ่านประกอบคลอด้วยดนตรี

เสียงอ่าน+เสียงดนตรีก็น่าฟังมากค่ะ
ดาวโหลดฟังจากที่นี่เลยค่ะ

1. ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-01.mp3

2. พุทธศาสนามุ่งชี้อะไรเป็นอะไร
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-02.mp3

3. ไตรลักษณ์ ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-03.mp3

4. อุปาทาน อำนาจของความยึดติด
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-04.mp3

5. ไตรสิกขา ขั้นของการปฏิบัตศาสนา
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-05.mp3

6. เบญจขันธ์ คนเราติดอะไร
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-06.mp3

7. การทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาติ
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-07.mp3

8. การทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-08.mp3

9. ลำดับแห่งการหลุดพ้นจากโลก
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/human-handbook-09.mp3

———-
สำหรับเวอร์ชั่น pdf ดาวโหลดที่นี่นะคะ (สำหรับท่านที่ชอบแบบอ่านมากกว่า)
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/10/handbook_for_mankind.pdf

ถ้าจะกราบไหว้… ต้องทำด้วยปัญญา – หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ


อ่านด้วยปัญญานะคะ (-/\-) บทความนี้

แล้วเราจะได้ปัญญาจากท่านพุทธทาส

“…การยึดถืออาจารย์จะเป็นกรงขังวิญญาณของผู้ยึด

การถอนความยึดถือติดแน่นในลัทธิและนิกายนั้น ย่อมหมายถึงการไม่ยึดถือในบุคคล หรือวัตถุภายนอกอื่น ๆ ด้วย. การยึดถือบุคคลภายนอก เช่น ความยึดว่าบุคคลผู้นี้ หรืออาจารย์คนนั้นเป็นพระอรหันต์, หรืออาจารย์ของเราบรรลุมรรคผลขั้นนั้นขั้นนี้ เพื่อจะได้มีความเชื่อความเลื่อมใส และยึดเอาเป็นที่พึ่งแต่ผู้เดียว เช่นนี้เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างหนัก. การยึดถือเช่นนั้นแทนที่จะส่งเสริม กลับกลายเป็นกรงที่กักขังดวงวิญญาณของผู้ยึดไว้ ให้กลายเป็นลูกนกที่อ่อนแอ

ถ้าเป็นผู้ตื่นอาจารย์เกินไป ก็เป็นโอกาสที่จะถูกหลอกลวง จากอาจารย์ที่เป็นอลัชชีหรือลวงโลก. ถึงแม้ว่าบุคคลที่ตนยึดถือนั้น จะเป็นพระอรหันต์จริง ๆ ก็ตาม การยึดถือนั้นก็ยังไม่มีประโยชน์อันใด เพราะว่าตนจะรู้จักพระอรหันต์ไม่ได้ เว้นแต่ตนเป็นพระอรหันต์เองมาแล้ว; การยึดถือของตน จึงยึดไม่ถูกองค์พระอรหันต์ แต่ไปยึดถูกทิฏฐิที่โง่เขลาหรืออ่อนแอ อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าเท่านั้น, หรืออย่างดีที่สุด ก็ไปยึดเข้า ที่เปลือกกายของพระอรหันต์ จะมีประโยชน์บ้างบางอย่างก็แต่ในขั้นศีลธรรม แต่เป็นของมืดมัวสำหรับความหลุดพ้นของจิต. เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายาม ที่จะเห็นธรรมหรือองค์อรหันต์ที่แท้จริง แทนการพยายามยึดถือผู้นั้นผู้นี้ว่า เป็นพระอรหันต์.

การกราบไหว้พระภิกษุสงฆ์ มิใช่ด้วยความยึดถือในบุคคลนั้น ๆ แต่เป็นการกราบไหว้ ธง หรือ เครื่องหมายของพระอรหันต์ ทำนองเดียวกับที่เรากราบไหว้พระพุทธรูป อันเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระพุทธเจ้า, หรือกล่าวอย่างธรรมดาที่สุด ก็เช่นเดียวกับราษฏรทุกคนเคารพผ้าธงไตรรงค์ อันเป็นเครื่องหมายแทนชาติ. หรือถ้าเรามองเห็นคุณความดีอย่างอื่นประจักษ์ชัด เรากราบไหว้คุณความดีนั้น ๆ เท่าที่รู้กันอยู่, แต่เราไม่ควรทึกทักเอาว่านั่นเป็นพระอรหันต์ อย่างพวกที่ตื่นพระอรหันต์.

