สังสาระ ที่คุมขังสัตว์ให้เวียนว่ายในกองทุกข์

ผู้แต่ง ดังตฤณ
Road-to-Buddha-3-3-750px
ทอดตามองลงต่ำ เห็นปลาสองสามตัวกำลังพยายามพลุ่งขึ้นฮุบเศษซากอะไรบางอย่างบนผิวน้ำที่พอเป็นอาหารของมันได้ ถ้าเป็นเวลาปกติฉันคงมองผ่านอย่างไม่รู้สึกอะไร แต่ยามนี้ที่ใจกำลังคำนึงว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ทำให้มองปลาเหล่านั้นด้วยความสงสาร
ถ้าฉันหิวฉันยังเอาเงินไปแลกซื้อข้าวอิ่มอร่อยได้ทุกมื้อ แต่ถ้าปลาหิวแล้วไม่มีใครเอาอะไรไปให้ พวกมันก็ต้องกระเสือกกระสนหาสัตว์เล็กหรือซากขยะที่เลือกแล้วเห็นว่าพอประทังชีวิตได้
ชีวิตสัตว์จะมีอะไรมากไปกว่าสัญชาตญาณหาอาหาร กินยังไม่อิ่มก็ต้องหาอีก ทั้งชีวิตเหมือนมีอยู่เพื่อหาของใส่ท้องโดยแท้ หากพวกมันไม่ถูกจับมาทอดให้คนกิน ก็เหมือนเป็นชีวิตที่หาค่าไม่ได้เอาเสียเลย
ฉันส่งตามองนิ่ง ๆ แล้วเกิดประสบการณ์ภายในที่คล้ายอุปาทาน คือรู้สึกสัมผัสทุกข์ภายนอกตัวเองด้วยจิตอย่างแจ่มชัด ฉันเห็นทุกข์ขณะปลาทะลึ่งขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความหิวโหย เห็นทุกข์ขณะของการอ้าปากงับ เห็นทุกข์ขณะปลาจมลงน้ำด้วยอาการกระวนกระวายไม่อิ่มไม่พอ ฉันเลิกคิ้วนิดหนึ่งด้วยความพิศวงใจ ถามตนเองว่านี่เป็นสัมผัสที่คิดขึ้นเองผ่านสายตา หรือว่าเกิดจากการมีจิตสัมผัสอย่างแท้จริงกันแน่?
ในทุกหมวดของสติปัฏฐาน ๔ นั้น พระพุทธเจ้าให้ดูกาย เวทนา สภาวจิต และสภาพธรรมต่าง ๆ ทั้งภายในตัวเราและของคนอื่นภายนอก เห็นโดยความไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ฉันดูกายตัวเองและเวทนาของตัวเองมาพักหนึ่ง แต่ไม่เคยทดลองส่งจิตออกไปสัมผัสคนอื่นหรือสัตว์อื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่ว่าไม่อยากหรือกลัวจะไปหลงติดฤทธิ์ติดเดชอะไร แต่สารภาพตามตรงว่าไม่ทราบว่าเขาทำกันท่าไหนมากกว่า
ชั่วโมงที่ผ่านมาเรียกว่าสติของฉันมีฐานที่ตั้งเป็นเวทนา ทั้งสุขมากและทุกข์มากปรากฏชัดเจนแจ่มแจ๋วราวกับรูปทรงที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จิตมีความรู้ชัดถึงสภาพหรือลักษณะของสุขและทุกข์ตามจริงกระทั่งเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นอย่างนั้น ๆ เช่นสุขคือสภาพที่สบาย ผ่อนคลาย เยือกเย็นทุกข์คือสภาพที่บีบคั้น อึดอัด ร้อนรน เป็นการเห็นของจริงในตน เป็นการประจักษ์แจ้งว่าทั้งสุขและทุกข์ต่างก็อิงอาศัยอยู่ในกายนี้ร่วมกัน
นาทีปัจจุบัน เมื่อฉันทอดตามองเหล่าปลาหิว ฉันไม่ได้คาดหมายอันใดไว้ก่อน จึงเป็นการมองด้วยจิตที่ว่างเปล่าจากอุปาทาน ไม่มีความอยากรู้อยากเห็นหรือตั้งใจดูทุกขเวทนาของสัตว์อื่นทั้งสิ้น แต่สายตาที่มองอาการกระวนกระวายของสัตว์นั้น ก็ทำให้ทราบว่าต้นเหตุอาการกระวนกระวายคือจิตที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ห้วงทรมานอันยืดเยื้อ จิตฉันหยั่งลงไปในทุกข์ของมันขนาดเปรียบเทียบได้ว่ามนุษย์เราหิวจนแสบท้องแล้วอาจทำใจลืม ๆ ได้เมื่อหันไปสนใจสิ่งอื่น แต่ปลาหิวแล้วจะกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขไปทั้งตัว จิตที่รู้สึกโหยหาอาหารนั้นหาความสงบไม่ได้เลย มีแต่คิดพุ่งไปเอาอะไรที่พอกินได้มาใส่ท้องตลอดเวลา
ฉันอาจเห็นปลาที่อิ่มหมีพีมันในตู้ปลาในบ้านจนชิน หรือแม้ไปตามสวนสาธารณะแล้วซื้อขนมปังโยนแจกปลาก็เห็นมันดิ้นรนทึ้งแย่งเศษอาหารกันจ้าละหวั่นด้วยความรู้สึกธรรมดา ๆ ต่อเมื่อมีจิตสัมผัสทุกข์ซึ่งมีเนื้อหาเป็นรสเดียวกัน มีธรรมชาติทุกข์อันเนื่องด้วยกายเหมือน ๆ กัน ฉันถึงกับตกตะลึง และรับรู้เป็นวาระแรกว่าโลกแห่งการมีชีวิตน่ากลัวถึงเพียงนี้
ฉันเงยหน้าขึ้น ทอดมองไปตลอดแผ่นน้ำที่เรียบสงบผาสุกในสายตาของมนุษย์ กำหนดนึกถึงทุกข์ของปลาที่ยังติดอยู่ในใจ แล้วน้อมตรวจลงไปเบื้องใต้ผิวน้ำว่าทุกข์แบบเดียวกันนั้นมีประมาณสักเท่าใด ก็ต้องบังเกิดอาการขนลุกซ่านเกรียว เพราะคล้ายมีคลื่นทุกข์สาหัสจากความหิวโหยส่งออกมาจากทั่วทุกหย่อมน้ำ รวมกันเป็นปริมาณทุกข์ร้อนมหาศาล
ณ เวลานี้จิตฉันยังไม่เห็นชัดขนาดระบุจำนวน ความรู้สึกบอกตัวเองเพียงว่าอาหารปริมาณมากแค่ไหนก็เลี้ยงไม่พอ กำจัดทุกข์ใหญ่ของเหล่าสัตว์ในลำน้ำคลองสายนี้แห่งเดียวไม่ได้เลย โลกปรากฏเป็นของน่ากลัวไปในพริบตา ทั้งที่เมื่อครู่คลองสายนี้ยังดูสงบสุขเปี่ยมสันติน่าพิสมัยยิ่งกว่าที่ไหน ๆ โลกสันนิวาสอันแท้จริงอาจหลอกตาสัตว์บางประเภทให้หลงเพลินติดใจ แต่ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่คุมขังให้สัตว์อีกประเภทดิ้นพล่านไปจนกว่าจะถึงอายุขัย
สัมผัสนั้นไม่ทำให้ฉันคิดว่าเป็นอุปาทาน เพราะชัดราวกับหูได้ยินสัญญาณเสียงดัง ๆ เปล่งออกมาจากรอบทิศ แต่คงอธิบายให้ใครรับรู้ตามไม่ได้ ธรรมที่ปรากฏต่อใจเป็นเช่นนี้เอง รู้ได้ด้วยใจตน รู้ได้เฉพาะตน ส่งถ่ายให้ผู้อื่นรับรู้ตามไม่ได้ ถ้าพยายามพูด คนก็อาจหาว่าบ้าไปเอง คิดไปเองเท่านั้น
เหลือบตามองพื้นศาลา ลูกแมวผอมโซที่มีขนเพียงหรอมแหรมตัวหนึ่งเดินมาหาฉัน ดูมันตัวสั่นคล้ายคนชราท่าทางงก ๆ เงิ่น ๆ ด้วยสุขภาพย่ำแย่ เจ็บออด ๆ แอด ๆ มาตลอด มันไม่น่ารักเหมือนแมวบ้านที่ถูกประคบประหงมเลี้ยงดูด้วยนมและข้าวน้ำ ดวงตาด้าน ๆ ของมันเล็งมองฉันด้วยแวววอนขอ ปากของมันขยับร้องเมี้ยว ๆ เล็ก ๆ แบบไร้กำลังวังชา น่าแปลกที่แม้มันมีสภาพสมเพชเพียงใดก็ไม่อาจก่อให้เกิดใจสงสารสักเท่าไหร่
คงเป็นกรรมเก่าของมันส่งให้มาอยู่ในสภาพเช่นนี้กระมัง สภาพของมันคล้ายฟ้องให้ฉันรับรู้ด้วยตาเปล่าทำนอง ‘สมควรแล้วที่ต้องมาเป็นอย่างนี้’ อะไรบางอย่างในมัน จู่ ๆ ก็ทำให้ฉันนึกถึงคนใจร้ายที่มักก่อเวรด้วยการปอกลอก หรือหลอกลวงผู้อื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่พึ่งที่อาศัย
จิตฉันไม่นิ่งตั้งมั่นขนาดหมดความสงสัยว่าที่ ‘สัมผัส’ นั้นเป็นกรรมเก่าของแมวจริง ๆ หรือไม่ รู้แต่ว่าฉันไม่รู้สึกสงสารมันเลย วิบากกรรมของมันคงผลิต ‘กลิ่นเหม็น’ แปะไว้ คือเห็นแล้วเหม็นหน้า หรืออย่างเบาะ ๆ ก็สมน้ำหน้าทันทีโดยไม่ต้องทำความรู้จักเสียก่อน
หลังจากร้องขออาหารอยู่พักหนึ่ง พอแน่ใจว่าจะไม่ได้อะไรจากฉัน มันก็เดินกระต้วมกระเตี้ยมจากไปแบบไม่มีปากไม่มีเสียง ฉันมองตามอย่างไม่ตั้งใจนัก เห็นมันไปหยุดยืนมองน้ำครู่หนึ่ง แล้วเคลื่อนที่ต่อไปดม ๆ กองขยะเล็ก ๆ
ดู ๆ ท่าทางมันคงเผชิญชีวิตเปลี่ยวดายตามลำพังมาระยะหนึ่ง อาจนับแต่แรกเกิดทีเดียว วินาทีนั้นฉันเกิดประสบการณ์สัมผัสทุกข์ภายนอกขึ้นมาอีก กล่าวคือเมื่อไม่เห็นหน้าไร้สง่าราศีของมัน เห็นสภาพหัวเดียวกระเทียมลีบไปเรื่อย ๆ แล้ว ก็เข้าใจความรู้สึกหวาดกลัว เหงาหงอย และแสวงหาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของมันอย่างแจ่มชัด ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นที่มัน แต่มาปรากฏขึ้นที่ความรับรู้ของฉันด้วย ฉันแทบจะรู้เลยว่าอาการเพ่งมองอย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมายของมันนั้น ออกมาจากกระแสสำนึกภายในชนิดใด คล้ายกำลังกล้ำกลืนก้อนเศร้าชิ้นเดียวกันกับมันอยู่
พอสัมผัสชนิดเข้าถึงทุกข์ในแมวตัวนั้น ฉันจึงเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายน่าเวทนาเสมอกันหมด หลงทำชั่วด้วยความไม่รู้จนตัวชุ่มบาปเสมอกันหมด เวียนว่ายหลงวนอยู่ในภพภูมิอันวิจิตรด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าเกิดหนเดียวตายหนเดียวเสมอกันหมด
แทบไม่อาจกระเดือกน้ำลายลงคอ ราวกับเป็นคนอ่อนไหวขี้สงสาร เห็นสัตว์ตกทุกข์ได้ยากแล้วน้ำตาพานจะไหล ฉันรีบเดินไปยังร้านค้าที่ใกล้วัดที่สุด ซื้อขนมปังและอาหารบางอย่างที่คาดว่าแมวและปลาน่าจะกินได้ หอบกลับมาพะเรอเกวียน ต้องเดินหาลูกแมวตัวน้อยพักหนึ่งเพราะมันไม่ยืนอยู่ที่เดิมแล้ว
ฉันเจอมันไม่ห่างจากศาลาท่าน้ำเดิมนัก รีบคว้ามันมาลูบตัวปลอบอย่างไม่รังเกียจเนื้อตัวสกปรกของมันเอาข้าวของที่เตรียมมาเทลงจานกระดาษให้มันราวกับเป็นเจ้าเหมียวที่บ้าน ท่าทางมันดีใจออกหน้าออกตา ตะกรุมตะกรามกินใหญ่ ฉันปลื้มปีติจนสะอึก เพราะสัมผัสความดีใจเฉพาะหน้าของมันอย่างชัดเจน กับทั้งรู้ซึ้งด้วยว่าความดีใจนั้นจะเกิดขึ้นไม่นาน เดี๋ยวมันจะหิวอีก และฉันจะไม่สามารถตามไปช่วยให้มันหายหิวได้ตลอดไป
เอาขนมปังมาบิเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแจกปลาตรงท่าน้ำ ที่เมื่อครู่เห็นว่ามีแค่สองสามตัวนั้นผิดถนัด บัดนี้ มันแห่กันมาจากไหนไม่รู้เป็นฝูงใหญ่ เพียงโยนเศษขนมปังลงไปแค่สองสามชิ้นก็เห็นพวกมันดิ้นโครมครามแก่งแย่งกันราวกับเกิดกลียุค ขนมปังกองใหญ่ของฉันแก้หิวปลาโชคดีได้แค่ไม่กี่ตัว และเป็นการประทะประทังเพียงชั่ววูบชั่ววาบ ฉันสัมผัสถึงการหยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กน้อยที่มีให้พวกมันได้ในเวลาสั้นแสนสั้น ไม่มีปลาตัวไหนอิ่มเลย
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่งของตนจริง ๆ พวกมันไม่มีบุญคอยรักษา ไม่มีบุญคุ้มจากความหิวโหยอดโซ ไม่มีบุญปกป้องจากความหนาวร้อนในโลกนี้ เหมือนบ้านไม่มีรั้ว ภยันตรายหรือวิบากชั่วไหน ๆ ก็สามารถเข้ามาจู่โจมเล่นงานได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องฝ่าอุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น แถมยังต้องระหกระเหเร่ร่อนไปเกิดตายในสภาพบุญน้อยไปอีกนานแค่ไหนไม่อาจทราบ
สูดลมหายใจลึก พวกหมาแมวในวัดคงได้กลิ่นคนใจดี ชักแห่กันเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังขออาหารฉันบ้าง แต่ในมือฉันว่างวายเสียแล้ว ไม่เหลืออะไรให้พวกมันอีกเลย ได้แต่ถอนใจเฮือกใหญ่ เดินออกจากวัดด้วยความเศร้าสลด มนุษย์และสัตว์เกิดมาเพื่อเจริญวัย กระทำการดีร้ายด้วยความไม่รู้เป็นหลัก วันหนึ่งก็ต้องแก่ลงแล้วตายไปรับผลกรรมแบบหมดสิทธิ์เลือก แล้วก่อกรรมต่ออีก เพื่อรับผลอีก หาแก่นสารได้ที่ไหน ยิ่งคิดยิ่งสังเวชตนเองและเพื่อนร่วมทุกข์นับอนันต์ทั่วโลก
กระทั่งเกิดสติเพราะความเคยชินในการรู้ฝ่าเท้ากระทบพื้น จึงระลึกได้ว่าจิตกำลังเป็นทุกข์ ก็ดูทุกข์นั้นโดยความเป็นสภาพบีบคั้นจิตให้หม่นหมอง เต็มไปด้วยฝ้ามัวพร่าพราย ซึ่งเมื่อเห็นทุกข์ทางใจอยู่เดี๋ยวเดียว ก็คล้ายสภาพทุกข์นั้นถูกแทนที่ด้วยสติเต็มดวง กลายเป็นเบิกบานขึ้นมาใหม่ เบนวิถีความคิดไปอีกทาง คือเป็นมนุษย์นั้นดีอย่างนี้เองหนอ หาเงินเลี้ยงชีพก็ได้ แถมเมื่อเกิดในยามพุทธศาสนาอุบัติ ก็มีปัญญาเอาชนะความไร้สติ ความไม่รู้ และความแน่นทึบทั้งปวงได้ โชคดีกว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไหน ๆ
อย่างไรฉันต้องเอาตัวรอดจากสภาพความไม่รู้อันเลวร้ายและน่าประหวั่นพรั่นพรึงในชาตินี้ให้จงได้!
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “7 เดือนบรรลุธรรม”
โดยผู้แต่ง ดังตฤณ

