ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาทั้งปวงผู้ยิ่งใหญ่

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
        ครั้งหนึ่งเคยมีบาทหลวงมากราบบังคมทูลขอให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชหันมานับถือคริสต์ศาสนา สมเด็จพระนารายณ์ถามว่า “ทำไมจึงตัองนับถือศาสนาเดียวกัน” บาทหลวงตอบว่า “เพื่อจะได้ร่วมทางไปสวรรค์ ณ จุดหมายปลายทางเดียวกัน”
        สมเด็จพระนารายณ์จึงรับสั่งว่า “การที่พระผู้เป็นเจ้าของท่าน สร้างดอกไม้ให้มีหลายสี ก็ให้เห็นถึงน้ำพระทัยว่าต้องการให้มีความหลากหลาย ไม่อย่างนั้นก็คงทรงบันดาลให้ดอกไม้ทั้งหมดเป็นสีเดียว ในเมื่อทรงมหิทธานุภาพขนาดนั้นทำไมจะทำไม่ได้ แต่เมื่อทรงบันดาลให้ดอกไม้มีหลายสีหลายกลิ่น เห็นไหมว่าเมื่อนำดอกไม้ทั้งหมดมามัดร้อยกันแล้วปักในแจกันขึ้นแท่นบูชาพระผู้เป็นเจ้านั้น ทรงพอพระทัย หรือท่านเห็นว่าไม่พอพระทัย?”
        บาทหลวงก็ยังคะยั้นคะยอให้นับถือเถิด สมเด็จพระนารายณ์จึงโยนไพ่ใบสุดท้าย “ในเมื่อพระผู้เป็นเจ้าของท่านนั้นทรงมหิทธานุภาพยิ่งใหญ่ บันดาลทุกอย่าง แม้กระทั่งสร้างโลกก็ยังได้ ขอให้ท่านไว้วางใจเถิดว่าถ้าพระองค์ปรารถนาให้เรานับถือศาสนาเดียวกับท่านคือนับถือพระองค์ ไม่ให้นับถือศาสนาอื่นแล้ว สุดแต่น้ำพระทัยจะบันดาลเถิด ท่านอย่ามาบันดาลเลย” บาทหลวงจึงไม่พูดเรื่องนี้อีกเลยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
        อย่างนี้จึงทำให้เราอยู่กันได้โดยไม่มีปัญหา คำว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ท่านจะไม่เคยคำนี้ในรัฐธรรมนูญประเทศใดในโลกอีกเลย นอกจากประเทศไทย คำว่า อัครศาสนูปถัมภก ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาทั้งปวงผู้ยิ่งใหญ่
เรียบเรียงจากศาสตราจารย์กิตติคุณ
ดร.วิษณุ เครืองาม
ในการบรรยายการดำเนินการนโยบายการส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ
https://youtu.be/2N3dogBVfU4
https://youtu.be/fIJvLgkX7GA