เราใช้ตัวเราเองพิจารณาเองว่า ตามที่ท่านผู้นั้นกระทำอยู่นั้น จะเป็นการถอนตนออกจากโลก หรือทุกข์ หรือหาไม่ และเราจะทำตามอย่างท่านได้ ก็เฉพาะแต่ข้อที่ทำไปก็เห็นไปพร้อมกัน ว่าสามารถละกิเลสได้เพียงไร, และละได้แล้วจริง ๆ. เพราะฉะนั้น เราอาจกราบไหว้ สิ่งที่ควรกราบไหว้ทั่วไปก็ได้ โดยปราศจากความยึดถือ ชนิดที่เป็นกรงกักขังหัวใจ เป็นแต่กราบไหว้ด้วยปัญญา ที่รู้สิ่งที่ควรกระทำ.

การกราบไหว้ ทำด้วยปัญญา ไม่ต้องยึดถือ

การกราบไหว้เฉพาะอิฐปูน ที่เขาก่อเป็นพระพุทธรูป หรืออนุสาวรีย์อย่างอื่น ๆ ถือกันว่า เป็นการกระทำ ของคนที่ปราศจากความรู้ หรือของคนโง่เขลา. ความจริง; ท่านประสงค์ให้กราบไหว้ คุณความดี ของบุคคลที่ เขาสร้างอนุสาวรีย์นั้น ๆ ให้เท่านั้น. เมื่อท่านผู้นั้นมีชีวิตอยู่ ตัวท่านหรือร่างกายของท่าน เป็นผู้ที่รับการกราบไหว้ แทนคุณงามความดีในตัวท่าน. เมื่อท่านตายแล้ว ผู้อื่นช่วยกันสร้างอนุสาวรีย์ ให้เป็นที่รับการกราบไหว้แทนร่างกายท่าน. เพราะฉะนั้น ใจความสำคัญจึงมีอยู่ว่า ไม่ได้กราบอิฐปูน, แต่กราบไหว้คุณงามความดีของเขา, และทั้งกระทำโดยไม่ต้องยึดถือ. ทั้งนี้เพราะเหตุว่า เราจะไปยึดถือคุณงามความดีของผู้อื่นไม่ได้ ทำได้ก็แต่เพียงบูชาเขาด้วยน้ำใจที่ยุติธรรม หรือถือเอาเขาเป็นบุคคลตัวอย่าง ในคุณความดีอันประจักษ์ชัดแล้วนี้.

การไหว้พระพุทธรูปเหมือนเซ่นผีเป็นความยึดถือผิด

แต่เมื่อสังเกตดูโดยถี่ถ้วนแล้ว เราส่วนมากได้ละเลยความจริงอันนี้ และได้ปล่อยให้การยึดถือเข้าครอบงำหนักขึ้น. แม้ในหมู่พวกพุทธบริษัทเอง ก็มีไม่ใช่น้อยที่ทำไปด้วยความยึดถือ และกระทำแก่พระพุทธรูปซึ่งเป็นอิฐปูนนั้น ราวกะทำแก่คนที่มีชีวิตจิตใจจริง ๆ และเป็นคนที่ละโมบเสียด้วย.

พระพุทธรูปถูกประดับประดาด้วยผ้าสีต่าง ๆ เช่นเดียวกับเทวรูปของฮินดู ถูกประดับด้วยทอง เงิน และเปลี่ยนให้ตามฤดูกาลในปีหนึ่ง ๆ พระพุทธรูปได้รับการถวายอาหารคาวหวาน คล้ายกับเครื่องเซ่นผี ได้รับการพรมน้ำหอม และอื่น ๆ อีกมากเหลือที่จะพรรณา. ทั้งหมดนี้เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอย่างอื่นใด นอกจากความยึดถืออันผิดๆ และเลยกระทงแห่งศีลธรรมที่ดีงามไปเสียลิบลับ, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ผลร้าย คือ การกักกั้นจิตไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรม ชนิดที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้สาวกเข้าถึง.