ดาวโหลดฟัง mp3 คลิปเสียงอ่านหนังสือได้ที่
https://goo.gl/81r6vb

หรืออ่านหนังสือ pdf ได้ที่
https://goo.gl/oNxBEq

เสียงอ่านหนังสือกลัวเกิดไม่กลัวตาย (PDF, MP3)

อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม - หนังสือกลัวเกิดไม่กลัวตาย
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
หนังสือ “กลัวเกิดไม่กลัวตาย”
(อ่านแบบ PDF) https://makkanuka.files.wordpress.com/2015/02/gluagerd.pdf
(อ่านแบบ เล่ม) http://suanyindee.lnwshop.com/product/5/กลัวเกิดไม่กลัวตาย

ฟังเสียงอ่านหนังสือ MP3
(ขอขอบคุณเสียงอ่านโดย: ทีมความว่าง)

บทนำ : อริยมรรคมีองค์ ๘
(MP3) https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2015/08/gluagerd-0-intro.mp3

มรรคองค์ที่ ๑ ๒ ๓ ๔ และ ๕
(MP3) https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2015/08/gluagerd-1.mp3

มรรคองค์ที่ ๖ ๗ และ ๘
(MP3) https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2015/08/gluagerd-2.mp3

– ไตรสิกขา
– ลักษณะแห่งอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
– นิพพานเพราะไม่ยึดถือธรรมที่ได้บรรลุ

(MP3) https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2015/08/gluagerd-3-4.mp3

– ความสำคัญ และความยิ่งใหญ่ของอริยมรรคมีองค์ ๘
– กัลยาณมิตร
– สรุป

(MP3) https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2015/08/gluagerd-5.mp3

ภาคผนวก
– การละอาสวะนานาแบบ
– อริยสัจจ์ ๔

(MP3) https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2015/08/gluagerd-6.mp3

บทส่งท้าย
(MP3) https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2015/08/gluagerd-7.mp3

เธอจงใส่การปฏิบัติธรรมเข้าไปในชีวิต

เธอจงใส่การปฏิบัติธรรมเข้าไปในชีวิต
พ่อหนุ่ม จะบอกการปฏิบัติให้พ่อหนุ่มอีกอย่างหนึ่ง ให้เอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้เลย
คือคนทุกคนแต่ละวันจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ตาม เขาจะอยู่ในอิริยาบถสี่ คืออิริยาบถหนึ่ง คือ ยืน แต่ว่ายืนนั่นส่วนน้อย เดิน เช่นเดินออกนอกบ้านไปขึ้นรถ หรือเดินเที่ยวเดินออกกำลังกาย เดินชมของในศูนย์การค้า หรือเดินชมต้นไม้ในบ้านเป็นต้น นั่ง หรืออิริยาบถนั่ง เราต้องนั่งทำงาน นั่งกินอาหาร นั่งพักผ่อนหย่อนใจ นั่งเล่น อิริยาบถนอน นอนเล่นๆ นอนจริงๆ นอนให้หลับ คนหนึ่งๆ ก็มีสี่อิริยาบถ ฉะนั้นในทุกอิริยาบถ เราใส่องค์ภาวนาเข้าไป
เช่นนั่งทำงานนี่ให้เข้าใจว่า นั่งนั่นก็ว่างจากตัวกูผู้นั่ง เป็นเพียงสักว่าธาตุชนิดหนึ่งที่กองอยู่บนเก้าอี้ แล้วมือก็เขียนหนังสือไป สมองก็ทำงานไป ทำไปว่างๆ โดยไม่มีตัวกูผู้กระทำ หรือทำโดยไม่ต้องมีตัว มีแต่ธาตุว่างกับงานว่างเท่านั้น แล้วจะทำงานเพลิน
เหมือนเด็กๆ เล่นกีฬา เมื่อไม่มีตัวกูผู้เล่น มีแต่ธาตุอย่างหนึ่งที่แกว่งไปแกว่งมา เพื่อจับลูกวอลเล่ย์บอลใส่ให้ตรงห่วงด้วยสมาธิ เป็นการฝึกสมาธิให้ชำนาญ เป็นการฝึกทักษะหรือปัญญาในการตัดสินใจให้แม่นยำ อย่างนี้ก็ต้องอาศัยจิตว่างในการเล่น มีทั้งสมาธิและปัญญาที่ต้องเอามาใช้ ก็ออกจากจิตว่างทั้งนั้น เรียกว่าเล่นด้วยความว่าง เล่นเพลินแล้วก็สนุกด้วย เพราะไม่มีตัวกู เรียกว่าว่างจากตัวกู ไม่ใช่ว่าโยนลงไปลูกไม่ลงห่วงแล้วเจ็บใจตัวเอง ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดอย่างนั้นไม่สนุกแล้ว ตัวกูเกิดแล้ว ทุกข์เกิดแล้ว จิตไม่ว่างแล้วสติปัญญาขาดแล้ว
เช่น ทีมบอลของประเทศไทย ส่วนมากตอนแรกจะได้ลูกนำไปก่อนหนึ่งลูก แล้วฝ่ายตรงข้ามก็พยายามเล่นด้วยจิตนิ่ง จิตว่าง ใช้สติปัญญากำกับอย่างดี จนได้ลูกเสมอกัน ๑-๑ พอต่อไปฝ่ายตรงข้ามก็โหม่งเข้าอีก เป็นสองต่อหนึ่ง ของไทยก็ใจผิดปกติแล้วเล่นกันไม่เป็นขบวนการแล้ว จิตไม่นิ่งแล้วสมาธิหายหมดแล้ว ปัญญาก็หดหายไปหมด ผลออกมาก็คือแพ้ นี่เห็นไหม? จิตไม่นิ่ง สมาธิไม่เกิด ปัญญาก็หดหายหมด เพราะเขาไม่ได้เล่นด้วยจิตว่าง เล่นด้วยจิตที่เป็นตัวกูที่แพ้
เราดูข้างนอกว่าแพ้แก่คู่แข่ง แต่ตามจริงแล้วเขาแพ้แก่จิตของเขาเอง คือแพ้แก่ตัวกู พอมีตัวกูก็โยนลูกไม่ลงบ้างเพราะขาดสมาธิ ปัญญา ทักษะ โหม่งลูกไม่เข้าประตูบ้าง เพราะขาดทั้งสติและปัญญา พร้อมสมาธิเขาก็แพ้จิตเขาเอง ถ้าต่างคนต่างขาดสมาธิและปัญญา ขบวนการก็เสียหมด จิตรวนเร กายรวนเร ทำให้ขบวนการรวนเร ผลสุดท้ายแพ้แก่ตัวเอง เพราะไม่ได้ฝึกจิตมา
ฝึกแต่ทักษะภายนอก มันไม่พอหรอก เมื่อเล่นด้วยจิตไม่ว่าง ทำงานก็เหมือนกัน ถ้าเริ่มนั่งทำงานแล้วมีตัวกูมันก็เกิดเบื่องาน ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นทันที เรียกว่าทำงานด้วยจิตวุ่น เพราะมีตัวกูเป็นผู้กำกับ
ถ้าทำงานด้วยจิตว่างมีสติปัญญากำกับ ทำงานเพลิน ทำงานสนุก แล้วก็เป็นสุขกับงานที่ทำนั่น เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่างจากตัวกู
พอไปถึงอิริยาบถนอนก็อย่าคิดว่ากูนอน มันเป็นธาตุอย่างหนึ่ง ที่มันกองอยู่บนเตียง มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็น สุญญตา มันต้องนอนว่างๆ ภาวนาว่านอนว่างๆ คือว่างจากตัวกูผู้นอนนั่นเอง ถ้าปฏิบัติอย่างนี้อีกไม่นานก็เข้าใจธรรมะ รู้ธรรมะ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เป็นการปฏิบัติในการทำงาน หรือเป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
แม้แต่นั่งรถเมล์ หรือยืนบนรถเมล์ หรือยืนรอรถเมล์ ก็ปฏิบัติธรรมได้เยอะแยะ ถ้ารู้จักปฏิบัติ แต่ถ้าขับรถส่วนตัว รถติดครึ่งชั่วโมงหนึ่งชั่วโมง ก็ปฏิบัติกันเสีย ไม่ใช่นั่งตกนรกร้อนใจอยู่หนึ่งชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง มีแต่ขาดทุน หรือได้คิดอะไรก็นั่งใจลอยอยู่ ก็คงไม่เป็นประโยชน์เช่นกัน
หลวงพ่อเอี้ยน วิโนทโก
เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก
จดหมายถึงพ่อหนุ่ม (pdf)

(การ์ดคำสอน) เพราะทุุกสิ่ง ก็เพียงเป็นไปตามเหตุปัจจัย

โดยความจริงแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุปัจจัยบีบบังคับ มันจึงไม่สามารถจะเป็นอย่างอื่นจากที่มันกำลังเป็นอยู่ได้ มันไม่ได้ดีไม่ได้ชั่วด้วยตัวของมันเอง มันเป็นอย่างที่มันเป็น แต่การขาดอินทรียสังวรทำให้เกิดความหลงรัก หลงชัง สิ่งที่ไปรับรู้ เข้าติดยึดในนิมิตเครื่องหมายและรายละเอียดของสิ่งนั้น เกิดความรู้สึกเป็นจริงเป็นจัง แล้วให้ค่าสิ่งต่างๆ เป็นดี ชั่ว ถูก ผิด บวก ลบ สูง ต่ำ สำคัญ ไม่สำคัญ น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ เมื่อเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เป็นที่รัก สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ยึดนั้นก็จะเป็นที่ตั้งของความเกลียดชัง สิ่งหนึ่งให้ความพอใจ สบายใจ แต่อีกสิ่งหนึ่งให้ความไม่พอใจ หงุดหงิด ขัดเคือง จึงเกิดความรู้สึกที่คับแคบมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ให้ความสุขแก่เราเป็นพวกของเรา กับ สิ่งที่ให้ความทุกข์แก่เราไม่ใช่พวกของเรา มีความเห็นที่แบ่งแยกฝ่ายเรา ฝ่ายเขา มีมุมมองที่คับแคบ เต็มไปด้วยอคติ
การใช้ชีวิตที่เต็มด้วยอคติเช่นนี้ เต็มไปด้วยความมืดมิด มองไม่เห็นความจริง ยศหรือความน่าเชื่อถือของเขาย่อมเสื่อม อย่างที่พระพุทธเจ้าอุปมาว่า ดุจพระจันทร์ในข้างแรม [*] บุคคลใดที่เป็นฝ่ายตนหรือให้ประโยชน์แก่ตน ก็ดูเป็นมิตร ทำให้อะไรก็ถูกหรือดูดีไปหมด บุคคลใดที่เป็นฝ่ายคนอื่นหรือทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ก็เป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้าม ทำอะไรก็ดูไม่น่าเชื่อถือ จนทำให้เกิดความแยกพรรคแยกพวก เป็นฝ่าย จนกระทั่งถึงกับทำร้าย ทุบตี ต่อสู้ หรือแม้กระทั่งเกิดสงครามกัน
มนุษย์ที่เกิดมาในโลก โดยธรรมชาติก็เป็นเหมือนญาติพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สิ่งต่างๆ ในโลกก็เป็นของกลาง ไม่ใช่สมบัติของใครเป็นพิเศษ ไม่มีใครมีอำนาจครอบครองสิ่งใดๆ ไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกขึ้นมา ก็ด้วยอาศัยความรู้สึกสองขั้วนี้ คือ ความพอใจ ไม่พอใจ ตามภาษาบาลีว่า อภิชฌาและโทมนัส ซึ่งสิ่งนี้เกิดมาจากการขาดอินทรียสังวร ผู้คนจึงจมอยู่กับโลก อยู่กับการแบ่งแยก อยู่กับของเป็นคู่ๆ ที่ไม่แน่ไม่นอน และไม่มีแก่นสารพอจะเป็นที่พึ่งได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของโลก ไม่อาจจะพ้นไปจากโลกได้
เนื้อหาจากหนังสือ การพัฒนาอินทรียสังวร หน้า ๒๔๓

[*] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๑๗/๒๙.

(ภาพเนื้อหาจากหนังสือ “สัจจะแห่งชีวิต”)

ศึกษาธรรมะจาก อาจารย์สุภีร์ ทุมทอง

อ่านหนังสือการพัฒนาอินทรียสังวร pdf

อ่านการ์ตูนธรรมะ เหตุสมควรทุกข์ไม่มีในโลก

วันนี้ได้มีโอกาสได้จับหนังสือเล่มนี้
ทำออกมาดีมากเลย น่าอ่านค่ะ

“สงสัยมั้ย ? ธรรมะ” ฉบับ เหตุสมควรทุกข์ไม่มีในโลก

นี้หน้าปกค่ะ

dhamma-no-need-for-suffering-1

นี้สารบัญ มีเรื่องราวหลากหลาย น่าสนใจมาก

dhamma-no-need-for-suffering-2

นี้เป็นปกหลังของเล่มนะคะ จะมีรูปการ์ตูนใบหน้าคนต่างอารมณ์

dhamma-no-need-for-suffering-12

เนื้อหาข้างในเล่มนี้ก็คือเรื่องราว
ของตัวการ์ตูนแต่ละคนในปกหลังนี้นั่นเองค่ะ

หนังสือ “สงสัยมั้ย ? ธรรมะ” สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
หรือซื้อจากเว็บไซต์ สำนักพิมพ์ A Thing Book ได้เลยค่ะ
ที่เว็บนั้นมีหนังสือการ์ตูนธรรมะดีๆ อีกหลายเล่มเลย
ท่านใดสนใจซื้อแบบเยอะๆ เพื่อการแจกจ่ายให้กับผู้อื่น เขามีแบบลดราคาเยอะมากด้วยนะ
อ่านแล้วดีมากๆ มีตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือให้ได้ลองอ่านด้วยนะคะ

อย่างเล่ม “เหตุสมควรทุกข์ไม่มีในโลก” เล่มนี้
พอเข้าไปที่เว็บไซต์ สำนักพิมพ์ A Thing Book แล้ว
ตัวอย่างเนื้อหาเล่มนี้จะอยู่ในส่วนของหนังสือธรรมทานนะคะ