ตำนานพลังแห่งความอ่อนโยนและมิตรไมตรี

มีตำนานเก่าแก่ เรื่องราวเกี่ยวกับพระอาทิตย์และสายลม…
พวกเขาเถียงกันว่าใครมีพลังอำนาจมากกว่ากัน สายลมบอกว่า “เห็นชายหนุ่มที่ใส่เสื้อคลุมคนนั้นไหม คอยดูให้ดีนะ ด้วยพลังอำนาจของเรา เราสามารถทำให้เขาถอดเสื้อคลุมได้”
พระอาทิตย์ได้ยินดังนั้นจึงเลี่ยงไปอยู่หลังก้อนเมฆเพื่อให้สายลมได้ทำในสิ่งที่ต้องการอย่างเต็มที่
สายลมเริ่มพัด แล้วพัดอย่างแรงกล้า แรงขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มกลายเป็นพายุใหญ่ ชายหนุ่มคนนั้นก้มตัวลงดึงเสื้อคลุมมากอดรัดแน่นขึ้นเพื่อต้านลมเพื่อพยุงตัวให้ยืนอยู่ได้ ยิ่งสายลมพัดแรงขึ้น ชายหนุ่มยิ่งกอดรัดเสื้อคลุมที่เขาสวมอยู่แน่นยิ่งขึ้น จนในที่สุดสายลมรู้สึกว่าเปล่าประโยชน์ จึงค่อยๆ หยุดพัด แล้วถอยออกมา
พระอาทิตย์จึงออกมาจากก้อนเมฆ ยิ้มให้กับชายหนุ่มอย่างอ่อนโยน แล้วค่อยๆ แผดแสง…
ชายหนุ่มยกมือขึ้นซับเหงื่อที่หน้าผาก เงยหน้าขึ้นมองพระอาทิตย์ แล้วจึงถอดเสื้อคลุมออก
พระอาทิตย์ยิ้มอย่างอ่อนโยนให้กับชายหนุ่มและสายลม แล้วกล่าวว่า..
“ด้วยพลังอำนาจของเรา หากเราแผดแสงอย่างแรงกล้า เราอาจทำเขาตายไปเสียก่อน แต่ความอ่อนโยนและความมีมิตรไมตรีนั้นมีพลังอำนาจมากกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะเราไม่ได้ต้องการทำร้ายอะไรใคร เราเพียงแต่ปรารถนาจะให้ในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาด้วยความเป็นมิตรเพียงเท่านั้น นั่นคือทั้งหมดที่เราทำ”
20140816_141300-9