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระชนม์ชีพอยู่ ไม่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชา ไม่มีการไหว้รูปเคารพ มีบ้างก็แต่เจดีย์สร้างขึ้น เป็นอนุสาวรีย์แก่คนชั้นพระศาสดา เพื่อเกิดความสังเวชแก่ผู้พบเห็น เรียกสังเวชนียสถาน และเป็นกุศลแก่ผู้ได้ความสังเวช. แต่ในสมัยนี้มีการสร้าง พระพุทธรูปขึ้นเกลื่อนกลาด บูชากันอย่างรูปเคารพ ได้รับการกระทำเช่นเดียวกันกับ การเซ่นผีหรือการเล่นตุ๊กตาของเด็กเล็ก ๆ ; ซึ่งถ้าหากพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ถึงเวลานี้ หรือได้เสด็จมาเห็นเหตุการณ์ ที่พลิกแพลงไปถึงเพียงนี้ คงจะทรงเห็นพ้องด้วยพระมะหะหมัด ศาสดาแห่งชนชาวอิสลาม ในการที่ห้ามสร้างรูปเคารพ ที่สร้างขึ้นเพื่อหลงติด เขวออกไปนอกทาง แห่งการเข้าถึงพุทธธรรม และคงทรงห้ามมิให้ปล่อยความเชื่อถือหรือนับถือ ให้ไหลไปโดยปราศจากเหตุผลเช่นนี้ จนผิดจากความประสงค์เดิม.

เรากราบไหว้พระพุทธเจ้าในฐานะทรงเป็นดวงประทีป

เรากราบไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอำนาจที่เรามีจิตแจ่มใส มีปิติปราโมทย์ในพระองค์ เพราะได้ทรงค้นพบสิ่งอันเร้นลับ หรือพุทธธรรมดังกล่าวแล้ว. เราได้ฟังธรรมที่พระองค์ทรงประกาศ พร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะ พร้อมทั้งเหตุผลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พอที่จะให้เกิดความเชื่อขึ้นในตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อตามพระองค์ ว่าถ้าทำไปเช่นนั้นจริง ๆ ความทุกข์จะหมดไปได้

เรากราบไหว้ในชั้นนี้โดยไม่ต้องยึดถือ ว่าพระองค์เป็นอะไร มากไปกว่า ผู้ที่ส่องประทีปให้เราเดินไปเอง และแสงสว่างแห่งดวงประทีปนั้นเราก็เห็นชัดอยู่ โดยนัยนี้จึงไม่มีการยึดถือ ชนิดที่จะพลิกคว่ำพระองค์ลงมาเป็นเจ้าผี ที่คอยอำนวยสิ่งต่าง ๆ ให้ ตามที่ผู้เซ่นไหว้เขาต้องการ. ทั้งไม่ต้องยึดถือแม้แต่เพียงว่า พระองค์จะช่วยเราหรือพาเราไป, เพราะพระองค์ตรัสว่า เราจะต้องเดินไปเอง พระองค์ส่องไฟให้เราจุดดวงไฟ ชนิดเดียวกับของพระองค์ขึ้นเพื่อเราเอง…”

จากหนังสือที่ได้รับคำพยากรณ์ว่า
“จะไม่ตาย”

“วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” (หน้า 92-97)
พุทธทาส อินทปัญโญ

ขันธ์5 (อย่างง่าย) – หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ

อันนี้เป็นอย่างย่อ ที่ตัดทอนมาให้นะคะ
จริงๆอยากให้มีโอกาสได้ลองอ่านฉบับเต็มกัน
จะช่วยเปิดมุมมองเรา เรื่องขันธ์5 ได้ดีมากๆเลยนะ
ถ้าสนใจอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่เลยค่ะ
https://dhammaway.wordpress.com/2011/12/28/five-aggregates-full-part/

แต่ถ้าอยากได้แบบละเอียดยิบจริงๆ
อธิบายกันทีเดียว เคลียแล้วเข้าใจ เลยนะคะ

ให้โหลดหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย” เล่มนี้มาอ่านเลยคะ
ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านอธิบายเอาไว้ดีมากเลย
ให้เปิดเข้าไปในหนังสือเลยคะ อยู่ตรงบทที่ 1 เลยทีเดียว