(^____^) ลองดูนะคะ http://www.athingbook.com/

เพราะคือ กระแสแห่งกรรม กระแสแห่งเหตุปัจจัย

current-of-karma-2-5-3

เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย)
บทที่ ๕ เรื่อง กรรม หน้า ๓๑๑
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
สมมุติว่า ขณะนี้ ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนกำลังยืนมองกระแสน้ำสายหนึ่งอยู่ กระแสน้ำไหลผ่านที่ราบเป็นส่วนมาก จึงไหลเอื่อยๆ ไม่เชี่ยว ดินที่กระแสน้ำไหลผ่านส่วนมากเป็นดินสีแดง กระแสน้ำสายนี้จึงมีสีค่อนข้างแดง นอกจากนั้น กระแสน้ำยังไหลผ่านถิ่นที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นหลายแห่ง คนได้ทิ้งขยะและของเสียต่างๆ ลงในลำน้ำเป็นอันมากตลอดเวลา ทำให้น้ำสกปรก ยิ่งในระยะหลังนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งมากขึ้น และปล่อยน้ำเสียลงในน้ำทุกวัน ทำให้เกิดเป็นพิษ ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จึงมีปลาา กุ้ง เป็นต้น ไม่ชุม
สรุปแล้ว กระแสน้ำที่เรากำลังมองดูอยู่นี้ สีค่อนข้างแดง สกปรก เจือปนด้วยน้ำพิษมาก มีสัตว์น้ำไม่ชุม ไหลเอื่อยๆ ช้าๆ ผ่านที่นั้นที่นั้น ทั้งหมดนี้รวมกันเข้าเป็นลักษณะจำเพาะของกระแสน้ำนี้ ซึ่งมีลักษณะบางอย่างก็เหมือนกระแสน้ำโน้น บางอย่างเหมือนกระแสน้ำนั้น บางอย่างเหมือนกระแสน้ำนู้น ฯลฯ แต่รวมทั้งหมดแล้วไม่เหมือนกระแสน้ำอื่นใด
ต่อมา มีผู้บอกเราว่า กระแสน้ำสายนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง เขาบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังเป็นอย่างนั้นๆ บางคนบอกว่าแม่น้ำท่าวังมีน้ำสกปรก ปลาไม่ชุม บางคนบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังไม่ไหลเชี่ยว และเป็นอย่างนั้นๆ บางคนว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านถิ่นที่มีดินสีแดงมาก จึงมีน้ำค่อนข้างแดง
เราเกิดความรู้สึกเป็นข้อสังเกตขึ้นมาว่า ความจริง กระแสน้ำที่เรามองดูอยู่ ก็มีภาวะสมบูรณ์ในตัวตามสภาพของมันอยู่แล้ว มันมีลักษณะต่างๆ เช่น ไหลช้า มีสีแดง สกปรก เป็นต้น ก็เพราะมันเกิดจากองค์ประกอบและความเป็นไปต่างๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลอันทำให้มันต้องเป็นอย่างนั้น เช่น เมื่อกระแสน้ำกระทบละลายดินแดง ก็เกิดผลขึ้นแก่กระแสน้ำนั้นให้มีสีแดง เป็นต้น ความเป็นไปต่างๆ ของมัน มีผลต่อมันอยู่ในตัวเอง
ยิ่งกว่านั้น ขณะที่เรามองอยู่นั้น กระแสน้ำก็ไหลผ่านไปเรื่อยๆ น้ำที่เราเห็นตรงหน้าเมื่อแรกมอง กับเวลาต่อมา ก็ไม่ใช่น้ำเดียวกัน และน้ำที่เห็นตอนต่อๆ มา กับตอนท้ายที่เราจะเลิกมอง ก็ไม่ใช่น้ำเดียวกัน แต่กระนั้นมันก็มีลักษณะจำเพราะที่เรียกได้ว่าเป็นอย่างเดิม เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่รวมเข้าเป็นกระแสน้ำนั้นยังคงเหมือนๆ เดิม แต่มีคนบอกเราว่า แม่น้ำนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง ยิ่งกว่านั้น ยังบอกกว่า แม่น้ำท่าวังมีกระแสน้ำไม่เชี่ยว น้ำของแม่น้ำท่าวังสกปรก ปลาน้อย เรามองไมเห็นว่าจะมีแม่น้ำท่าวังอยู่ที่ไหนต่างหาก หรือนอกจากกระแสน้ำที่เรามองอยู่นั้น เรามองไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังไหนที่มาเป็นจ้ำของกระแสน้ำที่ไหลอยู่นั้น
ยิ่งกว่านั้น เขาบอกกว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านละลายดินแดง ทำให้มันมีาสีค่อนข้างแดง คล้ายกับว่า แม่น้ำท่าวังไปทำอะไรให้กับดินแดง มันจึงได้รับผลถูกเขาลงโทษให้มีน้ำสีแดง เราเห็นอยู่ชัดๆ ว่า กระแสน้ำที่เรามองเห็นอยู่นั้น มีความเป็นไป เป็นกระบวนการแห่งเหตุและผลพร้อมอยู่ในตัวของมัน น้ำที่ไหลมากระทบเข้ากับดินแดง ดินแดงละลายผสมกับน้ำเป็นเหตุ ผลก็เกิดขึ้นคือกระแสน้ำจึงมีสีค่อนข้างแดง ไม่เห็นจะมีใครมาเป็นผู้ทำหรือผู้รับผลนั้นอีก
ยิ่งกว่านั้น เราไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันอยู่ที่ไหนได้เลย กระแสน้ำที่ไหลผ่านหน้าเราไปแล้ว ก็ไหลผ่านไปเลย น้ำเก่าที่เราเห็น ก็ไม่มีอยู่ที่นั่นแล้ว มีแต่น้ำใหม่มาแทนที่เรื่อยไป เรากำหนดกระแสน้ำนั้นได้ ด้วยองค์ประกอบ อาการ และความเป็นไปต่างๆ ที่ประมวลกันขึ้นให้ปรากฏลักษณะอันจะถือเอาได้เช่นนั้นเท่านั้นเอง และถ้ามีตัวตนของแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันแน่นอนตายตัวอยู่ กระแสน้ำคงจะเป็นไปตามองค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ และในขั้นสุดท้าย เราเห็นว่า แม่น้ำท่าวังนั่นแหละเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น เราพูดถึงกระแสน้ำนั้นได้เต็มตามกระบวนการของมัน โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำท่าวังเลย ว่าให้ถูกแล้ว แม่น้ำท่าวังไม่มีอยู่เลยด้วยซ้ำไป เราเห็นชัดเลยว่า ไม่มี ไม่ต้องมี และไม่อาจจะมีอะไรๆ มาเป็นตัวตนที่เรียกว่าแม่น้ำท่าวัง หรือมีแม่น้ำท่าวังที่ไหนมาเป็นตัวตนเป็นอัตตา ที่จะเป็นเจ้าของเจ้ากี้เจ้าการกำกับสั่งการแก่กระแสน้ำนั้น
ต่อมาอีกนาน เราเดินทางไปถึงตำบลอื่น เราพบชาวตำบลนั้นหลายคน คราวหนึ่งเราอยากจะเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับเรื่องกระแสน้ำที่เราได้มองดูคราวก่อนนั้น แล้วเราก็เกิดความติดขัดขึ้นมาทันที เราไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรดี เขาจึงจะเข้าใจตามที่เราต้องการจะบอกเขาได้ เรานึกขึ้นมาได้ถึงคำที่เคยมีคนบอกเราว่ากระแสน้ำสายนั้นชื่อแม่น้ำท่าวัง จากนั้นเราก็สามารถเล่าให้ชาวบ้านฟังอย่างสะดวกคล่องแคล่ว และเขาก็ฟังด้วยความเข้าใจและสนใจเป็นอย่างดี เราพูดด้วยว่า แม่น้ำท่าวังมีน้ำสกปรก มีปลาน้อย กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังไหลช้า แม่น้ำท่าวังไหลไปกระทบดินแดง ทำให้มันมีสีค่อนข้างแดง
ในเวลานั้น เราเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยว่า แม่น้ำท่าวัง และบทบาทของมันตามที่เราเล่านั้น เป็นเพียงถ้อยคำสมมติเพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันในโลก แม่น้ำท่าวังและบทบาทของมันตามคำสมมุติเหล่านี้ จะมีขึ้นมาหรือไม่มี และเราจะใช้มันหรือไม่ก็ตามที จะไม่มีผลกระทบต่อกระแสน้ำนั้นเลย กระแสน้ำนั้นก็คงเป็นกระบวนการแห่งกระแสที่ไหลเนื่องไปตามองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของมันอยู่นั่นเอง เราแยกได้ระหว่างสมมุติกับสภาวะที่เป็นจริง บัดนี้ เราทั้งเข้าใจ และสามารถใช้ถ้อยคำเหล่านั้นพูดด้วยความสบายใจ
ที่สมมติเรียกกันว่าคน ว่านาย ก. คุณ ข. เรา เขา นั้นโดยสภาวะที่แท้ก็คือ กระบวนธรรมที่ไหลเนื่องเป็นกระแสสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย มีองค์ประกอบต่างๆ มาสัมพันธ์กันอยู่มากมาย มีความเป็นไปปรากฏให้เห็นได้นานัปการ สุดแต่เหตุปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในกระบวนธรรมนั้นเอง และทั้งที่เนื่องด้วยภายนอก
เมื่อมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างหนึ่งเกิดเป็นเหตุขึ้นแล้ว ก็ย่อมก่อนให้เกิดผลเป็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นในกระบวนธรรมนั้น สิ่งที่เรียกว่ากรรม และวิบาก นั้น ก็คือความเป็นไปตามทางแห่งเหตุและผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมที่กล่าวนี้ ซึ่งมีความสำเร็จพร้อมอยู่ในตัวกระบวนธรรมนั้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยตัวสมมติ เช่นว่า นาย ก. นาย ข. เรา เขา นายสิบ นายพัน มารับสมอ้างเป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำ หรือเป็นผู้รับผลแต่ประการใด
อันนี้เป็นส่วนตัวสภาวะความจริง อันเป็นไปอยู่ตามธรรมดาของมัน แต่เพื่อความสะดวกในการสื่อสารให้เข้าใจกันในหมู่ชาวโลก จะใช้พูดตามสมมติก็ได้ โดยตั้งชื่อให้แก่กระบวนธรรมที่ไหลเวียนอยู่นั้นว่า นาย ก. นาย ข. จมื่น หัวหมู่ เป็นต้น เมื่อรับสมมติเข้าแล้ว ก็ต้องยอมรับสมอ้าง เป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำ และผู้ถูกทำไปตามเรื่อง แต่ถึงจะสมมติหรือไม่สมมติ จะรับสมอ้างหรือไม่รับ กระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะความจริงก็เป็นไปอยู่ตามกฏธรรมดา ตามเหตุปัจจัยของมันนั่นเอง ข้อสำคัญก็คือ จะต้องรู้เท่าทัน แยกสมมติกับตัวสภาวะออกจากกันได้ ของอันเดียวกันนั่นแหละ เมื่อใดจะพูดถึงสภาวะ ก็พูดไปตามสภาวะ เมื่อใดจะใช้สมมติ ก็พูดไปตาม สมมติ อย่าไขว้เขว อย่าสับสนปะปนกัน และต้องมีความเข้าใจสภาวะเป็นความรู้เท่าทันรองรับยืนพื้นอยู่
ทั้งตัวสภาวะ และสมมติ เป็นสิ่งจำเป็น ตัวสภาวะ (นิยมเรียกกันว่าปรมัตถ์) เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนสมมติเป็นเรื่องของประโยชน์ในทางปฏิบัติสำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เอาสภาวะกับสมมติมาสับสนกัน คือ เข้าไปยึดเอาตัวสภาวะ จะให้เป็นตามสมมติ จึงเกิดวุ่นวายขึ้น ตัวสภาวะไม่วุ่น เพราะมันเป็นไปอย่างนั้นเอง ตามปกติธรรมดา ไม่เกี่ยวกับใครจะไปยึดหรือไม่ มนุษย์เป็นผู้วุ่นไปฝ่ายเดียว และเพราะมันไม่วุ่นด้วย มนุษย์จึงยิ่งวุ่นวายใหญ่ เพราะขัดความปรารถนา ถูกบีบคั้น จึงเกิดเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง
จากหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย)
บทที่ ๕ เรื่อง กรรม หน้า ๓๑๑
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)

ฟังคลิปเสียงอ่านหนังสือพุทธธรรม
เรื่อง กรรม (mp3)

ฟังคลิปเสียง
“เพราะนี้คือกระแสแห่งกรรม กระแสแห่งเหตุปัจจัย”

(อ่าน+ดูภาพประกอบ) “วางตัววางตนลงซะ”