เรียบเรียงจากนิทานเก่าแก่อีสป

การให้อภัยที่ยิ่งใหญ่

เด็กหนุ่มอายุพึ่งจะ 14 ปี ได้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ เด็กหนุ่มผมสีน้ำตาลหยิกสกปรกและยุ่งเหยิง อีกทั้งด้วยใบหน้าที่ซูบผอมเหมือนเด็กขี้โรค ได้ก่อเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด เขาได้ลั่นไกสังหารเด็กอีกคนหนึ่งเข้าที่กลางทรวงอก จนล้มลงต่อหน้า
หลังสิ้นเสียงปืน ด้วยมือที่สั่นเทา เขารู้สึกมึนงง หูของเขายังคงอื้ออึง ด้วยเสียงปืนที่พึ่งลั่นออกไปและเสียงเพื่อนที่ร้องตะโกนเชียรอยู่รอบข้าง
สองมือที่ยังสั่นที่ยังประคองปืนอยู่ เขาก้มหน้ามองเด็กชายอีกคนหนึ่งที่ล้มลงนอนจมกองเลือด
หัวใจเขาเต้นระรัวด้วยความเจ็บปวด รู้สึกเหมือนอยากจะร้องไห้
นี่เป็นครั้งแรกที่เขาฆ่าคน
หลังจากเหตุการณ์นี้ เขาหนีหัวซุกหัวซุน มีชีวิตอยู่กับความหวาดผวายิ่งกว่าทุกครั้งที่เคยเป็นมา ชีวิตการเป็นเด็กข้างถนนของเขาที่ต้องอยู่อย่างหิวโหยและหวาดกลัวเทียบไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ครั้งนี้ การฆ่าเด็กคนนั้นเพียงเพื่อให้เพื่อนๆ ในแก๊งยอมรับ แต่กลับสร้างผลร้ายแรงนัก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับชีวิตเขา และชีวิตของเขาจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกตลอดไป
ในที่สุดเขาถูกตำรวจจับได้
เขาถูกนำตัวขึ้นศาลดำเนินคดี
ในศาล เมื่อเด็กหนุ่มเงยหน้าขึ้นมอง เขาได้เห็นแววตาของความเจ็บปวด แววตาที่เหมือนมีน้ำตาเอ่อคลอ แต่กลับเป็นแววตาที่จ้องมองมาด้วยความเคียดแค้นอัดแน่น แววตาที่จ้องมองมาที่เขา แววตาของคนเป็นแม่ แม่ของเด็กชายคนที่เขาฆ่า
เขาทำอะไรไม่ได้นอกจากหลบตาและก้มหน้านิ่ง
แม่ของเด็กชายผู้เสียชีวิต เดินตรงเข้ามาหาเขา เขาไม่ได้เงยหน้าขึ้นมองแม่ของเด็กคนนั้น แต่ด้วยน้ำเสียงที่เย็นเยียบเธอพูดออกมา “ฉันจะฆ่าเธอ”
ในที่สุดเขาถูกตัดสินจำคุก
ในคุก ความที่เป็นเด็กข้างถนน เขาไม่มีพ่อแม่ เขาไม่มีญาติ เขาไม่มีเพื่อน ไม่มีใครที่ไหนอีก
แม่ของเด็กคนนั้น เป็นคนเดียวที่มาเยี่ยมเขา ตลอดเวลาจนกระทั่งพ้นโทษ
เพราะความที่เคยมีคดีติดตัว เมื่อแม่ของเด็กคนนั้นได้รู้ว่าเขาไม่สามารถหางานทำได้เลย แม่ของเด็กคนนั้นจึงหางานให้เขาทำ
เมื่อรู้ว่าเขาไม่มีบ้าน ไม่มีที่จะไป แม่ของเด็กคนนั้นจึงให้เขาได้เข้ามาอยู่อาศัยในบ้านด้วย
เขาได้ไปทำงาน ได้กลับมานอนในบ้าน ได้มีข้าวให้กิน ได้มีที่พักอาศัย
วันเวลาผ่านไป ชีวิตของเขาได้ดำเนินอยู่บนวิถีใหม่
เย็นวันหนึ่งแม่ของเด็กคนนั้นเรียกเขาเข้ามาในห้อง เธอและเขานั่งอยู่บนโซฟา เธอเอ่ยขึ้นว่า “เธอจำได้ไหม ตอนอยู่ในศาล ฉันบอกเธอว่า ฉันจะฆ่าเธอ”
“จำได้ครับ”
แม่ของเด็กคนนั้นมองหน้าเขาและพูดต่อว่า “ฉันไม่ต้องการเห็นคนที่ฆ่าลูกฉันมีชีวิตอยู่ ฉันไปเยี่ยมเธอในคุก หางานให้เธอทำ ให้เธอได้มีบ้านอยู่อาศัยที่ปลอดภัย”
เด็กหนุ่มมองหน้าแม่ของเด็กคนนั้น ผู้หญิงที่ช่วยเหลือเขาให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ทุกอย่าง เขาไม่เข้าใจว่าเธอหมายถึงอะไร ทำไมเธอถึงเอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเธอต้องการฆ่าเขาในวันนี้อย่างงั้นหรือ?
แม่ของเด็กคนนั้นมองลอยออกไป เหมือนพูดกับสายลม “ตอนนี้เจ้าเด็กวัยรุ่นคนนั้นได้ตายไปแล้ว”
เธอสูดหายใจลึกและหันกลับมา เด็กหนุ่มมองเห็นน้ำตาที่เอ่อคลอของผู้หญิงตรงหน้า
เขารู้สึกผิด เจ็บปวด และรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของผู้หญิงคนนี้
“ตอนนี้เธอคือคนใหม่แล้ว” เธอพูดต่อไป
“ฉันคิดว่าถ้าเธออยากอยู่ที่นี่กับฉัน บางทีฉันอยากรับเธอเป็นลูก เธอจะเป็นลูกให้ฉันได้ไหม”
เด็กหนุ่มยกมือขึ้นปาดน้ำตา เขาโผเข้ากอดเธอ ทั้งเธอและเขาร้องไห้
เด็กข้างถนนที่ไม่เคยมีพ่อแม่ ไม่เคยมีบ้าน ไม่เคยมีสิ่งใด
วันนี้เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่แล้ว
จากการให้อภัยที่ยิ่งใหญ่
จากผู้หญิงคนนี้ คนที่เป็นแม่คนหนึ่ง
(จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอเมริกา)