เข้าไปดาวโหลดได้ตามลิงค์นี้เลย
https://dhammaway.wordpress.com/2012/12/23/the-great-book/

(^____^)

ตัดทอนมาจากหนังสือคู่มือมนุษย์ ของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ
เป็นส่วนที่มาจากการบรรยายอบรมให้กับผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา ของเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2499
“…ท่านแนะวิธีให้ดู ด้วยการจำแนกโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย
คือที่เป็นฝ่ายวัตถุ เรียกว่า รูป อย่างหนึ่ง.
ฝ่ายที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ฝ่ายที่เป็นจิตใจ
เรียกว่า นามธรรม อีกอย่างหนึ่ง.

ถ้าเราฟังคนโบราณพูด หรืออ่านข้อความในหนังสือโบราณๆ
เราจะได้ยินคำว่า “รูปธรรม นามธรรม” นี้บ่อยๆ.
นั่นแหละ ขอให้เข้าใจว่า การใช้คำว่า รูปธรรม นามธรรม นั้น
ก็คือการที่ท่านแบ่งโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย;
หรือแบ่งสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ออกเป็น ๒ ประเภท
คือประเภทที่เป็นรูปธรรมได้แก่วัตถุ, หรือส่วนที่ไม่ใช่จิตใจ
ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นส่วนที่เป็นจิตใจ
หรือรู้สึกได้ทางใจ ท่านรวมเรียกว่า นามธรรม.
แต่เพื่อให้ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นอีก
ท่านได้แบ่งส่วนที่เป็นนามธรรมหรือจิตใจนี้ออกเป็น ๔ ส่วน
เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.

คำว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็เป็นคำที่ใช้กันดื่นในวงพุทธบริษัท
เชื่อว่าคงได้ยินได้ฟังกันอยู่มากแล้ว.
เมื่อเอาส่วนที่เรียกว่า “รูป” อีกหนึ่ง
ซึ่งเป็นประเภทรูปธรรม มารวมเข้ากับ ๔ ส่วน
ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นจิตใจ ก็ได้เป็น ๕ ส่วน;
ท่านเลยนิยมเรียกว่า “ส่วน ๕ ส่วน”.
ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ห้า
แปลว่า ส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก
โดยเฉพาะก็คือเป็นสัตว์เป็นคนเรานี้เอง…”

อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ค่ะ https://dhammaway.wordpress.com/2011/12/28/five-aggregates-full-part/

ตัดทอนมาจากหนังสือคู่มือมนุษย์ ของหลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ
ซึ่งเป็นการบรรยายอบรมให้กับผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา ของเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2499

คลังภาพ

ความคิดลังเลในพระศาสดา – ท่านพุทธทาสภิกขุ

“…การที่คนเราเกิดความคิดลังเลขึ้นมาได้ แม้ในพระศาสดาของตน ในหลักธรรมหรือหลักปรัชญาทีได้ศึกษามา กระทั่งในตัวอย่างของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จมาแล้ว

ทั้งนี้ เป็นเพราะความไม่อยู่ในร่องในรอยของจิต ที่ถูกสิ่งแวดล้อมปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่า “ตัวกู-ของกู” ขึ้นมาในรูปต่างๆกัน สูงต่ำกว่ากัน กว้างแคบกว่ากัน และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั่นเอง.

ความคิดหรือหลักเกณฑ์ที่เคยรู้สึกว่าถูก ในวันหนึ่งก็กลายเป็นไม่ถูกไปในอีกวันหนึ่ง โดยไม่ต้องพูดกันเป็นเดือนหรือเป็นปี. หรือถ้ามากไปกว่านั้นอีก ความคิดของชั่วโมงนี้ กับชั่วโมงหลังก็ขัดกันเสียแล้ว จนกระทั่งนาทีนี้กับนาทีหลัง ความคิดก็ขัดกันเสียแล้ว

เพราะสิ่งแวดล้อมต่างๆนานา แวดล้อมเข้ามาจากภายนอก ทำให้สติปัญญาของเขาตั้งตัวไม่ติด มีลักษณะโอนเอนหวั่นไหวอยู่เสมอ โดยอำนาจความรู้สึกที่เป็น “ตัวกู-ของกู”