just-put-down-v2-1-6
เวลาตีระฆังทำวัตรเช้า – เย็น หมาทุกตัวในวัดจะหอนเป็นจังหวะตามจังหวะระฆัง พอหยุดตีมันก็หยุดหอนไปด้วย แต่ถ้าตีเมื่อไหร่ก็หอนอีก มันคุมตัวเองไม่ได้ เห็นแล้วก็อดขำและอดสมเพชไม่ได้ที่มันกลายเป็นทาสของระฆังไปแล้ว
แต่มานึกดูให้ดีบ่อยครั้งเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าเราอาจไม่ได้มีปฏิกิริยากับเสียงระฆัง แต่มีปฏิกิริยากับเสียงอย่างอื่นแทน เช่นเสียงดัง เสียงตำหนิ พอได้ยินคนต่อว่าเราก็ตอบโต้หรือต่อว่ากลับไปทันที มันเป็นกิริยาโดยอัตโนมัติ หรือถึงแม้ไม่พูดตอบโต้ให้ได้ยินแต่ความรู้สึกขุ่นเคืองก็ผุดขึ้นมาทันที ได้ยินปุ๊บก็โกรธปั๊บเลย เห็นไหมว่าคนเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นกับสัตว์เท่านั้น
ถามว่าเราเลือกที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เสียงที่มากระทบทันทีได้ไหม เราทำได้นะถ้าฝึกใจไว้ดี เวลาหูได้ยินเสียงก็เกิดเวทนาขึ้นมา จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ตรงนั้นแหละถ้ามีสติ มันก็หยุดอยู่แค่เวทนา ไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นความโกรธ ความฉุนเฉียว มันไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นพฤติกรรมต่อว่า ผลักไส ทำร้าย
การมีสติกำกับจิตโดยเฉพาะเวลาเกิดผัสสะขึ้นมา ตอนที่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส อย่างมากก็มีแค่เวทนาทางกายเกิดขึ้น แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาทางใจ หรือแม้ว่าจะมีเวทนาทางใจ พอมีสติเข้าไปรู้ มันก็หยุดแค่นั้น หลวงพ่อเทียนท่านเปรียบเหมือนกับเอาดินร่วนขว้างไปที่ข้างฝา พอกระทบกับข้างฝา มันก็ตกลงมา แต่ถ้าเป็นคนธรรมดา พอมีผัสสะเกิดขึ้นก็เปรียบเหมือนกับเอาดินเหนียวขว้างไปที่ข้างฝา มันก็ติดข้างฝาเลย คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นคือเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ก็ปรุงต่อไปเป็นตัณหา อุปาทาน เวลาได้ยินเสียงต่อว่า แทนที่จะปล่อยผ่านเลยไป ปรากฏว่าเสียงด่าก็ยังติดแน่นที่ใจ ผ่านไปเป็นวันเป็นอาทิตย์ ก็ยังไม่หลุด เก็บเอามาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นึกถึงทีไรเสียงก็ยังดังชัดเจนในความรู้สึกเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกี้
just-put-down-v2-2
ไม่ใช่คำต่อว่าเท่านั้น เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความพลัดพรากสูญเสีย การประสบกับสิ่งไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นแล้วดับ แต่ยังค้างคาติดตรึงในจิตใจ ผ่านไปเป็นวันก็ยังประทับแน่นอยู่ นี่แหละที่เขาเรียกว่าอุปาทานหรือความยึดติด หลวงพ่อเทียนจึงเปรียบเหมือนดินเหนียวที่ขว้างไปแล้วติดข้างฝา
แต่ถ้าเรามีสติกำกับจิต เมื่อมีผัสสะแล้ว ก็ไม่มีการปรุงแต่งยืดยาวต่อไป เมื่อตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าได้ยิน มีอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดีหรือยินร้าย อยากได้หรืออยากผลักไส ถ้าเป็นดิน ก็เป็นดินทรายที่พอกระทบข้างฝาก็ตกลงมาเท่านั้นเอง
ความปรุงแต่งของจิตมันเกิดขึ้นเมื่อไม่มีสติกำกับใจ โดยเฉพาะเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ผัสสะเป็นขั้นตอนสำคัญไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ย่อมเกิดเวทนาหรือความรู้สึกตามมา เช่น รู้สึกสบาย ไม่สบาย เมื่อกายเจอลมเย็นก็รู้สึกสบาย เรียกว่าสุขเวทนา เจอแดดเผาก็รู้สึกไม่สบายคือเกิดทุกขเวทนา นึกถึงคนที่เรารักก็เกิดความชื่นใจ นี่คือสุขเวทนา นึกถึงคนที่เราโกรธเกลียด ก็รู้สึกเร่าร้อนหรือเจ็บปวด นี่คือทุกขเวทนา ปัญหาคือคนเราไม่ได้ยุติแค่นี้ เมื่อไม่มีสติเข้าไปรู้ทันในเวทนา ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นตัณหาคือความอยาก อะไรที่ทำให้เราชื่นใจก็อยากได้หรืออยากครอบครอง อะไรที่ทำให้เราเจ็บปวดไม่สบาย ก็อยากผลักไสออกไป หรืออยากให้สภาพเช่นนั้นหมดไป ถือว่าเป็นตัณหาด้วยเหมือนกัน เรียกว่าวิภวตัณหา
just-put-down-v2-3-2
พอเกิดตัณหาแล้ว ถ้าปล่อยเลยตามเลย ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นอุปาทานคือความยึดติด เช่น อยากได้อะไร ก็เฝ้านึกถึงสิ่งนั้น คิดหาหนทางให้ได้มา บางทีหลับไปแล้วก็ยังฝันถึงสิ่งนั้น ชอบใครก็นึกถึงแต่คนนั้น พยายามทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่ใกล้เขา เห็นหน้าเขา หรือแม้แต่เห็นหลังคาบ้านเขาก็ยังดี ในทางตรงกันข้าม เกลียดใครก็เฝ้าแต่นึกคิดถึงคนนั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกข์แต่ก็ยังวนเวียนคิดถึงคนนั้น โกรธใคร เศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไร ก็จะวนคิดถึงเรื่องนั้น อุปาทานมันทำให้ติดแน่นในใจ กินข้าวก็คิด อาบน้ำก็คิด นอนก็คิด นี่คืออาการของอุปาทานหรือความยึดติด
กระบวนการปรุงแต่งของจิตเริ่มต้นมาจากการที่ไม่มีสติเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสติทันทีที่เกิดผัสสะ มันก็ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาโดยเฉพาะเวทนาทางใจ หรือเมื่อเวทนาเกิดขึ้นแล้วถึงค่อยมีสติ มันก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงต่อ เหมือนกับว่าสะเก็ดไฟเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีเชื้อ ก็เลยไม่ลามต่อไปหรือลุกเป็นเปลว มันหยุดแค่นั้น ปล่อยไว้ไม่นานก็ดับ แต่ถ้ามีเชื้อ สะเก็ดไฟก็จะลามหรือลุกเป็นเปลว ตอนนี้แหละที่อารมณ์เกิดขึ้นต่อจากเวทนา ถ้ายังมีเชื้ออีก ไฟก็จะโหมไหม้ เวลาเกิดอารมณ์ขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นอกุศล ถ้าปล่อยให้มันปรุงแต่งหรือลุกลามต่อไป ก็จะกลายเป็นพายุอารมณ์ที่เผาไหม้จิตจนไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้ นี่เป็นเพราะไม่มีสติรักษาใจ
ทีนี้ถ้าไม่มีสติ มันก็จะปรุงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนขึ้น ความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวตนหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า เกิดความรู้สึก “ตัวกู ของกู”ขึ้นมา เช่น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะมีสติเห็นความโกรธ เราลืมตัวก็เลยไปสำคัญมั่นหมายว่า ฉันโกรธ หรือฉันเป็นผู้โกรธ นี่เรียกว่าตัวตนเกิดขึ้นแล้ว ตรงนี้แหละที่ทางพระเรียกว่า “ชาติ” เกิดขึ้นแล้ว คือเกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ นี้เป็นเพราะไม่มีสติเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เลยเข้าไปยึดและปรุงจนเกิดตัวตนขึ้นมาว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือมีตัวฉันเข้าไปเป็นเจ้าของอารมณ์เหล่านั้น แต่ถ้ามีสติ ก็เพียงแค่เห็นเฉย ๆ การปรุงว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าเห็นความโกรธ ผู้โกรธก็ไม่เกิดขึ้น เห็นความโกรธกับเป็นผู้โกรธต่างกันมากนะ เห็นความเศร้ากับเป็นผู้เศร้าก็ต่างกันมากเช่นกัน
just-put-down-v2-3-1
มีผู้หญิงคนหนึ่งปฏิบัติกับหลวงพ่อคำเขียน พอทำไปได้สองสามวันก็มาปรึกษาหลวงพ่อว่า “ทำอย่างไรดี หนูเครียดจังเลย” เธอทำด้วยความตั้งใจมากจึงเครียด หลวงพ่อไม่ตอบแต่บอกว่า “ ถามไม่ถูก ให้ถามใหม่ ” เธอได้คิดขึ้นมาเพราะว่าฟังเทศน์หลวงพ่อมาหลายวันแล้ว จึงถามใหม่ว่า “ทำอย่างไรดี ในใจหนูมีความเครียดมากเลย”
มันต่างกันนะ “หนูเครียดจังเลย” กับ “ในใจหนูมีความเครียดมากเลย” ประโยคแรกแสดงว่าเข้าไปเป็นผู้เครียดแล้ว แต่ประโยคที่สองแสดงว่าเขาเห็นความเครียด แต่อาจเป็นเพราะยังเห็นไม่ตลอด เห็นแล้วยังเผลอเข้าไปเป็น เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็เลยทุกข์ แต่ก็ยังดีที่พอเห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าเห็นล้วน ๆ ไม่เข้าไปเป็นเลยก็จะไม่ทุกข์เท่าไหร่ นี่แหละ “ผู้เห็น” กับ “ผู้เป็น” มันต่างกัน ถ้าเราเข้าไปเป็นแล้วแสดงว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว พอตัวกูเกิดขึ้น ความรู้สึกว่าเป็นของกูก็ตามมา เช่น เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ปรุงไปเป็นผู้โกรธ ทีนี้ก็จะไปยึดเอาความโกรธเป็นของฉันด้วย
การเกิดที่ว่ามาเป็นการเกิดทางจิตใจซึ่งเกิดขึ้นได้มากมายวันละหลายครั้ง ตรงข้ามกับการเกิดเป็นรูปเป็นร่างซึ่งเกิดได้เพียงครั้งเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการเกิดทางกายและทางใจต้องอาศัยพ่อและแม่ พระพุทธเจ้าเรียกตัณหาและมานะว่าเป็นพ่อและแม่ มีพระรูปหนึ่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วมาทูลลาพระพุทธเจ้า เมื่อพระรูปนั้นเดินออกไปก็มีพระกลุ่มใหม่เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสกับพระกลุ่มนี้ว่า พระที่เพิ่งเดินผ่านไปนั้นบรรลุธรรมแล้วเพราะได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ พระที่ได้ยินก็ตกใจว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่แล้วจะบรรลุธรรมได้หรือ พระพุทธเจ้าก็อธิบายว่าท่านได้ฆ่าตัณหาและมานะแล้ว
ตัณหาและมานะเปรียบเสมือนพ่อและแม่ เพราะเป็นปัจจัยทำให้เกิดตัวตนขึ้นมา เป็นเพราะตัณหาและมานะ จึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมา เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ และถือเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของฉันตลอดเวลา นอกจากความรู้สึกว่าเป็นผู้ทุกข์ ผู้เศร้า แล้ว ความรู้สึกฉันเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นนักปฏิบัติ เป็นพระ เป็นผู้ชนะหรือเป็นผู้แพ้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเป็นตัวกูของกู และขึ้นชื่อว่าตัวกูของกู เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ทุกข์ก็เพราะว่าความรู้สึกสำคัญมั่นหมายนั้นมีกิเลสเจือปนอยู่เสมอ คืออยากให้เป็นไปตามใจฉัน พอมันไม่เป็นไปตามใจฉันก็ทุกข์ เช่นเป็นผู้ชนะ ดูเผิน ๆ ก็มีความสุขดี แต่ลึก ๆ ก็มีความหวั่นกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะถูกแย่งชิงไป เห็นใครเก่งกว่าก็ทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะรู้สึกถูกคุกคาม รู้สึกว่าตัวเองจะสูญเสียความเป็นผู้ชนะไป เห็นไหมว่าไม่ใช่ผู้แพ้เท่านั้นที่ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์
just-put-down-v2-4
เป็นพ่อเป็นแม่ก็ทุกข์เวลาลูกพูดจาไม่ดีกับตน หรือเป็นทุกข์เมื่อลูกไม่เป็นไปตามใจตน นี่เป็นเพราะยังมีกิเลสและอุปาทานของความเป็นแม่อยู่ บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพราะลูกไม่พูดไม่คุยด้วย ลูกเอาแต่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แม่จะพูดอย่างไรก็ไม่สนใจ แม่ขู่ว่าจะโดดตึกลูกก็ยังไม่สนใจ แม่ก็เลยน้อยใจโดดตึกตาย ตายเพราะว่ายึดมั่นในความเป็นแม่มาก จึงมีความอยากจะให้ลูกปฏิบัติกับตนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอลูกไม่ทำตาม ความเป็นแม่ก็ถูกกระทบอย่างแรง จนทนไม่ได้อีกต่อไป
เป็นอะไรก็ตามก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น เป็นพระก็ทุกข์เวลาญาติโยมพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ แค่เขาไม่กราบไม่ไหว้เราก็ไม่พอใจแล้ว นึกในใจว่า เอ๊ะ ฉันเป็นพระนะ เธอเป็นฆราวาสทำไมไม่ไหว้ฉัน อาการอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะไปยึดมั่นสำคัญหมายในความเป็นพระโดยมีกิเลสเจือปนอยู่ด้วย และถ้าสังเกตให้ดีความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยู่ในวัดฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม พอออกไปในหมู่บ้าน เจอชาวบ้าน ก็เกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นคนเมือง แต่ถ้าไปเจอฝรั่งหรือญี่ปุ่น ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้นแทนที่ กลับไปบ้านเจอลูก ก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นพ่อแม่ เห็นไหมว่า ความรู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเป็นฉันมันไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตนก็เพราะเหตุนี้
ที่ว่าตัวตนเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ แต่เราไม่รู้ เรานึกอยู่เสมอว่าตัวฉันนั้นมันเที่ยง หรือมีอยู่จริง ๆ แต่ความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นในใจเราสุดแท้แต่เหตุปัจจัย เช่น ไปเจอคนต่างชาติต่างภาษา ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้น แต่พอเจอคนใต้ ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนกรุงเทพ ฯ หรือคนอีสานก็เกิดขึ้น แม้แต่คนอีสาน พอมาเจอกัน ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนชัยภูมิก็เกิดขึ้น หากว่าอีกคนเป็นคนขอนแก่น เราปรุงเราสร้างความเป็นตัวฉันอยู่ตลอดเวลาสุดแท้แต่เหตุปัจจัย อันนี้แหละที่เราเรียกว่าตัวตนเป็นสิ่งสมมุติ เพราะมันไม่ได้มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเหล่านี้เราไม่รู้ทัน ก็เลยไปยึดด้วยความหลงว่าตัวฉันนี้มีอยู่จริง แล้วยังยึดต่อไปด้วยความอยากว่าตัวฉันเป็นของเที่ยง ต้องคงอยู่ตลอดไป เราจึงยอมรับความตายไม่ได้
just-put-down-v2-5
มีนายทหารคนหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ เป็นวีรบุรุษชายแดน เขาเคยพูดว่าทหารที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร เขายังบอกอีกว่าคนอย่างเขาไม่มีวันฆ่าตัวตาย ความรู้สึกว่าฉันเป็นชายชาติทหารฝังแน่นในใจจนเขามั่นใจว่าจะไม่มีวันฆ่าตัวตายเด็ดขาด แล้ววันหนึ่งเขาก็เป็นมะเร็ง เจ็บปวดทรมานมาก เขาทนความเจ็บปวดอยู่หลายปี ในที่สุดก็ยิงตัวตาย ทีแรกใคร ๆ ก็นึกว่าเป็นฆาตกรรม เพราะไม่คิดว่าคนอย่างเขาจะฆ่าตัวตายได้ เพราะเคยลั่นวาจาว่าคนที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร แต่ในที่สุดหลักฐานก็บ่งชี้ว่าเขาฆ่าตัวตายจริง ๆ คำถามคือชายชาติทหารอย่างเขาฆ่าตัวตายได้อย่างไร คำตอบก็คือว่าตอนนั้นเขาไม่รู้สึกว่าตัวเป็นชายชาติทหารแล้ว แต่เป็นผู้ป่วย เป็นผู้เจ็บปวดทรมาน ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นชายชาติทหารได้หมดไป ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนป่วยที่ทุกข์ทรมานมาแทนที่ ความสำคัญมั่นหมายอย่างหลังนี้เองที่ทำให้เขาตัดสินใจยิงตัวตาย
กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีความเที่ยงแท้ แม้เขาจะเคยมั่นใจอย่างแรงกล้าว่าตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร แต่ตัวตนนี้ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่ปรุงขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ถึงเวลาเหตุปัจจัยเปลี่ยน ตัวตนที่ว่าก็เปลี่ยนไปด้วย และอาจเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามก็ได้ และพอรู้สึกว่าตัวฉันคือผู้ป่วยที่เจ็บทรมาน อย่างเดียวที่ต้องการก็คือพ้นจากความเจ็บปวดทุกวิถีทาง แม้จะต้องฆ่าตัวตายก็ยอม
ความเป็นตัวตนมันไม่ยั่งยืนถาวรเพราะมันเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย พอเหตุปัจจัยเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไปด้วย เหตุปัจจัยนี้อาจจะได้แก่ปัจจัยภายใน เช่น ความรู้สึกนึกคิด และปัจจัยภายนอก เช่น ผู้คนแวดล้อม ทั้งหมดนี้ล้วนไม่เที่ยงทั้งนั้น โดยเฉพาะใจของเราเอาแน่เอานอนไม่ได้อยู่แล้ว ความเป็นตัวฉันก็เลยผันแปร เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ และอย่างที่บอกไว้แล้ว เป็นอะไรก็ตามมันก็ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าเป็นในทางที่ดี หรือไม่ดีก็ตาม เป็นผู้แพ้ก็แน่อยู่แล้วว่าต้องทุกข์ แต่เป็นผู้ชนะหรือคนเก่งก็หนีความทุกข์ไม่พ้นเช่นกัน เจอใครที่เก่งแม้จะไม่เท่าเรา แต่ก็ระแวงว่าเขาจะมาแย่งชิงความเป็นผู้ชนะไปจากเรา และถ้าเขาแย่งชิงไปได้ ก็จะเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น เพราะสูญเสียความเป็นผู้ชนะไป พูดอีกอย่างคือตัวฉันที่เป็นผู้ชนะได้ตายไป อันนี้คือความตายอย่างหนึ่งที่เราเจออยู่บ่อย ๆ แม้จะยังไม่หมดลม
เป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าจะให้ดีก็คือไม่เป็นอะไรเลย ไม่เป็นอะไรเลยหมายความว่าอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยใช่ไหม ไม่ใช่ แต่หมายความว่าเราจะทำอะไรก็ตามเราอย่าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ ใครเขาจะเรียกเราว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็รู้ว่านั่นเป็นสมมุติ แม้เราจะบอกกับคนอื่นว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ แต่ก็ไม่ได้ไปยึดมั่นนั่นคือตัวฉันจริง ๆ ถ้าไปคิดเช่นนั้นก็เรียกว่าหลงแล้ว และเตรียมตัวทุกข์ได้เลย
just-put-down-v2-6
มีเรื่องเล่าว่าครูคนหนึ่งสอนหนังสืออยู่แถววัดสระเกศ วันหนึ่งรู้สึกกลุ้มใจจึงเดินขึ้นไปบนภูเขาทอง พอถึงยอดภูเขาทองแล้วมองออกไปไกล ๆ เห็นโลกกว้างสุดสายตา ก็รู้สึกเบาสบาย ความกลุ้มใจก็คลายไป ทีนี้พอแกเครียดทีไรก็จะขึ้นไปบนภูเขาทอง ขึ้นแล้วก็รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย บางวันขึ้นสองสามรอบ ทำเช่นนั้นเป็นปี
เผอิญมีนักข่าวคนหนึ่งไปเที่ยวภูเขาทอง ได้ยินเรื่องเล่าจากเจ้าหน้าที่ที่นั่นว่ามีครูคนหนึ่งขึ้นภูเขาทองวันหนึ่งไม่รู้กี่เที่ยว ก็เลยสนใจไปทำข่าว พอเรื่องราวของเขาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เขาก็ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ จึงดังเข้าไปใหญ่ ได้รางวัลหลายรางวัล ได้รับสมญานามว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทองที่ไม่มีใครเทียบทาน
ถึงตอนนี้ก็มีหลายคนอยากเป็นนักขึ้นภูเขาทองบ้าง หลายคนอยากลบสถิติของเขาซึ่งขึ้นภูเขาทองมาเป็นพัน ๆ ครั้ง ครูคนนี้ทีแรกขึ้นภูเขาทองโดยไม่ได้นึกอะไรแต่พอมีคนยกย่องว่าเขาเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ความรู้สึกว่าฉันเป็นนักขึ้นภูเขาทองก็เกิดขึ้นกับครูคนนี้ รู้สึกภูมิใจเพราะโลกนี้มีคนเดียวที่เป็นนักขึ้นภูเขาทอง แต่พอรู้ว่ามีคนจะมาลบสถิติ ก็ไม่สบายใจขึ้นมา เพราะกลัวว่าความเป็นนักขึ้นภูเขาทองจะถูกแย่งชิงไป เขาจึงต้องขึ้นภูเขาทองให้บ่อยขึ้น แต่ก่อนพอขึ้นแล้วมีความสุข สบายใจ แต่ตอนนี้กลายเป็นหน้าที่ไปแล้ว ต้องขึ้นเพื่อที่จะไม่ให้ใครมาลบสถิติหรือแย่งชิงตำแหน่งนักขึ้นภูเขาทองไป เขาเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเมื่อมีคนหนึ่งขึ้นภูเขาทองมากเกือบเท่าเขา ถึงตอนนี้เขาก็เริ่มนอนไม่หลับ คิดแต่ว่าจะต้องขึ้นให้บ่อยขึ้นแม้งานจะเยอะก็ตาม
นี่เป็นเรื่องแต่ง แต่ว่าก็สอดคล้องกับชีวิตจริงของคนเรา คนเราเวลาทำอะไรก็ตามถ้าไม่ได้นึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่ทุกข์นะ แต่พอรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาก็เป็นทุกข์ อย่างเช่นครูในเรื่องนี้ ตอนแรก ๆ ขึ้นภูเขาทองโดยไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักขึ้นภูเขาทอง แต่พอผู้คนเรียกขานว่าเขาเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาจริง ๆ ว่าฉันเป็นนักขึ้นภูเขาทอง พอคิดแบบนี้แล้วก็ไม่อยากสูญเสียความเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ดังนั้นจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาตัวตนอันนี้ไว้
เพราะเหตุนี้ถึงบอกว่าความมีความเป็นทำให้เราทุกข์ได้ มีก็ทุกข์ เพราะอยากจะรักษาเอาไว้ไม่ให้มันหายไป พอหายไปก็ทุกข์อีก มีอะไรก็ตาม ถ้าไปยึดมั่นกับมัน ก็ทำให้ทุกข์ แม้จะเป็นสุขแต่ก็มีทุกข์เจือปน ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งเล่าถึงการโต้ตอบระหว่างเทวดากับพระพุทธเจ้า เทวดาว่า มีลูกก็เป็นสุขเพราะลูก มีวัวก็เป็นสุขเพราะวัว แต่พระพุทธเจ้าก็พูดแย้งว่า มีลูกก็ทุกข์เพราะลูก มีวัวก็ทุกข์เพราะวัว มีอะไรก็ตามย่อมทุกข์เพราะสิ่งนั้น โดยเฉพาะเมื่อไปสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นของฉัน บ้านของฉัน ลูกของฉัน ก็เตรียมทุกข์ไว้ได้เลยเพราะว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น ถ้าเราไม่พลัดพรากจากสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็พลัดพรากจากเรา มันก็มีสองอย่างเท่านั้นแหละทันทีรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นจะมีหรือจะเป็นอะไรก็ตามต้องมีหรือเป็นให้ถูกต้อง มีให้เป็น เป็นให้เป็น คือมีโดยไม่ยึดมั่นว่าเป็นของฉัน และเป็นโดยไม่ไปยึดมั่นว่าเป็นตัวฉัน เดี๋ยวนี้เรามีกันไม่เป็น และก็เป็นกันอย่างไม่ถูกต้อง คือเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีด้วยความหลงก็เลยทุกข์ ดีที่สุดก็คือไม่มีไม่เป็นอะไรเลย
just-put-down-v2-7
มีพราหมณ์คนหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้ามีรูปลักษณะดี มีสง่าราศีมาก ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ก็แปลกใจ ถามว่าท่านเป็นเทวดาหรือ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าไม่ใช่ ถามว่าท่านเป็นคนธรรพ์หรือ พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธ งั้นเป็นยักษ์ใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธอีก เขาถามว่าท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าก็บอกไม่ใช่ พราหมณ์งงก็งงเลยถามว่าแล้วท่านเป็นใคร พระพุทธเจ้าก็ไม่ตอบตรง ๆ แต่ตรัสว่าให้ถือว่าพระองค์เป็น “ พุทธะ” แล้วกัน เพราะกิเลสที่จะทำให้พระองค์เป็นเทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ หรือมนุษย์ พระองค์ละได้หมดแล้ว จึงไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น
พระพุทธองค์ไม่ถือว่าพระองค์เป็นอะไรเลย แม้แต่ “ พุทธะ” ก็เป็นสมมุติที่มีไว้เพื่อใช้เรียกเท่านั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงถือว่าพระองค์เป็นอะไรแม้กระทั่งพุทธะด้วยซ้ำ แต่ว่าเพื่อความสะดวกในการสื่อสารก็ให้เรียกพระองค์ว่าพุทธะ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ถ้าจะเป็นนั่นเป็นนี่ก็เพราะคนอื่นเรียกทั้งนั้น ในจิตใจของพระองค์ก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไร เพราะว่าตัณหามานะหมดไปแล้ว กิเลสที่จะทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่มีแล้ว
ดังนั้นเราจึงควรระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเราเป็นอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้น จึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้ายึดมั่นถือมั่นเราก็จะเป็นทุกข์ เพราะตัณหามานะจะแฝงซ่อนอยู่กับความเป็นนั่นเป็นนี่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เป็นผู้แพ้ก็ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์ เป็นคนชั่วก็ทุกข์ เป็นคนดีก็ทุกข์ เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ทุกข์ทันทีที่ไปยึดมั่นว่าฉันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใครที่สำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็น นักปฏิบัติธรรม พอมีคนมาพูดว่า “ เธอไม่มีสติเลย ” จะโกรธและเป็นทุกข์มาก ว่าอย่างอื่นไม่ว่ามาว่าฉันไม่มีสติ นี้แหละเป็นเพราะเราไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม เลยถูกตัณหาที่แฝงอยู่ในความเป็นนักปฏิบัติธรรมเล่นงานเอา
มองให้เห็นว่าความเป็นนั่นเป็นนี่เป็นสิ่งสมมุติที่ถูกปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ของจริง แต่ถึงแม้จะยังมองไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสมมุติ อย่างน้อยก็ให้เราตระหนักว่าความเป็นนั่นเป็นนี่มันไม่เที่ยง ถ้าไปยึดมั่นให้มันเที่ยงเราเองนั่นแหละจะเป็นทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่นเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องมองให้ลึกลงไปจนกระทั่งรู้ว่านี่มันเป็นสมมุติจริง ๆ เป็นสิ่งที่เราปรุงขึ้นมา ทั้งหมดนี้เริ่มตั้งแต่ผัสสะเกิดขึ้น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ผัสสะเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีสติ ก็จะเกิดเวทนาทางใจ เวทนาเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีสติอีก มันก็จะปรุงต่อไปเป็นตัณหา ถ้าสติยังตามไม่ทัน คราวนี้ก็จะปรุงเป็นอุปาทาน แล้วเลยไปเป็นภพชาติเลย เป็นภพชาติแล้วมันไม่จบแค่นั้น สิ่งที่ตามมาก็คือเกิดชรา มรณะ และความทุกข์ในที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่เที่ยง ต้องแปรเปลี่ยน อาการที่แปรเปลี่ยนนั้นก็คือชรามรณะนั่นเอง
just-put-down-v2-8
ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกคุกคามด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ต้องแปรเปลี่ยนหรือสูญสลายไป ไม่ว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทองหรือชายชาติทหารก็ตาม จะยึดมั่นถือมั่นแค่ไหนก็ตาม สักวันความเป็นนักขึ้นภูเขาทองหรือความเป็นชายชาติทหาร ก็ต้องหมดไป หรือถูกพรากไป เช่น พอถูกมะเร็งเล่นงาน ความรู้สึกว่าเป็นชายชาติทหารก็หมดไป ความเป็นผู้เจ็บ ผู้ทุกข์ทรมานก็มาแทนที่ เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ที่ไม่มีศักดิ์ศรี น่าหยามหยัน เกิดความทุกข์ท่วมท้น
อย่าให้เกิดการปรุงแต่งจนไปสู่ความทุกข์ ควรเริ่มต้นด้วยการมีสติตั้งแต่ตอนเกิดผัสสะ แต่ถึงแม้สติตามไม่ทันในผัสสะ ก็ขอให้มีสติรู้ทันในเวทนา และในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความโกรธเกิดขึ้น ความอยากเกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้โกรธผู้อยาก แม้กระทั่งเวลาปฏิบัติธรรม เราเดินจงกรมหรือสร้างจังหวะก็ดี ควรเห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่แต่อย่าเผลอคิดว่าฉันกำลังเดิน อย่าให้ความเป็นผู้เดินเกิดขึ้น ให้รู้แต่ว่ามีการเดิน มีการเคลื่อนไหวมือไปมา แต่ไม่ใช่ไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันกำลังเดิน ฉันกำลังเคลื่อนไหวมือไปมา ฉันกำลังตามลมหายใจ นั่นไม่ถูกแล้ว เรากำลังปล่อยให้ตัวตนเกิดขึ้นแล้ว อย่าไปปรุงแต่งเป็นตัวตนอย่างนั้น
just-put-down-v2-9
แม้กระทั่งความทุกข์เมื่อเกิดขึ้นก็เห็นความทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เมื่อตากระทบรูป การเห็นเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้เห็น เมื่อหูได้ยินเสียง การได้ยินเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้ได้ยิน เพราะถ้ามีตัวฉันเป็นผู้ได้ยิน เดี๋ยวก็มีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์เพราะได้ยินเสียงดัง หรือคำตำหนิ เวลาร่างกายมีแผล ก็รู้ว่ามีแผลเกิดขึ้นกับร่างกาย อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันมีแผล มีดบาดนิ้วก็ให้รู้ว่ามีดบาดนิ้วไม่ใช่ไปปรุงแต่งว่ามีดบาดฉัน อย่าปล่อยให้มีตัวฉันหรือตัวกู เพราะถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์ในที่สุด หรือมีตัวฉันเป็นผู้รับแรงกระทบกระแทกต่าง ๆ ถ้าไม่มีตัวฉันเกิดข้นแล้ว เราจะมีชีวิตที่โปร่งเบา เป็นอิสระ ความทุกข์ไม่มีที่ตั้ง เพราะไม่มีตัวฉันมาเป็นเจ้าของความทุกข์
ใหม่ ๆ เรายังไม่สามารถที่จะมองเห็นตรงนี้ได้ แต่ว่าเมื่อเราดูและเห็นอยู่เรื่อย ๆ ปัญญาหรือความประจักษ์ในความจริงเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น แล้วเราก็จะรู้ว่า เราทุกข์เพราะปล่อยให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นโดยแท้ นี่แหละคือต้นแห่งความทุกข์ทั้งปวง
just-put-down-v2-10
เนื้อหาจากหนังสือ “ตื่นรู้ที่ภูหลง”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
จากตอนที่ชื่อว่า เหนือตัวตน พ้นสมมุติ (mp3)