จงเป็นผู้กำหนดทิศการเดินเรือ บนกระแสลมแห่งโชคชะตา

ความรู้เสริมจากทางโลก ที่จะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม
จากศาสตร์สาขาวิชาอื่น หรือจากศาสนาอื่นๆ ข้อคิด คำคม วิถีการใช้ชีวิต และแรงบันดาลใจ
นาวาหนึ่ง ล่องไป บูรพา
อีกนาวา ล่องไป ทิศประจิม
กางใบเรือ ล่องลม ได้ทุกทิศ
แต่มิใช่ ปล่อยล่อย ตามกระแส

กระแสลม เหมือนดั่ง โชคชะตา
พัดนำพา การเดินทาง ของชีวิต
แต่หนทาง เดินเรือ เราลิขิต
ลมสงบ หรือพายุ พัดทุกทิศ

กางใบเรือ ดูทิศทาง เราลิขิต

สู่จุดหมาย ของชีวิต ที่เราตั้งใจ

One ship drives east and another drives west
With the selfsame winds that blow.
‘Tis the set of the sails,
And Not the gales,
That tell us the way to go.

Like the winds of the sea are the ways of fate;
As we voyage along through life,
‘Tis the set of a soul
That decides its goal,
And not the calm or the strife.

จากบทกวี “The Winds of Fate”
Ella Wheeler Wilcox

อ่านการ์ตูนธรรมะ เหตุสมควรทุกข์ไม่มีในโลก

วันนี้ได้มีโอกาสได้จับหนังสือเล่มนี้
ทำออกมาดีมากเลย น่าอ่านค่ะ

“สงสัยมั้ย ? ธรรมะ” ฉบับ เหตุสมควรทุกข์ไม่มีในโลก

นี้หน้าปกค่ะ

dhamma-no-need-for-suffering-1

นี้สารบัญ มีเรื่องราวหลากหลาย น่าสนใจมาก

dhamma-no-need-for-suffering-2

นี้เป็นปกหลังของเล่มนะคะ จะมีรูปการ์ตูนใบหน้าคนต่างอารมณ์

dhamma-no-need-for-suffering-12

เนื้อหาข้างในเล่มนี้ก็คือเรื่องราว
ของตัวการ์ตูนแต่ละคนในปกหลังนี้นั่นเองค่ะ

หนังสือ “สงสัยมั้ย ? ธรรมะ” สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
หรือซื้อจากเว็บไซต์ สำนักพิมพ์ A Thing Book ได้เลยค่ะ
ที่เว็บนั้นมีหนังสือการ์ตูนธรรมะดีๆ อีกหลายเล่มเลย
ท่านใดสนใจซื้อแบบเยอะๆ เพื่อการแจกจ่ายให้กับผู้อื่น เขามีแบบลดราคาเยอะมากด้วยนะ
อ่านแล้วดีมากๆ มีตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือให้ได้ลองอ่านด้วยนะคะ

อย่างเล่ม “เหตุสมควรทุกข์ไม่มีในโลก” เล่มนี้
พอเข้าไปที่เว็บไซต์ สำนักพิมพ์ A Thing Book แล้ว
ตัวอย่างเนื้อหาเล่มนี้จะอยู่ในส่วนของหนังสือธรรมทานนะคะ

(^____^) ลองดูนะคะ http://www.athingbook.com/

พึงระวัง… ไม่พึงปรามาสผู้อื่น

ไม่พึงปรามาสคนอื่นที่เขาเลือกจะยิ้มให้แล้วไม่อวดอ้าง คิดเอาว่าเขาคงภาวนาสู้เราไม่ได้

ไม่พึงปรามาสกรรมฐานอื่นว่าไม่ถูกใช้ไม่ได้ เพียงเพราะครูบาอาจารย์เราไม่ได้สอนแบบนั้น

แล้วสำคัญมาก ไม่พึงปรามาสครูบาอาจารย์ท่านอื่น เพียงเพราะท่านเลือกจะไม่แสดงฤทธิ์ให้เห็นและไม่ได้อ้างให้เราฟัง

ยิ่งไม่พึงปรามาสตัวเองว่าทำไม่ได้ เพียงเพราะแค่เคยทำไม่ได้เป็นบางครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะทำไม่ได้ตลอดกาลอะไรแบบนั้น อย่าลืมว่าตอนนี้กับตอนนั้น เหตุปัจจัยมันไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นค่อยๆ ปรับ เราก็ทำได้อยู่แล้ว
ไม่พึงตัดสินอะไรเพียงผิวเผิน ด้วยภูมิธรรมเราเลยไฉนบอกได้ ไม่ถูกจริตเราไม่ดีกับจริตเรา แต่มันอาจดีสำหรับจริตเขาก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยไป

พึงระวังมโนกรรมเพราะมันก็มีผล เวลาเราคิดไม่ดีบางทีคนอื่นเขาก็รับรู้ไว้ แล้วบางทีความคิดเรามันออกมาทางกายวาจา ยิ่งบางครั้งออกมาเป็นตัวหนังสือส่งต่อกันไป

คิดดีพูดดี ปรารถนาดีกับคนอื่น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน มันเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงทำต่อกันใช่ไหม

สังสารวัฏที่เต็มไปด้วยความหลง สัตว์โลกที่หลงวนก็น่าสงสารมากเพียงพอแล้วอย่างไร

เรายิ่งต้องรอบคอบจะทำอะไร พึงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทเราและไม่ประมาทเขาเทอญ

ปฏิบัติธรรมแบบไหนถึงจะถูก เดินเส้นทางไหนถึงจะดี

หากอยากศึกษาหรือเลือกปฏิบัติแนวทางครูบาอาจารย์ท่านใด
คำแนะนำเราคือ อ่านหนังสือเล่มที่ครูบาอาจารย์ท่านนั้นเป็นผู้เขียนเองค่ะ

จริงๆถ้ามีผู้อื่นเขียนหรือลูกศิษย์เรียบเรียงไว้ให้ก็ดีอยู่เหมือนกัน
แต่ถ้าได้ครูบาอาจารย์ท่านนั้นเป็นผู้เขียนเองจะดีมากๆเลยค่ะ
เพราะเล่มที่ท่านเขียนเองจะผ่านสายตาท่านตรวจทานซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบ
และมีการจัดระเบียบเนื้อหาเอาไว้อย่างดี
อธิบายชัดเจนครอบคลุม ตามแนวทางของท่านผู้นั้นตรงๆ
ย้ำว่าคำอธิบายจะเป็นไปตามแนว(เฉพาะ)ทางของท่านผู้นั้นนะคะ
ซึ่งอาจจะแตกต่างจากคำสอนในครูบาอาจารย์ท่านอื่น
และในระดับลูกศิษย์ลงมาอาจจะอธิบายแตกต่างออกไปได้อีก
เพราะคำอธิบายกับวิธีการสอนอาจไม่เหมือนกันหรือแตกต่างกันบ้าง
(เราเชื่อว่าครูบาอาจารย์แต่ละท่าน และลูกศิษย์ของแต่ละท่านก็มีแนวทางปฏิบัติที่งดงาม
เปี่ยมไปด้วยเจตนาที่ดี และจิตใจที่เป็นกุศล แต่ทั้งนี้เราเพียงแต่บันทึกไว้ให้
เผื่อท่านใดเจอปัญหาแบบเราจะได้หาทางออกให้กับตัวเค้าเองได้)

อยากศึกษาแนวทางใด ให้ศึกษาเข้าไปตรงที่ต้นทางเลยค่ะ
หรือถ้าต้นทางไม่ได้ก็พยามรับมาจากที่ที่ใกล้ต้นทางมากที่สุด
แนวทางปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์แต่ละท่านก็อาจตรงจริตกับบุคคลที่แตกต่างกันไป
อาจใช้ได้ผลกับคนหนึ่ง แต่อาจไม่ได้ผลกับอีกบุคคลหนึ่ง
อาจไม่ได้ผลกับเรา แต่อาจได้ผลดีกับคนอื่น
หากตรงจริตกับท่านใด การปฏิบัติธรรมของท่านนั้นก็จะไปต่อได้ และก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

แต่หากท่านอยากทราบจริงๆด้วยตัวเองว่า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสสอนว่าอย่างไร
การปฏิบัติธรรมนั้นปฏิบัติอย่างไร ท่านได้อธิบายและสอนไว้ว่าอย่างไร
เราแนะนำอ่านพระไตรปิฏก+อรรถกถา ด้วยตัวเองค่ะ
เราขอแนะนำ อ่านพระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เพราะเราอ่านฉบับนี้แล้วรู้สึกว่าภาษาอธิบายเข้าใจได้ง่าย
และใช้ถ้อยคำได้งดงามมาก บางช่วงบางบทอ่านแล้วรู้สึกซาบซ่านขึ้นมาเลย

การอ่านพระไตรปิฏกไปเรื่อยๆ ทีละหน้าๆ
ทำให้รู้สึกเหมือน ได้ทำความรู้จักกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ได้รับรู้ว่าท่านมีพระจริยวัตรที่งดงามขนาดไหน
ในบทสวดมนต์ที่แปลว่าท่านเป็นผู้รู้แจ้งโลกนั้นหมายความว่าอย่างไร

– – – – – – –
พระไตรปิฎกจะแบ่งออกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ
พระวินัยปิฎก – ประมวลระเบียบข้อบังคับสำหรับภิกษุและภิกษุณี
พระสุตตันตปิฎก – ประมวลพระธรรมเทศนา ประวัติและเรื่องราวต่างๆ
พระอภิธรรมปิฎก – ประมวลหลักธรรม
– – – – – – –

เราแนะนำเริ่มอ่านจากพระสุตตันตปิฎกค่ะ
เพราะจะบรรยาย เป็นการเล่าเรื่องราว
เป็นพระธรรมเทศนาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตอนนั้นเราอ่านพระสุตตันตปิฎกที่เป็นเล่มแรกคือ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
แค่พระสูตรแรก “พรหมชาลสูตร” ก็รู้สึกประทับใจมากเลย
ได้อ่านคำสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนไว้ในเรื่องนี้
รู้สึกเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เคยสลับสับสนกับคำสอนที่มากมายหลากหลาย
เจอพระสูตรนี้พระสูตรเดียว สิ่งต่างๆในจิตใจเราผ่อนคลายลงมา
รู้สึกมองเห็นเส้นทางที่กำลังจะเดินชัดเจนขึ้น

ในพระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เราแนะนำอ่านตรงส่วนเกริ่นนำก่อนเริ่มเนื้อหาด้วยจะดีมากเลย
ตรงนั้นจะอธิบายไว้ให้เบื้องต้นก่อน
ว่าพระสูตรนี้กล่าวถึงเรื่องอะไรมีนัยยะสำคัญอย่างไร

พออ่านพระสูตรแล้วตรงไหนคำไหนอยากได้คำอธิบายเพิ่ม
ก็เปิดอ่านอรรถกถาประกอบเป็นจุดๆเป็นคำๆ
จะทำให้เข้าใจจุดนั้นได้ชัดเจนมากขึ้น ขยายความเข้าใจออกมา
อรรถกถาท่านอธิบายประกอบไว้ดีมากด้วยค่ะ

รู้สึกโชคดีมากที่มีพระไตรปิฏกอยู่ในปัจจุบัน
ได้ทำความรู้จักกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสอนของท่าน
ได้รับรู้ถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น
เป็นอะไรที่สิ่งที่ยอดเยี่ยมมากๆค่ะ

ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป

P_14-3-6-3

หมายเหตุ:
          พระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ ปัจจุบันวันที่เรากำลังโพสตอนนี้ ยังหาแบบ pdf ดาวโหลดไม่ได้นะคะ แนะนำอ่านจากห้องสมุดเลยค่ะ เป็นเล่มๆ อ่านผ่านกระดาษ สบายตาดีด้วย