ที่เพ่งเล็งอยู่แต่ประโยชน์ หรือความเอร็ดอร่อยที่มันหวังจะได้ โดยเฉพาะที่ตรงกับความต้องการของมันอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฏเกณฑ์ของความผิดความถูก เป็นต้นว่ามีอยู่อย่างไร หรือแม้ว่ามีอยู่อย่างไรก็เปลี่ยนไปตามความต้องการของ “ตัวกู-ของกู”อยู่เสมอ…”

จากหนังสือ “ตัวกู-ของกู” (หน้า 113-114)
พระอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

ความต่างของผู้สิ้นกิเลสตัณหา – พุทธทาสภิกขุ

คู่มือมนุษย์ - ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

“…ขอกระโดดข้ามไปกล่าวถึงพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีกิเลสตัณหา แต่ท่านก็ยังทำอะไรๆได้ ยังเป็นอะไรๆได้

แม้ว่าคนธรรมดาทั่วไป มองแล้วจะรู้สึกว่าท่านก็ทำอะไร หรือเป็นอะไร. ท่านก็ยังทำงานมาก ไม่น้อยกว่าพวกเราซึ่งยังมีกิเลสตัณหา. แต่ท่านทำด้วยอำนาจของอะไร เหมือนกับพวเราที่ทำด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อยากได้เป็นนั่นเป็นนี่หรือไม่

คำตอบที่ถูกต้องที่สุดนั้นคือ ท่านเหล่านั้นทำด้วยอำนาจของปัญญา คือความรู้ที่แจ่มแจ้งถึงที่สุด ว่าอะไรเป็นอะไร.

การกระทำของท่านไม่มีตัณหาเป็นมูล แต่มีปัญญาเป็นมูล เพราะฉะนั้นจึงผิดแผกแตกต่างจากพวกเรา ซึ่งอะไรๆก็กระทำด้วยตัณหาอย่างตรงกันข้ามทีเดียว.

ผิดแผกกันตรงที่ว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้น พวกเราเป็นทุกข์กันตลอดเวลา ส่วนท่านเหล่านั้นไม่มีความทุกข์เลย. ท่านเหล่านั้นไม่อยากได้อะไร ไม่อยากเอาอะไร

ผลนั้นก็ไปได้กับคนอื่น แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น, เป็นความพ้นทุกข์ของคนทั้งหลายเหล่าอื่น ด้วยความเมตตาของท่านดังนี้เป็นต้น…”

จากหนังสือ “คู่มือมนุษย์” (หน้า 48-49)
พระอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

หนังสือที่ได้รับความนิยมจากชาวพุทธจำนวนมาก มีการจัดพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษาด้วยกัน อาทิ สิงคโปร์ อเมริกา จีน และอีกหลากหลายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่ได้มีการจัดพิมพ์ออกมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

ทุกข์เกิดต่อเมื่อมีอุปทาน – พระอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ

“…ความทุกข์เกิดต่อเมื่อมีอุปทาน เมื่อมีอุปทานจึงจะเป็นตัวทุกข์ที่เป็นตัณหา ถ้าไม่ถึงนี่ยังไม่ใช่ตัวความทุกข์ที่แท้จริง ขอให้เข้าใจว่าความรู้สึกเจ็บปวด ถ้ายังไม่มีอุปทานไม่ใช่ความทุกข์ที่แท้จริง เราถูกกระทำให้เจ็บปวด เพราะมันเป็นเพียงการกระทำ เจ็บที่ฟันตามธรรมชาติก็เป็นเพียงความรู้สึกเจ็บปวดที่ฟัน ต่อมื่อใดอุปทานมีขึ้นก็เป็นเจ็บปวดของกู กูเจ็บปวด กูจะตาย

ความทุกข์อันนี้ที่เล็กนิดเดียวจะขยายออกเป็นความทุกข์มหาศาล ความทุกข์ที่รู้สึกตามธรรมชาติของระบประสาทไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอามาเป็นตัวกูของกูเป็นความทุกข์มหาศาล เป็นบ้าแล้ว ตายเพราะความกลัวบ้าง ความทุกข์ที่แท้จริงมาจากอุปทาน…”