สามารถศึกษาข้อธรรมะเพิ่มเติมจาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้ที่
http://www.visalo.org/ และ http://www.pasukato.org/

(อ่านออนไลน์) ออกจากสังสารวัฏ

หมายเหตุ: ได้ขออนุญาตจากทางผู้ประสานงานผู้จัดทำหนังสือแล้ว เพื่อนำเนื้อหาบทนี้มาเผยแผ่ให้สามารถอ่านได้ออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้สนใจยิ่งขึ้น

เจริญพรโยม โยมเยอะขึ้นทุกวันนะ เดี๋ยวนี้ล้นไปที่วัดหลวงพ่อทุกวัน ธรรมะจะดีที่สุด ต้องเรียนแบบลูกศิษย์คนหนึ่งอาจารย์คนหนึ่งจึงจะเรียนกันง่ายหน่อย ถ้าลูกศิษย์เป็นร้อยเป็นพันนะ อาจารย์สู้ไม่ไหว ฉะนั้นลูกศิษย์ต้องช่วยตัวเองให้เยอะๆ พยายามฟังซีดีที่หลวงพ่อเทศน์ไว้ [๑] ซีดีมีแจกให้ พยายามฟังนะ ฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง ทำใจให้สบายๆ ลืมความรู้เก่าๆ ไปชั่วคราว เปิดใจฟัง ถ้าฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง ฟังไม่กี่ครั้งก็จะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก แล้วเราจะพบว่าธรรมะเหมือนเส้นผมบังภูเขาเท่านั้นเอง ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหรอก
pramote-pamojjo-9-1
ธรรมะไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ธรรมะเป็นเรื่องของตัวเรานี่เอง ธรรมะไม่ได้อยู่ห่างไกลที่ไหน ธรรมะอยู่ที่กาย ธรรมะอยู่ที่ใจ กายของเราเป็นธรรมะเรียกว่า “รูปธรรม” ใจของเราเป็นธรรมะเรียกว่า “นามธรรม” เพราะฉะนั้นธรรมะอยู่ที่กายอยู่ที่ใจนี่เอง ถ้าเราไปดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาธรรมะจากที่อื่น เราจะหาไม่เจอ
เพราะฉะนั้นธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อนะ ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง ทำอย่างไรเราจึงจะเปิดใจของเราออกมาเรียนรู้ธรรมะ คือเรียนรู้ความเป็นจริงของตัวเราเอง เรียนรู้ลงมาในกาย เรียนรู้ลงมาในใจ ถ้าเรียนรู้ได้ถ่องแท้แล้ว ความทุกข์จะเหลืออยู่ที่กายเท่านั้น ส่วนความทุกข์ทางใจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ความทุกข์ทางกายนี่ห้ามไม่ได้ ร่างกายเป็นผลของกรรม เรามีร่างกายขึ้นมาแล้ว เราจะต้องทุกข์ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หนีไม่พ้นสักคนเดียว แต่ความทุกข์ทางใจนี่ เราแสวงหามา เราสร้างขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ นี่เอง

ถ้าเราหัดภาวนาจนเรารู้เข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ เราจะหมดความยึดถือในกายในใจได้ ความทุกข์ทางใจจะไม่มีอีก จิตมันจะพรากออกจากกายจากใจ พรากออกจากขันธ์ ขันธ์อยู่ส่วนขันธ์ จิตอยู่ส่วนจิต จิตจะกว้างขวาง ไร้ขอบไร้เขต ภาษาบาลีเรียกว่า “วิมริยาทิกต” [๒]
การที่พวกเราสนใจศึกษาธรรมะเป็นเรื่องดีมาก เรียกว่าเราไม่ประมาท คนที่ประมาทก็คือละเลยที่จะเรียนรู้ตัวเอง ชีวิตก็เลยจมอยู่กับความทุกข์ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวทุกข์เรื่องโน้นเดี๋ยวทุกข์เรื่องนี้ไปเรื่อยๆ หาทางออกไม่ได้ ดิ้นรนแสวงหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่ว่าหาไม่เจอ สังเกตดูคนทั้งหลายนั้นเที่ยวหาความสุขตลอดชีวิตจนถึงวันตายเลยนะ แต่ก็หาไม่ได้ จนจะตายก็ยังหาความสุขไม่ได้เลย พอวันจะตายเจ็บหนักๆ ก็ยังรู้สึกว่า ถ้าตายเสียได้คงจะมีความสุข
การที่พวกเราสนใจศึกษาธรรมะเรียกว่าเราไม่ประมาท คนที่ไม่ประมาทนี้พระพุทธเจ้ายกย่องนะ ความไม่ประมาทเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานท่านยังเตือนพวกเราว่าอย่าประมาท คำว่า “ประมาท” ก็มีนัยยะกว้างขวาง วันนี้หลวงพ่อลองพูดอีกนัยยะหนึ่งให้ฟังก็ได้คือ
เราจะต้องไม่ประมาทในอกุศลธรรม ไม่ประมาทในกุศลธรรม ไม่ประมาทในธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล เรียกว่าไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายทั้งปวง อย่างอกุศลธรรม ความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็อย่าประมาท อย่าเห็นว่ามันเล็กๆ น้อยๆ ความชั่วที่ร้ายแรงที่ใหญ่โตทั้งหลายนั้น ก่อนมันจะใหญ่ มันก็เล็กมาก่อน
อย่างคนเรานี้ ส่วนใหญ่ที่หัดทำกรรมชั่วอันแรกๆ ก็คือหัดโกหก ฉะนั้นมุสาวาทนี้ทำผิดได้ง่ายๆ ทำผิดกันบ่อย หาคนที่ไม่โกหกนี่หายาก ใครจะโกหกหลวงพ่อว่าไม่เคยโกหกมีไหม หลวงพ่อก็เคยโกหก เพราะฉะนั้นกรรมชั่วที่ทำตอนแรกนั้นเล็กๆ พอเราทำจนคุ้นเคย ก็ทำได้ใหญ่ขึ้นๆ ทีแรกก็บี้มดนะ ต่อมาก็ฆ่าแมลงวัน ตัวโตขึ้นนะ ต่อไปจิตใจเราก็จะคุ้นเคยกับการฆ่า คุ้นเคยกับการโกหก คุ้นเคยกับการทำชั่วทั้งหลายสะสมไป เพราะฉะนั้นเราประมาทกับกิเลสไม่ได้ แล้วก็อย่าประมาทแบบดูถูกกิเลสด้วย
กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกุศลก็ได้ อย่างเรามีตัณหา เราอยากดี เราอยากสุข เราอยากได้มรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นกิเลสนะ แต่มันผลักดันให้เราหันมาศึกษาธรรมะ พอเราศึกษาธรรมะแล้ว วันหนึ่งเราก็พ้นจากตัณหาได้ เห็นไหม อาศัยกิเลสเป็นพื้นฐาน กิเลสบางตัวเช่น “มานะ” หรือความถือดี อย่างเราเห็นครูบาอาจารย์ท่านภาวนาแล้ว ดูท่านมีความสุข ทำอย่างไรหนอเราจะได้อย่างท่าน เรามันแย่มาก เราไม่ได้อย่างท่าน นี่ก็เป็นกิเลส เรียกว่ามานะ อาศัยมานะนี่เอง มาพากเพียรศึกษาธรรมะ วันหนึ่งเราก็ละมานะได้ ดังนั้นเราจึงดูถูกกิเลสไม่ได้ มันทำให้เกิดผลดีก็ได้ ทำให้เลวลงๆ ก็ได้ ฉะนั้นเราจะประมาทในกิเลสไม่ได้ เราต้องคอยรู้ทันกิเลสไว้
กุศลทั้งหลาย อโลภะ อโทสะ อโมหะ เราประมาทมันไม่ได้ คุณธรรมความดีแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็อย่าไปดูถูกว่าน้อยเกินไป คุณธรรมความดีที่ใหญ่โตทั้งหลายนั้น ก่อนมันจะใหญ่โตขึ้นมามันก็น้อยๆ มาก่อน
pramote-pamojjo-17-750px

อย่างพระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมี ก่อนจะเกิด “ปรมัตถบารมี” [๓] บารมียิ่งใหญ่ ก่อนจะเกิด “อุปบารมี” [๔] ก็มีบารมีธรรมดาก่อน อาศัยการสร้างคุณงามความดีเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อน ให้จิตใจคุ้นเคยกับการสร้างคุณงามความดี วันหนึ่งก็จะสร้างคุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ คุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่นี้จะช่วยเราในนาทีที่เราจะข้ามภพข้ามชาติ ในเวลาที่จิตเดินเข้าสู่อรหัตตมรรคนั้น คุณงามความดีทั้งหลายจะต้องระดมรวมตัวขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส จะมาแตกหักกับมาร [๕] ในนาทีสุดท้ายนี่เอง เพราะฉะนั้นเราต้องสะสมคุณงามความดีทุกชนิดเลย
หลวงพ่อยกตัวอย่างให้ฟัง อย่างพุทธประวัติในพระไตรปิฏกเล่าไว้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั่งอยู่บนรัตนบัลลังก์ ไม่ใช่บัลลังก์โก้เก๋อะไรนะ นั่งอยู่บน “หญ้ากุศะ” (Kusa grass หรือ Kusah grass) คนไทยเรามาแปลว่า “หญ้าคา” (Cogon grass หรือ Lalang grass) จริงๆ แล้วไม่ใช่หญ้าคา หญ้ามันคม นั่งไม่ได้ แต่คือหญ้า กุศะ เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า “หญ้ากู๊ศ” (Kush grass) ท่านนั่งลงแล้ว ท่านตั้งใจว่า วันนี้ถ้าไม่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าก็จะไม่ลุก แล้วมารก็มาผจญ ท่านได้อาศัยคุณงามความดีของท่านมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ ในนาทีที่จะสู้กับมารเพื่อจะข้ามภพข้ามชาติให้ได้นั้นน่ากลัวมาก มารจะยกมา ๕ ตัวเลยนะ
“ขันธมาร” คือกายกับใจของเรานี้ ซึ่งแต่เดิมเราจะเห็นว่ากายกับใจเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง จนมาเห็นจิตที่ทรงธรรมในระดับพระอนาคามี เห็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีแต่ความสุขล้วนๆ เลย แต่ในฉับพลันนั้นเอง จิตกลับกลายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ให้ดูได้ และในตัวขันธ์เองมันก็เป็นทุกข์อย่างแสนสาหัสเลยนะ “กิเลสมาร” ก็จะระดมกำลังเข้ามาโจมตีเรา มันจะมายั่วยวน ถอยเหอะๆ “อภิสังขารมาร” ซึ่งก็คือความคิดของเราที่กลับกลอกหลอกลวง ก็จะมาหลอกเราว่า อย่าสู้เลย ถอยดีกว่า ถ้าสู้ต่อไป ถ้าไม่บ้าก็ตาย จะรู้สึกอย่างนี้นะ ส่วนใจของเรานี่แหละคือ “เทวปุตตมาร” ที่จะเกิดความท้อถอย ไม่กล้าสู้ ส่วนความรู้สึกเหมือนความตายมารออยู่ต่อหน้าแล้วนี่คือ “มัจจุมาร”
เคยอ่านประวัติครูบาอาจารย์ไหม อย่างหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกว่าก่อนจะแตกหักได้นั้น ความทุกข์บีบคั้นสลบไป ๓ ครั้งแน่ะ แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องสลบ ๓ ครั้งนะ ไม่จำเป็นต้องสลบเลยสักครั้งก็ได้ ที่ท่านพูดให้ฟังหมายถึงว่า ความทุกข์มันรุนแรงมาก ซึ่งในขณะนั้นถ้าเราไม่เคยสร้างสมบารมีคุณงามความดีไว้เลย เราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน มันเหมือนจะตายแล้วนี่ เราจะกล้าเสียสละชีวิตเพื่อธรรมะไหม ถ้าเราเคยสร้างทานบารมีอย่างพระเวสสันดร สละสมบัติ สละลูก สละเมีย กระทั่งชีวิตก็กล้าสละ ถึงนาทีสุดท้าย เราก็กล้าสละชีวิตเพื่อธรรมะ แต่ถ้าเรารักตัวเอง หวงตัวเอง หวงสุดขีดเลย กลัวทุกข์ กลัวตาย กลัวสารพัด ก็จะไม่กล้า ใจมันจะท้อถอยออกมา มันจะข้ามภพข้ามชาติไม่ไหว
ในนาทีที่จะแตกหักนั้น ความทุกข์มันท่วมท้น ทุกข์บดขยี้เราปางตาย เรามีขันติบารมีไหม คืออดทนอดกลั้นได้ไหม เรามีสัจจบารมีไหม เรามีอธิษฐานบารมีไหม คือความตั้งใจมั่นสู้แล้วไม่ถอย หรือถ้าเราจะถอยนะ เราจะมาอยู่กับโลกอย่างมีความสุขมากเลย มีความสุขเยอะเพราะว่าจิตใจที่มันเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานจะมีแต่ความสุขเยอะมาก แต่ว่ามันจะต้องไปเกิดอีก ข้ามภพข้ามชาติไม่ได้
pramote-pamojjo-16-2-750px
คุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ เราเอามาใช้ในนาทีที่เราจะข้ามภพข้ามชาติ คุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ มันเกิดจากคุณงามความดีเล็กๆ น้อยๆ ที่เราหัดสร้างกันนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างคุณงามความดีนะ หัดถือศีลไว้ หัดรักษาใจของเราให้สงบสำรวมไว้ หัดเจริญปัญญา หัดรู้กายหัดรู้ใจไป ค่อยๆ ฝึกฝนไป คุณงามความดีก็จะเยอะขึ้น ถ้าเราพอใจในคุณงามความดีที่เรามีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “ประมาท” ฉะนั้นเราต้องพัฒนาคุณงามความดีไปเรื่อยๆ จึงจะเรียกว่า “ไม่ประมาท”
แม้เรามีคุณงามความดีแล้ว ก็อย่าประมาทว่ามันจะต้องดีตลอด เพราะกุศลสามารถจะพลิกเป็นอกุศลเมื่อใดก็ได้ อย่างเรามีความเมตตากรุณา ความเมตตาพร้อมจะพลิกเป็นราคะ อย่างเช่นเราเมตตาลูกของเรา แล้วก็พลิกเป็นราคะ หวงว่าเป็นลูกของเรา หรืออย่างเราเมตตาผู้หญิงคนนี้มาก แล้วก็พลิกเป็นราคะ ไปหวงเขาไปรักเขาขึ้นมา ความกรุณาก็พร้อมที่จะพลิกเป็นโทสะได้ อย่างเช่นเราเป็นห่วงใครสักคนหนึ่ง คอยเตือนเขา ถ้าเขาไม่เชื่อ เราก็โมโหนะ โมโหนี่เป็นโทสะแล้ว เพราะฉะนั้นเราประมาทไม่ได้ ถึงจะมีกุศลอยู่ ก็ยังประมาทไม่ได้ มันยังพลิกเป็นอกุศลได้ เห็นไหมนี่ ๒ เรื่องแล้วนะ เรื่องประมาทในอกุศลกับประมาทในกุศล

ประมาทในธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศลก็ได้ อะไรคือธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็ขันธ์ ๕ นี่เอง กายกับใจนี่เอง ยกเว้นจิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล และเจตสิก [๖] ที่ประกอบกับจิตที่เป็นกุศลและอกุศล ส่วนขันธ์ทั้งหลายนอกจากนี้เป็นวิบาก เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วอะไร อย่างเรามีร่างกายขึ้นมา อย่าประมาทว่ามันจะคงทนถาวร ไม่นานมันก็แตกสลายไป ตายง่ายนะ คนเราตายง่ายมากเลย หลวงพ่อเคยรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแม่ครัวอยู่ที่วัดวังน้ำมอก เป็นวัดสาขาของหลวงปู่เทสก์ แข็งแรงนะ ทำงานกระปรี้กระเปร่า คล่องแคล่ว ว่องไว เช้าวันหนึ่งกินข้าวแล้วสำลักข้าวตายเลย แค่นั้นก็ตายได้นะ หรือคนหนึ่งเดินๆ หกล้มป๊อกเดียวตายเลยก็มี

เพราะฉะนั้นเราประมาทไม่ได้ ความตายจะถึงตัวเราเมื่อใดก็ได้ไม่เลือกนะ ไม่มี seniority [๗] ไม่ใช่ว่าแก่แล้วต้องตายก่อนเด็ก เด็กๆตายก่อนหลวงพ่อไปเยอะแล้ว เราประมาทไม่ได้ เราอย่าประมาทในร่างกายนี้ อย่าประมาทในเวทนาหรือความสุขความทุกข์ทั้งหลาย ความสุขมันก็ของชั่วคราว ความทุกข์มันก็ของชั่วคราว ประมาทไม่ได้ ไม่ใช่ความสุขมา ก็หลงระเริง ความทุกข์มา ก็หลงเกลียดชังมัน นี่เรียกว่ายังมัวเมา ยังประมาทอยู่ เราคอยรู้ทันนะ จิตที่ไปรู้อารมณ์ทางตา จิตที่ไปรู้อารมณ์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อันนี้ไม่ดีไม่ชั่วอะไร เป็นของเกิดแล้วก็ดับไปนะ ไม่มีอะไร เห็นไหมทั้งหมดนี้เราประมาทไม่ได้ ทั้งธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นกุศล และธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล
ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าไม่ประมาท ก็คือต้องมีสติ ถ้าขาดสติคือประมาท ถ้ามีสติเรียกว่าไม่ประมาท เราต้องมีสติ รู้ลงในกายในใจของเรา
ร่างกายเป็นธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล ส่วนจิตใจนี้มีทั้งที่เป็นกุศล เป็นอกุศลและที่เฉยๆ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล หน้าที่ของเราต้องคอยรู้ทัน หัดรู้ทันกายหัดรู้ทันจิตใจของเราไปเรื่อยๆ คำว่า “สติ” นี่มาจากภาษาแขก ก็ไม่รู้จะแปลว่าอย่างไรดี อธิบายอย่างนี้ว่า
สติเป็นตัวระลึกรู้กายระลึกรู้ใจ ถ้าเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ เรียกว่าเรามีสติ ถ้าเมื่อใดเรามีกายอยู่ แต่เราลืมกาย เรามีใจอยู่ แต่เราลืมใจ เรียกว่าขาดสติ
ฉะนั้นให้รู้กายรู้ใจตัวเองเรื่อยๆ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ รู้สึกบ่อยๆ อย่าใจลอย ถ้าใจลอย เราก็จะลืมกายลืมใจตัวเอง ให้เรารู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย แต่ว่าใจมันมีธรรมชาติชอบลอย ถ้ามันลอยไปก็อย่าให้มันลอยนาน คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกในกายรู้สึกในใจไปเรื่อย รู้สึกแล้วอย่าไปบังคับมันนะ รู้สึกเล่นๆ รู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกอย่างที่มันเป็น ตรงที่เรามีสติก็คือเราจะรู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ ถัดจากนั้น เราจะมาเจริญปัญญา
การเจริญปัญญาก็คือ กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น