เนื้อหาข้อความจากหนังสือ

“อริยสัจสำหรับคนสมัยใหม่”
(หน้า 69-70)

พระอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ

อริยสัจสำหรับคนสมัยใหม่

สัญญา อุปทาน ทุกข์ในขันธ์5 – หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ

อริยสัจสำหรับคนสมัยใหม่

“…ขอให้พยามรู้จักสัญญาไว้
ในความหมายของคำว่า อุปทาน (attachment)
มันมีความหมายคล้ายๆกัน

สัญญาว่าสวย หรือไม่สวย
น่ารัก หรือไม่น่ารัก
หรือไม่แน่ว่าน่ารัก หรือไม่น่ารัก
แล้วมันก็สัญญาว่าพอใจ หรือไม่พอใจ
เป็นสุข เป็นทุกข์

สัญญาว่าผู้หญิงบ้าง ผู้ชายบ้าง
สัญญาว่าสามีของเรา ภรรยาของเรา
ลูกหลานของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา
เกียรติยศชื่อเสียงของเรา
นี่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าสัญญา

แม้แต่สัญญาว่านี้เป็นแผ่นดิน นี้แผ่นฟ้า
นี้อันนั้นอันนี้ก็เป็นสัญญาที่มีมาตามลำดับๆ
กว้างขวางมากแหละสัญญา

แล้วมันก็โง่ทั้งนั้นแหละ
คือมันไม่ควรไปสัญญาว่าอย่างนี้
แล้วมันก็ไปสัญญาว่าอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นข้าศึก
คือไม่ได้ตามที่สัญญาตามที่มั่นหมาย
มันก็กัดเอาๆ นี้สัญญาก็เป็นความบ้า
หรือเป็นความทุกข์ในความหมายที่ ๓ ของขันธ์ทั้ง ๕ …”

เนื้อหาข้อความจากหนังสือ

“อริยสัจสำหรับคนสมัยใหม่” (หน้า 43-44)

ของพระอาจารย์ พุทธทาส อินทปัญโญ

คลังภาพ

ศัตรูของเรา คนที่เราไม่ชอบ – ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ

“…คนที่เป็นศัตรูของเราเราไม่ชอบ เพียงแต่เราได้ยินชื่อของเขาไม่ได้เผชิญหน้ากัน

เพียงแต่ได้ยินชื่อของเขา มีใครออกชื่อของเขาให้เราได้ยิน หรือเพียงแต่เราเห็นชื่อของเขาในหน้าหนังสือพิมพ์

เราก็มีความทุกข์ ในความหมายว่าเราเกลียดเราโกรธ เป็นความทุกข์ที่ทรมานใจเรา มันมีความหมายแห่งตัวตน เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ไม่ใช่ว่าตัวแท้ๆ มันจะเป็นทุกข์ ตัวแท้ๆ มีเพียงลักษณะแห่งความทุกข์ ไม่ได้เกี่ยวกับอะไร

ถ้ามีความหมายว่าเรา ว่าของเรา เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมันก็เป็นทุกข์แก่ตัวเรา แก่ผู้มีความรู้สึกว่าเรา ว่าของเรา ศัตรูของเรา คนรักของเรา หรือสิ่งที่เราต้องการ…”

“…รูปขันธ์ล้วนๆ มันไม่เที่ยงมันเปลี่ยนแปลงไปมันก็เป็นเรื่องของรูปขันธ์

จะเอารูปขันธ์เป็นตัวกู ตัวกูเป็นรูปขันธ์ ร่างกายนี้เป็นตัวกู ทำอะไรได้

มันก็มีความหมายลึกซึ้งขึ้นไปถึงอุปทาน มันก็จะต้องมีความทุกข์ เพราะถือเอารูปขันธ์เป็นของเราหรือตัวเราก็ตามเถอะ ตัวเราก็ได้ ของเราก็ได้ เป็นอุปทานพอๆกันแหละ

แล้วมันก็มีความทุกข์เพราะอุปทานนั้น…”

เนื้อหาข้อความจากหนังสือ

“อริยสัจสำหรับคนสมัยใหม่”
(หน้า 58 กับ 60)

พระอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ

อริยสัจสำหรับคนสมัยใหม่