กายเป็นอย่างไร กายเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออกตลอดเวลา กายมีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ ทำอะไรอยู่ก็ทุกข์ มีความทุกข์ตามบีบคั้นตลอดวันตลอดคืน ไม่มีเว้นวรรคให้หรอก การที่เราคอยรู้อย่างนี้ เรียกว่า กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วกายเป็นอย่างไรอีก กายเป็นไตรลักษณ์ [๘] นั่นเอง แต่ว่ามันเด่นในเรื่องความเป็นทุกข์กับความไม่ใช่ตัวเรา คือมันเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งก็ต้องคืนให้โลกเขาไป
จิตใจล่ะ จิตใจเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ถามว่าแล้วจิตใจเป็นอย่างไร จิตใจเป็นของไม่เที่ยง จิตใจเราเปลี่ยนแปลงทั้งวันทั้งคืน คนที่ดูจิตดูใจเป็นแล้วน่ะ รู้สึกหรือยังว่า จะหาคนที่ใจร้ายเท่าเรานั้นหายาก กิเลสเกิดทั้งวันเลย กุสลไม่ค่อยจะเกิด สังเกตไหมจิตใจเป็นของบังคับไม่ได้ จะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว เราเลือกไม่ได้
ให้เราคอยรู้อย่างที่เขาเป็น รู้กายอย่างที่เขาเป็น คือเขาเป็นทุกข์ เขาไม่ใช่ตัวเรา รู้จิตอย่างที่เขาเป็น คือเขาไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา คอยรู้ลงไป พอรู้บ่อยๆ ถึงวันหนึ่งจะรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วจะเห็นได้ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา พอรู้สึกตัวขึ้นมาจะเห็นได้ว่า ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์นี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในกายในใจชั่วครั้งชั่วคราว พอรู้สึกตัวขึ้นมาจะเห็นได้ว่า กุศลและอกุศลทั้งหลาย เช่น โลภ โกรธ หลงทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา ความโกรธไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นได้ว่าความโกรธมันไม่เคยบอกว่ามันเป็นเรา ความโลภมันก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรา เพราะฉะนั้นคอยรู้ลงไปในกายรู้ลงไปในใจนะ
ฝึกหัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่า กระทั่งตัวจิตเอง เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ตา แล้วก็ดับลงที่ตา เดี๋ยวจิตก็เกิดที่หู แล้วก็ดับลงที่หู เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ใจ แล้วก็ดับลงที่ใจ จิตเกิดตรงไหนก็ดับลงตรงนั้น จะเห็นมันเกิดดับๆ ตลอดเวลาเลย กระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตจะเกิดทางตา จิตจะเกิดทางหู หรือจิตจะเกิดทางใจ เราก็เลือกมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้ เกิดแล้วจะเป็นกุศลหรืออกุศล เราก็สั่งไม่ได้ หัดสังเกตนะ หัดคอยรู้คอยดูไปนะ
pramote-pamojjo-18-750px

สำหรับวิธีสังเกตนะ หลวงพ่อแนะนำให้ไปหาหนังสือของอาจารย์สุรวัฒน์มาอ่านนะ [๙] มีภาพเณรเยอะ แต่เณรไม่ได้เกี่ยวอะไรกับในเนื้อเรื่องนะ เป็นภาพปกและภาพในหนังสือ ลองไปดูนะ มีวิธีปฏิบัติที่ง่ายๆ หรือหนังสือที่หลวงพ่อเขียนเล่มที่ง่ายๆ คือเรื่อง “แด่เธอผู้มาใหม่” [๑๐] ไปหามาอ่านนะ อ่านแล้วค่อยๆ สังเกตไป วันหนึ่งเราก็จะสามารถรู้กายได้อย่างที่มันเป็น รู้ใจได้อย่างที่มันเป็น
วิธีการสังเกตเริ่มแรกสุดเลยคือ ต้องไม่ลืมกายต้องไม่ลืมใจ ต้องมีสติเสียก่อน กายมีอยู่ ก็คอยรู้สึกไว้ จิตใจมีอยู่ ก็คอยรู้สึกไว้ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ ถ้าเรารู้สึกด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ตั้งมั่น สักว่ารู้ สักว่าดู มันก็จะเกิดปัญญา กายเป็นอย่างไร จะรู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างไร จะรู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้แล้วจะเป็นยังไง รู้แล้วก็จะเห็นว่าทั้งกายทั้งจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี นี่จะเห็นอย่างนี้ หัดใหม่ๆ เรียนจากหลวงพ่อ พอสติเกิดก็จะเริ่มเห็นว่าตัวเราไม่มีได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนยากเย็นแสนเข็ญอะไรเลย ไม่ต้องไปนึกเอาเองด้วย
หลายคนมาถามว่า จะพิจารณาไตรลักษณ์ต้องทำอย่างไร ไตรลักษณ์ไม่ได้เอาไว้คิดนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถเห็นกายเห็นใจ เห็นสภาวะธรรมของรูปธรรมนามธรรมได้ จะเห็นไตรลักษณ์โดยอัตโนมัติ
ฉะนั้นต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ฝึกไป จนกระทั่งสติตัวจริงเกิดหลวงพ่อพูดมาเยอะแล้วว่า สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้ วิธีทำให้จิตจำสภาวะได้คือ เบื้องต้นหากรรมฐานมาสักอย่างหนึ่ง ใครเคยพุทโธก็พุทโธไป ใครเคยหายใจก็หายใจไป ใครเคยดูท้องพองยุบก็ดูท้องพองยุบไป ใครเคยขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ขยับมือไป แต่ไม่ได้ทำเหมือนที่หลายคนทำนะ หลายคนที่เคยทำส่วนใหญ่จะไปเพ่ง รู้ลมหายใจก็ไปเพ่งลมหายใจ รู้ท้องก็ไปเพ่งท้อง รู้เท้าก็ไปเพ่งเท้า รู้มือก็ไปเพ่งมือ รู้อะไรก็เพ่งอันนั้น
ดังนั้นแทนที่เราจะไปเพ่งให้จิตนิ่ง เราก็แค่รู้สึกในอารมณ์นั้น มีอารมณ์นั้นเป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่เรียกว่า “วิหารธรรม” แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป เช่น เราหัดพุทโธๆ ไป ใจเราแอบไปคิดแวบ ให้รู้ว่าใจแอบไปคิดแล้ว พุทโธๆ ใจเราสงบลงมา ให้รู้ว่าใจสงบ พุทโธแล้วซึมๆ ไป ให้รู้ว่าซึมๆ นี่เป็นการหัดรู้สภาวะ แล้วต่อไปเมื่อใจเราแอบไปคิดแวบ สติจะเกิดเอง หลวงพ่อยืนยันนะว่า สติเกิดเอง
สติเกิดเอง แต่ว่ามีเหตุให้เกิด เหตุคือ จิตจำสภาวะได้ ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ เพราะสติเป็นอนัตตา มีเหตุจึงจะเกิด ฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ ทำเหตุของสติ
ทำเหตุของสติคือ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จะรู้ลมหายใจก็ได้ ถ้าจะรู้ลมหายใจ ขอแนะนำว่าให้หายใจออกก่อน ถ้าหายใจออกก่อนจิตจะผ่อนคลาย ถ้าหายใจเข้าก่อน จิตจะแข็งกระด้าง ในพระไตรปิฏกก็พูดเรื่องหายใจออกหายใจเข้า หายใจออกแล้วใจผ่อนคลาย รู้ว่าจิตใจผ่อนคลาย หายใจไปแล้วจิตแอบไปคิด รู้ว่าจิตไปคิด หายใจแล้วจิตไหลไปเกาะนิ่งๆ เพ่งอยู่กับลมหายใจ รู้ว่าจิตไปเพ่งลมหายใจ หายใจแล้วจิตมีปิติ รู้ว่าจิตมีปิติ หายใจแล้วจิตมีความสุข รู้ว่าจิตมีความสุข หายใจแล้วจิตเป็นอุเบกขา รู้ว่าจิตเป็นอุเบกขา หายใจไปรู้ทันจิตไป ดูท้องพองยุบก็แบบเดียวกันนะ ใจหนีไปคิดก็รู้ ใจไปเพ่งท้องก็รู้ ใจเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกุศลอกุศลก็รู้ ต่อไปพอจิตขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หรือเกิดความรู้สึกอะไร สติจะเกิดเอง สติจะเกิดอัตโนมัติเลย
ฝึกอย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้นะ หลวงพ่อเทียนเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีที่สุดองค์หนึ่งที่หลวงพ่อเคยพบเห็นนะ หลวงพ่อเทียนขยับปุ๊ปหลวงพ่อเทียนตื่น หลวงพ่อเทียนสอนว่า เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวให้รู้สึก จิตเคลื่อนไหวให้รู้สึก ท่านสอนอย่างนี้ ท่านไม่ได้สอนว่า กายเคลื่อนไหวให้เพ่ง จิตเคลื่อนไหวให้เพ่ง แต่งสอนให้รู้สึก เพราะฉะนั้นเราขยับมือไป ใจเราแอบไปคิดปุ๊ป เรารู้ทัน ขยับมือไป ใจเราไปเพ่งใส่มือ เรารู้ทัน ขยับไปแล้วใจเป็นอย่างไรเรารู้ทัน ฉะนั้นเหมือนๆ กันหมดนะ กรรมฐานอะไรก็ได้ อย่าทะเลาะกัน เหมือนๆ กันทั้งนั้นแหละ ไม่ดีไม่เลวกว่ากันหรอก ทำถูกก็ได้ผลอย่างเดียวกัน
ให้เราหัดรู้สภาวะจนสติเกิด พอสติเกิดแล้ว เราก็พัฒนาให้มีสัมมาสมาธิคือ ให้มีใจที่ตั้งมั่น ซึ่งมีอยู่ ๒ วิธี วิธีหนึ่งสำหรับคนที่ทำฌานได้คือ ทำฌานไป พอจิตถึงฌานที่สอง จะเกิดสภาวธรรมตัวหนึ่งเรียกว่า “เอโกทิภาวะ” เป็นภาวะที่จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้ว กำลังของฌานจะหนุนให้ตัวผู้รู้ผู้ดูนี้ยังตั้งมั่นอยู่ได้อีกช่วงยาวๆ เราก็จะเห็นเลย กายเป็นของถูกรู้ เวทนาเป็นของถูกรู้ กุสลเป็นของถูกรู้ อกุศลเป็นของถูกรู้ อะไรๆ ก็เป็นของถูกรู้ มีจิตผู้รู้อยู่ต่างหาก นี่คือวิธีการหนึ่ง
อีกวิธีการหนึ่งสำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้คือ เวลาจิตมันฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน เวลาจิตมันไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง ถ้าจิตไม่หลงไม่ไหลไปจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะ จะรู้สึกตัวขึ้นมา เวลารู้สึกตัวนะ ใจจะเป็นกลางๆ โล่งๆ ว่างๆ จะตื่นขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่จิตของพวกเราจะไหลออกไปข้างนอก ครูบาอาจารย์เรียกว่า “ส่งจิตออกนอก” ไหลไปหลงไป เช่นหลงไปดูใครต่อใครแล้วลืมตัวเอง นักปฏิบัติอีกพวกหนึ่งจะส่งจิตเข้าข้างใน จะเพ่งเข้าไป เพ่งเข้ามาในกาย เพ่งเข้ามาในใจ หลวงปู่เทศก์เรียกว่า “ส่งใน” จิตที่เป็นสัมมาสมาธิจริงๆ ไม่ใช่จิตส่งออกนอก ไม่ใช่จิตส่งในอย่างที่พวกเราเป็น
จิตที่เป็นสัมมาสมาธิ เป็นจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น ไม่ส่งออกนอก ไม่ส่งใน ตั้งอยู่หรือทรงตัวอยู่ โดยที่ไม่ได้บังคับให้ทรงตัวอยู่
สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่หลวงพ่อเห็นว่าพวกเราพลาดกันมากที่สุดเลย พวกเรานี่สัมมาสมาธิจะเกิดยากมากเลย เพราะพวกเราคุ้นเคยกับมิจฉาสมาธิ คุ้นเคยกับสมาธิที่เพ่งเอา เราไม่คุ้นเคยกับสมาธิที่จิตตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ เราคุ้นเคยแต่สมาธิที่จิตเข้าไปตั้งแช่อยู่ในตัวอารมณ์ จิตที่ไปตั้งแช่นิ่งอยู่กับอารมณ์เรียกว่า “อารัมมฌูปนิชฌาน” คือจิตที่ใช้ทำสมถะ เป็นการทำสมถะ เช่น เราดูท้องพองยุบแล้วเราไปเพ่ง จิตไปเกาะที่ท้อง รู้ลมหายใจแล้วจิตไปเกาะนิ่งอยู่กับลมหายใจ นี่เป็นสมถะ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฟังไปนะ
จิตที่เป็นสัมมาสมาธิเกิดแล้ว ปัญญาจึงจะเกิดได้ เพราะสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการคิด ปัญญาที่เกิดจากการคิดเรียก “จินตามยปัญญา” ไม่ใช่ “ภาวนามยปัญญา” ภาวนามยปัญญานี่เกิดจากจิตมันตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ เป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู เห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายปรากฏขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เห็นสภาวธรรมทั้งหลายในแต่ละปรากฏการณ์ ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวเราทั้งสิ้น ใจมันเห็นอย่างนี้มันจึงจะมีปัญญา
นักปฏิบัติส่วนหนึ่งจะติดสมถะ เพราะว่าอะไร เพราะว่าเวลาเราเรียนธรรมะ เราเรียนข้ามขั้นคือ พอเราถือศีล มี “ศีลสิกขา” แล้ว เราก็ไปกำหนดรูปนามเอาเลย หรือไปเจริญ “ปัญญาสิกขา” เราข้าม “จิตตสิกขา” ไปบทเรียนหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้เรียนจิตตสิกขาให้ถ่องแท้เสียก่อน จิตจะไม่มีสัมมาสมาธิ จิตจะไปเพ่งรู้ท้องก็เพ่งท้อง รู้เท้าก็เพ่งเท้า รู้ลมก็เพ่งลม รู้มือก็เพ่งมือ รู้อะไรก็เพ่งอันนั้น จะไม่สักว่ารู้สักว่าเห็น พวกเราอย่าเรียนข้ามขั้นนะ
ถ้ามีสัมมาสมาธิ จิตจะตั้งมั่น สักว่ารู้สักว่าเห็น ปัญญาจะเกิด จะเห็นว่า ทุกอย่างนี่ไม่ใช่ตัวเรา แต่ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ จิตไม่ตั้งมั่น ไปดูอะไรมันก็จะเป็นเราไปหมดเลย เห็นความโกรธเกิดขึ้น มันก็เป็นเราโกรธ เห็นขามันเมื่อย ก็เป็นขาของเราเมื่อย จะเป็นอย่างนี้ตลอด
เวลาที่ใจเราไม่ตั้งมั่นแล้วไปรู้สิ่งต่างๆ เราจะสะสมความรู้ผิดๆ ความเห็นผิดๆ ตลอดเวลา ว่ามันมีตัวเรา มันมีตัวเรา แต่ถ้าเรามีสติถูกต้องเรียกว่า “สัมมาสติ” มีสมาธิถูกต้องเรียกว่า “สัมมาสมาธิ” ปัญญาที่เกิดขึ้นจะเป็น “สัมมาทิฏฐิ” เป็นปัญญาที่ถูกต้อง
pramote-pamojjo-15-750px
มีปัญญาที่ถูกต้องก็คือ การที่เราเห็นว่ากายกับใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา นี่เป็นปัญญาพระโสดาบัน แต่พระโสดาบันนี้ไม่ใช่นึกๆเอาเองนะ เช่นดูมา ๓ วันแล้ว พอสมควรแล้ว บัดนี้เป็นพระโสดาบันแล้ว แขวนป้ายให้ตัวเอง อย่างนั้นไม่ใช่นะ มันมีกระบวนการที่จิตตัดสินความรู้ สิ่งเหล่านี้ในคัมภีร์อภิธรรมของเราสอนไว้ทั้งหมด แต่เราละเลยที่จะเรียน ฉะนั้นอดทนนิดหนึ่ง ฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง หลวงพ่อเรียกร้องตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องเปิดกว้าง ถ้าฟังด้วยใจแคบ จะต้องโมโหหลวงพ่อ แล้วจะต้องมีคนมาขอขมาเรื่อยๆ

คอยดูมันลงไปนะ ถึงวันหนึ่งเราจะเห็นว่า กายกับใจไม่ใช่ตัวเรา อันนี้ยังไม่ได้ละ “อวิชชา” [๑๑] ละแค่ “สักกายทิฏฐิ” [๑๒] เห็นว่าไม่ใช่เรา แต่ว่ามันยังรักมันยังหวงแหนในกายในใจนี้ ต้องดูต่อไปอีก ดูต่อไปถึงวันหนึ่งเราจะเห็นว่า กายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ถ้าเห็นว่ากายเป็นทุกข์ล้วนๆ มันจะหมดความยึดถือในกาย เมื่อหมดความยึดถือในกาย ก็จะไม่ยึดถือในตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะไม่ยึดถือในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะหรือสิ่งที่มาสัมผัสกาย กามและปฏิฆะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็จะไม่มี นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี ฉะนั้นจิตใจของพระอนาคามีจะเด่นดวงอยู่อย่างนั้น มีแต่ความสุขอยู่กับจิตผู้รู้ มีความสุขมาก
ถ้าตามรู้ตามดูต่อไป ไม่นิ่งนอนใจ ก็จะเจอกับปรากฏการณ์ที่หลวงพ่อเล่าเมื่อครู่นี้ มันจะเห็นเลย จิตนั้นจะพลิกตัวเป็นความทุกข์ให้ดู ไม่ใช่จิตเป็นทุกข์บ้างสุขบ้าง หรือเป็นสุขมากๆ นะ จิตจะกลายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ให้ดูเลย ถึงจุดนั้น ถ้าอดทนได้ ตามรู้ตามดูไปด้วยใจที่ตั้งมั่น สู้ตาย ตายเป็นตาย ยอมตายเพื่อสัจจะความจริง ตามรู้ตามดูเรื่อยไป ไม่ดิ้นรนหนีต่อไปแล้ว เพราะว่าไม่มีทางหนีแล้ว
เมื่อเห็นจิตเป็นทุกข์แล้ว ก็ไม่มีทางหนีทุกข์แล้ว จะหนีไปอยู่บนภูเขามันก็มีจิต จิตมันตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง มันไม่มีที่จะหนีเลย เมื่อความทุกข์บีบคั้นจนไม่มีที่จะหยั่งลงในสังสารวัฏนี้อีกต่อไปแล้ว จิตมันจะสลัดจิตทิ้ง เรียกว่า “ปฏินิสสัคคะ” สลัดคืน ใจก็เข้าถึงธรรมล้วนๆ คราวนี้มีแต่ความสุขล้วนๆ
ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ปรัชญานะ แต่เป็นศาสตร์ที่เราลงมือปฏิบัติตามเรียนรู้ตามแล้วเราได้ผลจริงๆ เราพ้นทุกข์จริงๆ ไม่ใช่ปรัชญาที่คิดเล่นๆ สนุกๆ หรืออย่างเรื่องนรกเรื่องสวรรค์นี้ไม่ใช่อุบายหลอกเด็กนะ ศาสนาพุทธเป็นของจริงของแท้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องมาหลอกเด็ก คนไหนไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ แต่ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้นเป็นของจริง ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เรื่องของเรา ท่านไม่มาง้องอนให้เชื่อด้วยซ้ำไป แต่ท่านท้าให้พิสูจน์ “เอหิปัสสิโก” คือ พึงกล่าวกับผู้อื่นว่า มาลองดูไหม มาลองพิสูจน์ดู วิธีพิสูจน์ก็บอกให้แล้วนะ ให้มารู้กาย ให้มารู้ใจ ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นกลาง รู้ลงไปสิ วันหนึ่งก็จะแจ้งของเราเอง
ถ้าเรารู้จิตใจของเราชำนิชำนาญแล้ว จะรู้ทันจิตใจคนอื่นด้วย แล้วจะรู้เลย สัตว์ต่างๆ มีจริงนะ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เทวดา พรหม มีจริงๆ เพราะว่าถ้าเราดูใจเราออก เราก็ดูใจคนอื่นออก มันจะไม่สงสัยอีกต่อไป จะไม่คิดเลยว่าพระพุทธเจ้าหลอกเด็ก
แม้เราไม่ใช่เด็กที่ใครจะหลอกได้ แต่เราโง่กว่าเด็กอีก เพราะเด็กยังพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ส่วนเราเรียนอะไรยากมากเลย เราจะมีความคิดความเห็นอะไรของเราเต็มไปหมด ซึ่งขวางกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของตัวเองเยอะแยะเลย
ขออนุโมทนากับพวกเราที่สนใจธรรมะ ดีแล้วนะ แต่ละคนไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร อย่าประมาท วิธีที่ไม่ประมาทที่ดีที่สุดคือ ศึกษาธรรมะ ศึกษากายศึกษาใจของเราให้ดี หลวงพ่อมีญาติผู้ใหญ่ที่พึ่งตายไปนะ แต่ก่อนมาศาลาลุงชินประจำ ตอนตายตายด้วยความมีสติรู้สึกตัวตลอดเลย ตายได้อย่างสวยงาม ก็อาศัยการที่เราฝึกฝนเอาวันละเล็กวันละน้อยนี้เอง ถึงเวลาคับขันจวนตัวขึ้นมาแล้วไม่มีใครช่วยเราได้เลย มีแต่บุญหรือกุศลที่เราฝึกฝนอบรมมานี้แหละที่จะช่วยเราได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าประมาท เราคอยฝึกไป คอยรู้ไปดูไป
[1] สามารถดาวน์โหลดฟังธรรมเทศนาได้จากเว็บไซต์ http://www.dhamma.com  [กลับขึ้นด้านบน]
[2] วิมริยาทิกตจิต คือจิตไร้ขอบเขต จิตไร้พรมแดน  [กลับขึ้นด้านบน]
[3] บารมียอดเยี่ยม บารมีขั้นสูงสุด เช่น การสละชีวิตเพื่อเป็นทาน หรือเพื่อรักษาศีลเป็นต้น  [กลับขึ้นด้านบน]
[4] บารมีขั้นกลาง คือบำเพ็ญบารมีสูงกว่าบารมีธรรมดา แต่ยังไม่ถึงปรมัตถบารมี เช่น บริจาคอวัยวะเป็นทาน หรือสละอวัยวะเพื่อรักษาศีล เป็นต้น  [กลับขึ้นด้านบน]
[5] สิ่งที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ อย่าง คือกิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวปุตตมาร และมัจจุมาร  [กลับขึ้นด้านบน]
[6] ธรรมที่ประกอบกับจิตหรืออาการต่างๆ ของจิต  [กลับขึ้นด้านบน]
[7] ลำดับความอาวุโส  [กลับขึ้นด้านบน]
[8] ลักษณะ ๓ ประการได้แก่ อนิจจัง (ความเป็นของไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้) และอนัตตา (ความเป็นของมิใช่ตัวตน)  [กลับขึ้นด้านบน]
[9] สามารถดาวน์โหลดอ่านหนังสือได้จากเว็บไซต์ http://www.dhamma.com/karavassdham/  [กลับขึ้นด้านบน]
[10] สามารถดาวน์โหลดอ่านหนังสือเล่มนี้ได้จากเว็บไซต์ http://www.dhamma.com  [กลับขึ้นด้านบน]
[11] ความไม่รู้จริง หรือความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง, อวิชชา ๘ คือ ๑.ไม่รู้ทุกข์ ๒. ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ๓.ไม่รู้ความดับทุกข์ ๔.ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ๕.ไม่รู้อดีต ๖.ไม่รู้อนาคต ๗.ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต ๘.ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท  [กลับขึ้นด้านบน]
[12] ความเห็นว่าเป็นตัวของตน หรือความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน เป็นต้น  [กลับขึ้นด้านบน]
จากหนังสือ นาทีทองในสังสารวัฏ เล่ม ๓
(ธรรมเทศนาวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐)
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ดาวน์โหลดอ่านหนังสือ นาทีทองในสังสารวัฏ pdf

แม้แต่หยาดน้ำตา ก็มีความงามซ่อนอยู่

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราใช้ชีวิตเหมือนนายช่างผู้ร้อยดอกไม้ หลวงพ่อจำฝังใจจึงใช้ชีวิตอย่างนี้มาตลอด คือจำทุกขณะจิตที่ใช้ชีวิตเพราะความงามเหล่านั้นมันจะไม่หวนกลับมาอีก แม้แต่หยาดน้ำตาที่เราเสีย มันก็มีความงามซ่อนอยู่ มีอัญมณีบนหยาดน้ำตาบนแก้มของเรา แล้วไม่ใช่มันจะกลับมาอีกบ่อยนะ มีใครอกหักบ่อยๆ ไหม มันมีคุณค่ามีความงามนะเรียนรู้มันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยอกหัก ใครที่เคยอกหักจะรู้ว่าช่วงนั้นมันจะเป็นช่วงสุกงอม เพราะก่อนหน้านั้นมันยังจะไม่สุก มันจะสุกงอมตรงช่วงการพลัดพรากพอดีเลย เราจะไม่โวยวาย ถ้าเรารู้จักเก็บเกี่ยวทุกขณะให้เป็น แม้แต่การหกล้มหรืออะไรก็ตามมันมีความงามซ่อนอยู่หมดเลย
ใครเคยรู้บ้างว่าแสงสว่างเปิดเผยความงามจริงหรือเปล่า เช้าๆแสงสว่างเจิดจ้าเปิดเผยความงามจริงหรือเปล่า ไม่จริงนะ แสงสว่างไม่ได้เปิดเผยทุกอย่าง แต่มันปกปิดความมืดที่งดงามเอาไว้ ใครเชื่อบ้าง ความมืดมีความงดงาม อย่างน้อยก็มีดวงดาว หิ่งห้อย แมลงที่ออกหากินกลางคืน เพราะฉะนั้น ชีวิตเราก็เหมือนกัน มันมีทั้งรุ่งอรุณและมีทั้งราตรี เราต้องต้อนรับรัตติกาลและใช้ชีวิตให้เป็น อันนี้สำคัญมาก พอช่วงรัตติกาลมาถึง ต้องต้อนรับเลย เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้ ในขณะที่ราตรีเข้ามาในชีวิต เราไม่ต้องรู้สึกตกใจกลัว ให้ทำใจว่าไม่นานหรอก อีกสักพักหนึ่งตะวันจะเข้ามาทำลายความมืดให้หมดไป
lpamnart-3-2
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส
จากหนังสือ ดุจวิถีนายช่างร้อยดอกไม้ (อ่านpdf)

ศึกษาธรรมะ ข้อธรรม คำสอน
หลวงพ่ออำนาจ โอภาโส
วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว

(การ์ดคำสอน) ผิดเพราะรู้ VS ผิดเพราะไม่รู้

black-white-1
มีคำถามอยู่คำถามหนึ่ง คนที่ทำผิดทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้นผิด กับคนที่ทำผิดเพราะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นผิด ใครจะผิดมากกว่ากัน ท่านลองตอบคำถามนี้ดู
โดยปกติแล้ว เราจะพบว่าคำตอบตามสามัญสำนึกของทุกคนก็คือ คนที่ทำผิดทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้นผิดนั่นแหละคือคนที่ไม่น่าจะให้อภัยเลย แต่ถ้าหากผู้ตอบปัญหานี้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอย่างพระสารีบุตร ท่านก็จะตอบว่า
คนที่ทำผิดทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดนั้น ดีกว่าคนที่ทำผิดโดยไม่รู้ว่าผิด เพราะเขาจะทำผิดไปอย่านั้นชั่วนิจนิรันดร์
หากใครสักคนมีนิสัยฉ้อโกง คอร์รัปชั่น โกงแล้ววว่าเขาให้เองบ้าง กินตามน้ำบ้าง ทำโดยไม่มีความรู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งผิดเลย เปรียบเทียบกับคนที่ยากจนข้นแค้นไม่มีนมจะให้ลูก เขาแอบไปหยิบฉวยอาหารของคนอื่นมาให้ลูกกิน ในใจก็รู้สึกไม่ดีเลยที่ไปเอาของคนอื่นมา รู้ทั้งรู้ว่าการกระทำนั้นผิด แต่ก็ต้องฝึนใจทำเพราะตอนนั้นหมดทางเลือกแล้วจริงๆ
ผมไม่ได้พูดถึงประเด็นถูก-ผิดนะ เพราะทั้งสองกรณีนี้ก็ทำผิดด้วยกันทั้งคู่ ขึ้นอยู่ว่าจะมากจะน้อย หรือจะต้องรับกรรมแตกต่างกันอย่างไร เราไม่ได้ว่ากันถึงเรื่องนั้น
แต่ประเด็นคำถามที่สืบเนื่องมาคือ ท่านคิดว่าคนไหนมีโอกาสที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีกครั้งในอนาคต
หากประเด็นนี้ก็จะตอบได้ง่ายมาก นั่นคือ คนจนที่รู้สึกผิด รู้สึกละอายใจในสิ่งที่ตนเองทำ วันข้างหน้าเขาก็จะไม่ทำผิดอีก แต่สำหรับคนที่โกงเขามาแล้วกลับหลงระเริงเห็นว่านั่นคือความโชคดีของตน คนๆ นี้จะทำผิดไปตลอดจนกว่าจะมองเห็นความจริงได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลเมื่อรู้ว่าตัวเองพาล เขาจะมีโอกาสเป็นบัณฑิต แต่คนพาลที่ไม่รู้ว่าตัวเองพาล คนๆ นั้นจะเป็นคนพาลไปอีกนานแสนนาน เมื่อทำผิดก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ อยู่อย่างไรก็ไม่มีความสุข เพราะสร้างไว้แต่เหตุที่เป็นอกุศล
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “นิพพานชั่วพริบตา”
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

นิพพานชั่วพริบตา

ท่านสามารถหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่
– ร้านนายอินทร์ : http://goo.gl/oSFjEP
– ร้านซีเอ็ด : https://se-ed.com/s/bXrE
– ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
– หรืออ่านได้ที่ห้องสมุดทั่วไป

สมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมได้ที่
สวนยินดี

ศึกษาธรรมะเพิ่มเติม
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม