(การ์ดคำสอน) ต้องรู้ว่ามีจุดอ่อนอะไรจุดแข็งอะไร

make-it-strong-750px
คลิกดาวโหลดภาพขนาดใหญ่ได้ที่นี่

เราต้องรู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไรจุดแข็งอะไร ถ้าเรารู้เราก็ดู เราก็หากรรมฐานที่เหมาะกับเรา
อย่างเรารู้แล้วว่าจิตเราไม่ตั้งมั่นพอ จิตเราฟุ้งไป ไม่มีแรงทำกรรมฐานก็ทำฝึกจิตให้มีแรง
แล้วก็มาดูว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่นดูเอาเอง
การฝึกจิตให้มีสมาธิมีสองลักษณะ อันหนึ่งให้จิตสงบ อันหนึ่งให้จิตตั้งมั่น
ถ้าจิตเราฟุ้งซ่านมากเราฝึกให้จิตสงบ วิธีฝึกให้สงบฟคือน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอยู่ต่อเนื่อง แล้วเป็นอารมณ์ที่ไม่เป็นอกุศล เป็นอารมณ์ที่ดีๆ
ถ้าเราพุทโธแล้วมีความสุข เราก็พุทโธไป จิตเราก็สงบ รู้ลมหายใจแล้วมีความสุข จิตก็สงบ เราดูเอา บางคนสวดมนต์ไปเรื่อยจิตก็สงบ เพราะว่ามีความสุข
อีกสมาธิหนึ่งก็คือการฝึกจิตให้ตั้งมั่น จิตไหลแล้วรู้ จิตไหลแล้วรู้ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตไหลแล้วรู้มันจะตั้งมั่น
ฝึกสมาธิให้ได้ทั้งสองอันดีที่สุดแล้ว อันหนึ่งไว้พักผ่อน อันหนึ่งไว้เดินปัญญา
จากธรรมเทศนา พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
(๑๒ ม.ค.๕๗) ดาวโหลดฟังคลิปเสียง mp3

ศึกษาข้อธรรมะจากหลวงพ่อปราโมย์ ปาโมชโช เพิ่มเติมได้ที่
http://www.dhamma.com/ และ http://www.dhammada.net/

(อ่านออนไลน์) ออกจากสังสารวัฏ

หมายเหตุ: ได้ขออนุญาตจากทางผู้ประสานงานผู้จัดทำหนังสือแล้ว เพื่อนำเนื้อหาบทนี้มาเผยแผ่ให้สามารถอ่านได้ออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้สนใจยิ่งขึ้น

เจริญพรโยม โยมเยอะขึ้นทุกวันนะ เดี๋ยวนี้ล้นไปที่วัดหลวงพ่อทุกวัน ธรรมะจะดีที่สุด ต้องเรียนแบบลูกศิษย์คนหนึ่งอาจารย์คนหนึ่งจึงจะเรียนกันง่ายหน่อย ถ้าลูกศิษย์เป็นร้อยเป็นพันนะ อาจารย์สู้ไม่ไหว ฉะนั้นลูกศิษย์ต้องช่วยตัวเองให้เยอะๆ พยายามฟังซีดีที่หลวงพ่อเทศน์ไว้ [๑] ซีดีมีแจกให้ พยายามฟังนะ ฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง ทำใจให้สบายๆ ลืมความรู้เก่าๆ ไปชั่วคราว เปิดใจฟัง ถ้าฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง ฟังไม่กี่ครั้งก็จะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก แล้วเราจะพบว่าธรรมะเหมือนเส้นผมบังภูเขาเท่านั้นเอง ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหรอก
pramote-pamojjo-9-1
ธรรมะไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ธรรมะเป็นเรื่องของตัวเรานี่เอง ธรรมะไม่ได้อยู่ห่างไกลที่ไหน ธรรมะอยู่ที่กาย ธรรมะอยู่ที่ใจ กายของเราเป็นธรรมะเรียกว่า “รูปธรรม” ใจของเราเป็นธรรมะเรียกว่า “นามธรรม” เพราะฉะนั้นธรรมะอยู่ที่กายอยู่ที่ใจนี่เอง ถ้าเราไปดิ้นรนค้นคว้าเที่ยวแสวงหาธรรมะจากที่อื่น เราจะหาไม่เจอ
เพราะฉะนั้นธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อนะ ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง ทำอย่างไรเราจึงจะเปิดใจของเราออกมาเรียนรู้ธรรมะ คือเรียนรู้ความเป็นจริงของตัวเราเอง เรียนรู้ลงมาในกาย เรียนรู้ลงมาในใจ ถ้าเรียนรู้ได้ถ่องแท้แล้ว ความทุกข์จะเหลืออยู่ที่กายเท่านั้น ส่วนความทุกข์ทางใจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ความทุกข์ทางกายนี่ห้ามไม่ได้ ร่างกายเป็นผลของกรรม เรามีร่างกายขึ้นมาแล้ว เราจะต้องทุกข์ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หนีไม่พ้นสักคนเดียว แต่ความทุกข์ทางใจนี่ เราแสวงหามา เราสร้างขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ นี่เอง

ถ้าเราหัดภาวนาจนเรารู้เข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ เราจะหมดความยึดถือในกายในใจได้ ความทุกข์ทางใจจะไม่มีอีก จิตมันจะพรากออกจากกายจากใจ พรากออกจากขันธ์ ขันธ์อยู่ส่วนขันธ์ จิตอยู่ส่วนจิต จิตจะกว้างขวาง ไร้ขอบไร้เขต ภาษาบาลีเรียกว่า “วิมริยาทิกต” [๒]
การที่พวกเราสนใจศึกษาธรรมะเป็นเรื่องดีมาก เรียกว่าเราไม่ประมาท คนที่ประมาทก็คือละเลยที่จะเรียนรู้ตัวเอง ชีวิตก็เลยจมอยู่กับความทุกข์ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวทุกข์เรื่องโน้นเดี๋ยวทุกข์เรื่องนี้ไปเรื่อยๆ หาทางออกไม่ได้ ดิ้นรนแสวงหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่ว่าหาไม่เจอ สังเกตดูคนทั้งหลายนั้นเที่ยวหาความสุขตลอดชีวิตจนถึงวันตายเลยนะ แต่ก็หาไม่ได้ จนจะตายก็ยังหาความสุขไม่ได้เลย พอวันจะตายเจ็บหนักๆ ก็ยังรู้สึกว่า ถ้าตายเสียได้คงจะมีความสุข
การที่พวกเราสนใจศึกษาธรรมะเรียกว่าเราไม่ประมาท คนที่ไม่ประมาทนี้พระพุทธเจ้ายกย่องนะ ความไม่ประมาทเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานท่านยังเตือนพวกเราว่าอย่าประมาท คำว่า “ประมาท” ก็มีนัยยะกว้างขวาง วันนี้หลวงพ่อลองพูดอีกนัยยะหนึ่งให้ฟังก็ได้คือ
เราจะต้องไม่ประมาทในอกุศลธรรม ไม่ประมาทในกุศลธรรม ไม่ประมาทในธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล เรียกว่าไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายทั้งปวง อย่างอกุศลธรรม ความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็อย่าประมาท อย่าเห็นว่ามันเล็กๆ น้อยๆ ความชั่วที่ร้ายแรงที่ใหญ่โตทั้งหลายนั้น ก่อนมันจะใหญ่ มันก็เล็กมาก่อน
อย่างคนเรานี้ ส่วนใหญ่ที่หัดทำกรรมชั่วอันแรกๆ ก็คือหัดโกหก ฉะนั้นมุสาวาทนี้ทำผิดได้ง่ายๆ ทำผิดกันบ่อย หาคนที่ไม่โกหกนี่หายาก ใครจะโกหกหลวงพ่อว่าไม่เคยโกหกมีไหม หลวงพ่อก็เคยโกหก เพราะฉะนั้นกรรมชั่วที่ทำตอนแรกนั้นเล็กๆ พอเราทำจนคุ้นเคย ก็ทำได้ใหญ่ขึ้นๆ ทีแรกก็บี้มดนะ ต่อมาก็ฆ่าแมลงวัน ตัวโตขึ้นนะ ต่อไปจิตใจเราก็จะคุ้นเคยกับการฆ่า คุ้นเคยกับการโกหก คุ้นเคยกับการทำชั่วทั้งหลายสะสมไป เพราะฉะนั้นเราประมาทกับกิเลสไม่ได้ แล้วก็อย่าประมาทแบบดูถูกกิเลสด้วย
กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกุศลก็ได้ อย่างเรามีตัณหา เราอยากดี เราอยากสุข เราอยากได้มรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นกิเลสนะ แต่มันผลักดันให้เราหันมาศึกษาธรรมะ พอเราศึกษาธรรมะแล้ว วันหนึ่งเราก็พ้นจากตัณหาได้ เห็นไหม อาศัยกิเลสเป็นพื้นฐาน กิเลสบางตัวเช่น “มานะ” หรือความถือดี อย่างเราเห็นครูบาอาจารย์ท่านภาวนาแล้ว ดูท่านมีความสุข ทำอย่างไรหนอเราจะได้อย่างท่าน เรามันแย่มาก เราไม่ได้อย่างท่าน นี่ก็เป็นกิเลส เรียกว่ามานะ อาศัยมานะนี่เอง มาพากเพียรศึกษาธรรมะ วันหนึ่งเราก็ละมานะได้ ดังนั้นเราจึงดูถูกกิเลสไม่ได้ มันทำให้เกิดผลดีก็ได้ ทำให้เลวลงๆ ก็ได้ ฉะนั้นเราจะประมาทในกิเลสไม่ได้ เราต้องคอยรู้ทันกิเลสไว้
กุศลทั้งหลาย อโลภะ อโทสะ อโมหะ เราประมาทมันไม่ได้ คุณธรรมความดีแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็อย่าไปดูถูกว่าน้อยเกินไป คุณธรรมความดีที่ใหญ่โตทั้งหลายนั้น ก่อนมันจะใหญ่โตขึ้นมามันก็น้อยๆ มาก่อน
pramote-pamojjo-17-750px

อย่างพระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมี ก่อนจะเกิด “ปรมัตถบารมี” [๓] บารมียิ่งใหญ่ ก่อนจะเกิด “อุปบารมี” [๔] ก็มีบารมีธรรมดาก่อน อาศัยการสร้างคุณงามความดีเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อน ให้จิตใจคุ้นเคยกับการสร้างคุณงามความดี วันหนึ่งก็จะสร้างคุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ คุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่นี้จะช่วยเราในนาทีที่เราจะข้ามภพข้ามชาติ ในเวลาที่จิตเดินเข้าสู่อรหัตตมรรคนั้น คุณงามความดีทั้งหลายจะต้องระดมรวมตัวขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส จะมาแตกหักกับมาร [๕] ในนาทีสุดท้ายนี่เอง เพราะฉะนั้นเราต้องสะสมคุณงามความดีทุกชนิดเลย
หลวงพ่อยกตัวอย่างให้ฟัง อย่างพุทธประวัติในพระไตรปิฏกเล่าไว้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั่งอยู่บนรัตนบัลลังก์ ไม่ใช่บัลลังก์โก้เก๋อะไรนะ นั่งอยู่บน “หญ้ากุศะ” (Kusa grass หรือ Kusah grass) คนไทยเรามาแปลว่า “หญ้าคา” (Cogon grass หรือ Lalang grass) จริงๆ แล้วไม่ใช่หญ้าคา หญ้ามันคม นั่งไม่ได้ แต่คือหญ้า กุศะ เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า “หญ้ากู๊ศ” (Kush grass) ท่านนั่งลงแล้ว ท่านตั้งใจว่า วันนี้ถ้าไม่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าก็จะไม่ลุก แล้วมารก็มาผจญ ท่านได้อาศัยคุณงามความดีของท่านมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ ในนาทีที่จะสู้กับมารเพื่อจะข้ามภพข้ามชาติให้ได้นั้นน่ากลัวมาก มารจะยกมา ๕ ตัวเลยนะ
“ขันธมาร” คือกายกับใจของเรานี้ ซึ่งแต่เดิมเราจะเห็นว่ากายกับใจเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง จนมาเห็นจิตที่ทรงธรรมในระดับพระอนาคามี เห็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีแต่ความสุขล้วนๆ เลย แต่ในฉับพลันนั้นเอง จิตกลับกลายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ให้ดูได้ และในตัวขันธ์เองมันก็เป็นทุกข์อย่างแสนสาหัสเลยนะ “กิเลสมาร” ก็จะระดมกำลังเข้ามาโจมตีเรา มันจะมายั่วยวน ถอยเหอะๆ “อภิสังขารมาร” ซึ่งก็คือความคิดของเราที่กลับกลอกหลอกลวง ก็จะมาหลอกเราว่า อย่าสู้เลย ถอยดีกว่า ถ้าสู้ต่อไป ถ้าไม่บ้าก็ตาย จะรู้สึกอย่างนี้นะ ส่วนใจของเรานี่แหละคือ “เทวปุตตมาร” ที่จะเกิดความท้อถอย ไม่กล้าสู้ ส่วนความรู้สึกเหมือนความตายมารออยู่ต่อหน้าแล้วนี่คือ “มัจจุมาร”
เคยอ่านประวัติครูบาอาจารย์ไหม อย่างหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกว่าก่อนจะแตกหักได้นั้น ความทุกข์บีบคั้นสลบไป ๓ ครั้งแน่ะ แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องสลบ ๓ ครั้งนะ ไม่จำเป็นต้องสลบเลยสักครั้งก็ได้ ที่ท่านพูดให้ฟังหมายถึงว่า ความทุกข์มันรุนแรงมาก ซึ่งในขณะนั้นถ้าเราไม่เคยสร้างสมบารมีคุณงามความดีไว้เลย เราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน มันเหมือนจะตายแล้วนี่ เราจะกล้าเสียสละชีวิตเพื่อธรรมะไหม ถ้าเราเคยสร้างทานบารมีอย่างพระเวสสันดร สละสมบัติ สละลูก สละเมีย กระทั่งชีวิตก็กล้าสละ ถึงนาทีสุดท้าย เราก็กล้าสละชีวิตเพื่อธรรมะ แต่ถ้าเรารักตัวเอง หวงตัวเอง หวงสุดขีดเลย กลัวทุกข์ กลัวตาย กลัวสารพัด ก็จะไม่กล้า ใจมันจะท้อถอยออกมา มันจะข้ามภพข้ามชาติไม่ไหว
ในนาทีที่จะแตกหักนั้น ความทุกข์มันท่วมท้น ทุกข์บดขยี้เราปางตาย เรามีขันติบารมีไหม คืออดทนอดกลั้นได้ไหม เรามีสัจจบารมีไหม เรามีอธิษฐานบารมีไหม คือความตั้งใจมั่นสู้แล้วไม่ถอย หรือถ้าเราจะถอยนะ เราจะมาอยู่กับโลกอย่างมีความสุขมากเลย มีความสุขเยอะเพราะว่าจิตใจที่มันเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานจะมีแต่ความสุขเยอะมาก แต่ว่ามันจะต้องไปเกิดอีก ข้ามภพข้ามชาติไม่ได้
pramote-pamojjo-16-2-750px
คุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ เราเอามาใช้ในนาทีที่เราจะข้ามภพข้ามชาติ คุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ มันเกิดจากคุณงามความดีเล็กๆ น้อยๆ ที่เราหัดสร้างกันนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างคุณงามความดีนะ หัดถือศีลไว้ หัดรักษาใจของเราให้สงบสำรวมไว้ หัดเจริญปัญญา หัดรู้กายหัดรู้ใจไป ค่อยๆ ฝึกฝนไป คุณงามความดีก็จะเยอะขึ้น ถ้าเราพอใจในคุณงามความดีที่เรามีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “ประมาท” ฉะนั้นเราต้องพัฒนาคุณงามความดีไปเรื่อยๆ จึงจะเรียกว่า “ไม่ประมาท”
แม้เรามีคุณงามความดีแล้ว ก็อย่าประมาทว่ามันจะต้องดีตลอด เพราะกุศลสามารถจะพลิกเป็นอกุศลเมื่อใดก็ได้ อย่างเรามีความเมตตากรุณา ความเมตตาพร้อมจะพลิกเป็นราคะ อย่างเช่นเราเมตตาลูกของเรา แล้วก็พลิกเป็นราคะ หวงว่าเป็นลูกของเรา หรืออย่างเราเมตตาผู้หญิงคนนี้มาก แล้วก็พลิกเป็นราคะ ไปหวงเขาไปรักเขาขึ้นมา ความกรุณาก็พร้อมที่จะพลิกเป็นโทสะได้ อย่างเช่นเราเป็นห่วงใครสักคนหนึ่ง คอยเตือนเขา ถ้าเขาไม่เชื่อ เราก็โมโหนะ โมโหนี่เป็นโทสะแล้ว เพราะฉะนั้นเราประมาทไม่ได้ ถึงจะมีกุศลอยู่ ก็ยังประมาทไม่ได้ มันยังพลิกเป็นอกุศลได้ เห็นไหมนี่ ๒ เรื่องแล้วนะ เรื่องประมาทในอกุศลกับประมาทในกุศล

ประมาทในธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศลก็ได้ อะไรคือธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็ขันธ์ ๕ นี่เอง กายกับใจนี่เอง ยกเว้นจิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล และเจตสิก [๖] ที่ประกอบกับจิตที่เป็นกุศลและอกุศล ส่วนขันธ์ทั้งหลายนอกจากนี้เป็นวิบาก เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วอะไร อย่างเรามีร่างกายขึ้นมา อย่าประมาทว่ามันจะคงทนถาวร ไม่นานมันก็แตกสลายไป ตายง่ายนะ คนเราตายง่ายมากเลย หลวงพ่อเคยรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแม่ครัวอยู่ที่วัดวังน้ำมอก เป็นวัดสาขาของหลวงปู่เทสก์ แข็งแรงนะ ทำงานกระปรี้กระเปร่า คล่องแคล่ว ว่องไว เช้าวันหนึ่งกินข้าวแล้วสำลักข้าวตายเลย แค่นั้นก็ตายได้นะ หรือคนหนึ่งเดินๆ หกล้มป๊อกเดียวตายเลยก็มี

เพราะฉะนั้นเราประมาทไม่ได้ ความตายจะถึงตัวเราเมื่อใดก็ได้ไม่เลือกนะ ไม่มี seniority [๗] ไม่ใช่ว่าแก่แล้วต้องตายก่อนเด็ก เด็กๆตายก่อนหลวงพ่อไปเยอะแล้ว เราประมาทไม่ได้ เราอย่าประมาทในร่างกายนี้ อย่าประมาทในเวทนาหรือความสุขความทุกข์ทั้งหลาย ความสุขมันก็ของชั่วคราว ความทุกข์มันก็ของชั่วคราว ประมาทไม่ได้ ไม่ใช่ความสุขมา ก็หลงระเริง ความทุกข์มา ก็หลงเกลียดชังมัน นี่เรียกว่ายังมัวเมา ยังประมาทอยู่ เราคอยรู้ทันนะ จิตที่ไปรู้อารมณ์ทางตา จิตที่ไปรู้อารมณ์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อันนี้ไม่ดีไม่ชั่วอะไร เป็นของเกิดแล้วก็ดับไปนะ ไม่มีอะไร เห็นไหมทั้งหมดนี้เราประมาทไม่ได้ ทั้งธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นกุศล และธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล
ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าไม่ประมาท ก็คือต้องมีสติ ถ้าขาดสติคือประมาท ถ้ามีสติเรียกว่าไม่ประมาท เราต้องมีสติ รู้ลงในกายในใจของเรา
ร่างกายเป็นธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล ส่วนจิตใจนี้มีทั้งที่เป็นกุศล เป็นอกุศลและที่เฉยๆ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล หน้าที่ของเราต้องคอยรู้ทัน หัดรู้ทันกายหัดรู้ทันจิตใจของเราไปเรื่อยๆ คำว่า “สติ” นี่มาจากภาษาแขก ก็ไม่รู้จะแปลว่าอย่างไรดี อธิบายอย่างนี้ว่า
สติเป็นตัวระลึกรู้กายระลึกรู้ใจ ถ้าเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ เรียกว่าเรามีสติ ถ้าเมื่อใดเรามีกายอยู่ แต่เราลืมกาย เรามีใจอยู่ แต่เราลืมใจ เรียกว่าขาดสติ
ฉะนั้นให้รู้กายรู้ใจตัวเองเรื่อยๆ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ รู้สึกบ่อยๆ อย่าใจลอย ถ้าใจลอย เราก็จะลืมกายลืมใจตัวเอง ให้เรารู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย แต่ว่าใจมันมีธรรมชาติชอบลอย ถ้ามันลอยไปก็อย่าให้มันลอยนาน คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกในกายรู้สึกในใจไปเรื่อย รู้สึกแล้วอย่าไปบังคับมันนะ รู้สึกเล่นๆ รู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกอย่างที่มันเป็น ตรงที่เรามีสติก็คือเราจะรู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ ถัดจากนั้น เราจะมาเจริญปัญญา
การเจริญปัญญาก็คือ กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น

กายเป็นอย่างไร กายเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออกตลอดเวลา กายมีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ ทำอะไรอยู่ก็ทุกข์ มีความทุกข์ตามบีบคั้นตลอดวันตลอดคืน ไม่มีเว้นวรรคให้หรอก การที่เราคอยรู้อย่างนี้ เรียกว่า กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วกายเป็นอย่างไรอีก กายเป็นไตรลักษณ์ [๘] นั่นเอง แต่ว่ามันเด่นในเรื่องความเป็นทุกข์กับความไม่ใช่ตัวเรา คือมันเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งก็ต้องคืนให้โลกเขาไป
จิตใจล่ะ จิตใจเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ถามว่าแล้วจิตใจเป็นอย่างไร จิตใจเป็นของไม่เที่ยง จิตใจเราเปลี่ยนแปลงทั้งวันทั้งคืน คนที่ดูจิตดูใจเป็นแล้วน่ะ รู้สึกหรือยังว่า จะหาคนที่ใจร้ายเท่าเรานั้นหายาก กิเลสเกิดทั้งวันเลย กุสลไม่ค่อยจะเกิด สังเกตไหมจิตใจเป็นของบังคับไม่ได้ จะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว เราเลือกไม่ได้
ให้เราคอยรู้อย่างที่เขาเป็น รู้กายอย่างที่เขาเป็น คือเขาเป็นทุกข์ เขาไม่ใช่ตัวเรา รู้จิตอย่างที่เขาเป็น คือเขาไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา คอยรู้ลงไป พอรู้บ่อยๆ ถึงวันหนึ่งจะรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วจะเห็นได้ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา พอรู้สึกตัวขึ้นมาจะเห็นได้ว่า ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์นี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในกายในใจชั่วครั้งชั่วคราว พอรู้สึกตัวขึ้นมาจะเห็นได้ว่า กุศลและอกุศลทั้งหลาย เช่น โลภ โกรธ หลงทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา ความโกรธไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นได้ว่าความโกรธมันไม่เคยบอกว่ามันเป็นเรา ความโลภมันก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรา เพราะฉะนั้นคอยรู้ลงไปในกายรู้ลงไปในใจนะ
ฝึกหัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่า กระทั่งตัวจิตเอง เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ตา แล้วก็ดับลงที่ตา เดี๋ยวจิตก็เกิดที่หู แล้วก็ดับลงที่หู เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ใจ แล้วก็ดับลงที่ใจ จิตเกิดตรงไหนก็ดับลงตรงนั้น จะเห็นมันเกิดดับๆ ตลอดเวลาเลย กระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตจะเกิดทางตา จิตจะเกิดทางหู หรือจิตจะเกิดทางใจ เราก็เลือกมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้ เกิดแล้วจะเป็นกุศลหรืออกุศล เราก็สั่งไม่ได้ หัดสังเกตนะ หัดคอยรู้คอยดูไปนะ
pramote-pamojjo-18-750px

สำหรับวิธีสังเกตนะ หลวงพ่อแนะนำให้ไปหาหนังสือของอาจารย์สุรวัฒน์มาอ่านนะ [๙] มีภาพเณรเยอะ แต่เณรไม่ได้เกี่ยวอะไรกับในเนื้อเรื่องนะ เป็นภาพปกและภาพในหนังสือ ลองไปดูนะ มีวิธีปฏิบัติที่ง่ายๆ หรือหนังสือที่หลวงพ่อเขียนเล่มที่ง่ายๆ คือเรื่อง “แด่เธอผู้มาใหม่” [๑๐] ไปหามาอ่านนะ อ่านแล้วค่อยๆ สังเกตไป วันหนึ่งเราก็จะสามารถรู้กายได้อย่างที่มันเป็น รู้ใจได้อย่างที่มันเป็น
วิธีการสังเกตเริ่มแรกสุดเลยคือ ต้องไม่ลืมกายต้องไม่ลืมใจ ต้องมีสติเสียก่อน กายมีอยู่ ก็คอยรู้สึกไว้ จิตใจมีอยู่ ก็คอยรู้สึกไว้ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ ถ้าเรารู้สึกด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ตั้งมั่น สักว่ารู้ สักว่าดู มันก็จะเกิดปัญญา กายเป็นอย่างไร จะรู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างไร จะรู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้แล้วจะเป็นยังไง รู้แล้วก็จะเห็นว่าทั้งกายทั้งจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี นี่จะเห็นอย่างนี้ หัดใหม่ๆ เรียนจากหลวงพ่อ พอสติเกิดก็จะเริ่มเห็นว่าตัวเราไม่มีได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนยากเย็นแสนเข็ญอะไรเลย ไม่ต้องไปนึกเอาเองด้วย
หลายคนมาถามว่า จะพิจารณาไตรลักษณ์ต้องทำอย่างไร ไตรลักษณ์ไม่ได้เอาไว้คิดนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถเห็นกายเห็นใจ เห็นสภาวะธรรมของรูปธรรมนามธรรมได้ จะเห็นไตรลักษณ์โดยอัตโนมัติ
ฉะนั้นต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ฝึกไป จนกระทั่งสติตัวจริงเกิดหลวงพ่อพูดมาเยอะแล้วว่า สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้ วิธีทำให้จิตจำสภาวะได้คือ เบื้องต้นหากรรมฐานมาสักอย่างหนึ่ง ใครเคยพุทโธก็พุทโธไป ใครเคยหายใจก็หายใจไป ใครเคยดูท้องพองยุบก็ดูท้องพองยุบไป ใครเคยขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ขยับมือไป แต่ไม่ได้ทำเหมือนที่หลายคนทำนะ หลายคนที่เคยทำส่วนใหญ่จะไปเพ่ง รู้ลมหายใจก็ไปเพ่งลมหายใจ รู้ท้องก็ไปเพ่งท้อง รู้เท้าก็ไปเพ่งเท้า รู้มือก็ไปเพ่งมือ รู้อะไรก็เพ่งอันนั้น
ดังนั้นแทนที่เราจะไปเพ่งให้จิตนิ่ง เราก็แค่รู้สึกในอารมณ์นั้น มีอารมณ์นั้นเป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่เรียกว่า “วิหารธรรม” แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป เช่น เราหัดพุทโธๆ ไป ใจเราแอบไปคิดแวบ ให้รู้ว่าใจแอบไปคิดแล้ว พุทโธๆ ใจเราสงบลงมา ให้รู้ว่าใจสงบ พุทโธแล้วซึมๆ ไป ให้รู้ว่าซึมๆ นี่เป็นการหัดรู้สภาวะ แล้วต่อไปเมื่อใจเราแอบไปคิดแวบ สติจะเกิดเอง หลวงพ่อยืนยันนะว่า สติเกิดเอง
สติเกิดเอง แต่ว่ามีเหตุให้เกิด เหตุคือ จิตจำสภาวะได้ ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ เพราะสติเป็นอนัตตา มีเหตุจึงจะเกิด ฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ ทำเหตุของสติ
ทำเหตุของสติคือ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จะรู้ลมหายใจก็ได้ ถ้าจะรู้ลมหายใจ ขอแนะนำว่าให้หายใจออกก่อน ถ้าหายใจออกก่อนจิตจะผ่อนคลาย ถ้าหายใจเข้าก่อน จิตจะแข็งกระด้าง ในพระไตรปิฏกก็พูดเรื่องหายใจออกหายใจเข้า หายใจออกแล้วใจผ่อนคลาย รู้ว่าจิตใจผ่อนคลาย หายใจไปแล้วจิตแอบไปคิด รู้ว่าจิตไปคิด หายใจแล้วจิตไหลไปเกาะนิ่งๆ เพ่งอยู่กับลมหายใจ รู้ว่าจิตไปเพ่งลมหายใจ หายใจแล้วจิตมีปิติ รู้ว่าจิตมีปิติ หายใจแล้วจิตมีความสุข รู้ว่าจิตมีความสุข หายใจแล้วจิตเป็นอุเบกขา รู้ว่าจิตเป็นอุเบกขา หายใจไปรู้ทันจิตไป ดูท้องพองยุบก็แบบเดียวกันนะ ใจหนีไปคิดก็รู้ ใจไปเพ่งท้องก็รู้ ใจเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกุศลอกุศลก็รู้ ต่อไปพอจิตขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หรือเกิดความรู้สึกอะไร สติจะเกิดเอง สติจะเกิดอัตโนมัติเลย
ฝึกอย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้นะ หลวงพ่อเทียนเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีที่สุดองค์หนึ่งที่หลวงพ่อเคยพบเห็นนะ หลวงพ่อเทียนขยับปุ๊ปหลวงพ่อเทียนตื่น หลวงพ่อเทียนสอนว่า เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวให้รู้สึก จิตเคลื่อนไหวให้รู้สึก ท่านสอนอย่างนี้ ท่านไม่ได้สอนว่า กายเคลื่อนไหวให้เพ่ง จิตเคลื่อนไหวให้เพ่ง แต่งสอนให้รู้สึก เพราะฉะนั้นเราขยับมือไป ใจเราแอบไปคิดปุ๊ป เรารู้ทัน ขยับมือไป ใจเราไปเพ่งใส่มือ เรารู้ทัน ขยับไปแล้วใจเป็นอย่างไรเรารู้ทัน ฉะนั้นเหมือนๆ กันหมดนะ กรรมฐานอะไรก็ได้ อย่าทะเลาะกัน เหมือนๆ กันทั้งนั้นแหละ ไม่ดีไม่เลวกว่ากันหรอก ทำถูกก็ได้ผลอย่างเดียวกัน
ให้เราหัดรู้สภาวะจนสติเกิด พอสติเกิดแล้ว เราก็พัฒนาให้มีสัมมาสมาธิคือ ให้มีใจที่ตั้งมั่น ซึ่งมีอยู่ ๒ วิธี วิธีหนึ่งสำหรับคนที่ทำฌานได้คือ ทำฌานไป พอจิตถึงฌานที่สอง จะเกิดสภาวธรรมตัวหนึ่งเรียกว่า “เอโกทิภาวะ” เป็นภาวะที่จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา พอเราออกจากฌานแล้ว กำลังของฌานจะหนุนให้ตัวผู้รู้ผู้ดูนี้ยังตั้งมั่นอยู่ได้อีกช่วงยาวๆ เราก็จะเห็นเลย กายเป็นของถูกรู้ เวทนาเป็นของถูกรู้ กุสลเป็นของถูกรู้ อกุศลเป็นของถูกรู้ อะไรๆ ก็เป็นของถูกรู้ มีจิตผู้รู้อยู่ต่างหาก นี่คือวิธีการหนึ่ง
อีกวิธีการหนึ่งสำหรับคนที่ทำฌานไม่ได้คือ เวลาจิตมันฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน เวลาจิตมันไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง ถ้าจิตไม่หลงไม่ไหลไปจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะ จะรู้สึกตัวขึ้นมา เวลารู้สึกตัวนะ ใจจะเป็นกลางๆ โล่งๆ ว่างๆ จะตื่นขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่จิตของพวกเราจะไหลออกไปข้างนอก ครูบาอาจารย์เรียกว่า “ส่งจิตออกนอก” ไหลไปหลงไป เช่นหลงไปดูใครต่อใครแล้วลืมตัวเอง นักปฏิบัติอีกพวกหนึ่งจะส่งจิตเข้าข้างใน จะเพ่งเข้าไป เพ่งเข้ามาในกาย เพ่งเข้ามาในใจ หลวงปู่เทศก์เรียกว่า “ส่งใน” จิตที่เป็นสัมมาสมาธิจริงๆ ไม่ใช่จิตส่งออกนอก ไม่ใช่จิตส่งในอย่างที่พวกเราเป็น
จิตที่เป็นสัมมาสมาธิ เป็นจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง สักว่ารู้ สักว่าเห็น ไม่ส่งออกนอก ไม่ส่งใน ตั้งอยู่หรือทรงตัวอยู่ โดยที่ไม่ได้บังคับให้ทรงตัวอยู่
สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่หลวงพ่อเห็นว่าพวกเราพลาดกันมากที่สุดเลย พวกเรานี่สัมมาสมาธิจะเกิดยากมากเลย เพราะพวกเราคุ้นเคยกับมิจฉาสมาธิ คุ้นเคยกับสมาธิที่เพ่งเอา เราไม่คุ้นเคยกับสมาธิที่จิตตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ เราคุ้นเคยแต่สมาธิที่จิตเข้าไปตั้งแช่อยู่ในตัวอารมณ์ จิตที่ไปตั้งแช่นิ่งอยู่กับอารมณ์เรียกว่า “อารัมมฌูปนิชฌาน” คือจิตที่ใช้ทำสมถะ เป็นการทำสมถะ เช่น เราดูท้องพองยุบแล้วเราไปเพ่ง จิตไปเกาะที่ท้อง รู้ลมหายใจแล้วจิตไปเกาะนิ่งอยู่กับลมหายใจ นี่เป็นสมถะ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฟังไปนะ
จิตที่เป็นสัมมาสมาธิเกิดแล้ว ปัญญาจึงจะเกิดได้ เพราะสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการคิด ปัญญาที่เกิดจากการคิดเรียก “จินตามยปัญญา” ไม่ใช่ “ภาวนามยปัญญา” ภาวนามยปัญญานี่เกิดจากจิตมันตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ เป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู เห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายปรากฏขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เห็นสภาวธรรมทั้งหลายในแต่ละปรากฏการณ์ ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวเราทั้งสิ้น ใจมันเห็นอย่างนี้มันจึงจะมีปัญญา
นักปฏิบัติส่วนหนึ่งจะติดสมถะ เพราะว่าอะไร เพราะว่าเวลาเราเรียนธรรมะ เราเรียนข้ามขั้นคือ พอเราถือศีล มี “ศีลสิกขา” แล้ว เราก็ไปกำหนดรูปนามเอาเลย หรือไปเจริญ “ปัญญาสิกขา” เราข้าม “จิตตสิกขา” ไปบทเรียนหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้เรียนจิตตสิกขาให้ถ่องแท้เสียก่อน จิตจะไม่มีสัมมาสมาธิ จิตจะไปเพ่งรู้ท้องก็เพ่งท้อง รู้เท้าก็เพ่งเท้า รู้ลมก็เพ่งลม รู้มือก็เพ่งมือ รู้อะไรก็เพ่งอันนั้น จะไม่สักว่ารู้สักว่าเห็น พวกเราอย่าเรียนข้ามขั้นนะ
ถ้ามีสัมมาสมาธิ จิตจะตั้งมั่น สักว่ารู้สักว่าเห็น ปัญญาจะเกิด จะเห็นว่า ทุกอย่างนี่ไม่ใช่ตัวเรา แต่ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ จิตไม่ตั้งมั่น ไปดูอะไรมันก็จะเป็นเราไปหมดเลย เห็นความโกรธเกิดขึ้น มันก็เป็นเราโกรธ เห็นขามันเมื่อย ก็เป็นขาของเราเมื่อย จะเป็นอย่างนี้ตลอด
เวลาที่ใจเราไม่ตั้งมั่นแล้วไปรู้สิ่งต่างๆ เราจะสะสมความรู้ผิดๆ ความเห็นผิดๆ ตลอดเวลา ว่ามันมีตัวเรา มันมีตัวเรา แต่ถ้าเรามีสติถูกต้องเรียกว่า “สัมมาสติ” มีสมาธิถูกต้องเรียกว่า “สัมมาสมาธิ” ปัญญาที่เกิดขึ้นจะเป็น “สัมมาทิฏฐิ” เป็นปัญญาที่ถูกต้อง
pramote-pamojjo-15-750px
มีปัญญาที่ถูกต้องก็คือ การที่เราเห็นว่ากายกับใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา นี่เป็นปัญญาพระโสดาบัน แต่พระโสดาบันนี้ไม่ใช่นึกๆเอาเองนะ เช่นดูมา ๓ วันแล้ว พอสมควรแล้ว บัดนี้เป็นพระโสดาบันแล้ว แขวนป้ายให้ตัวเอง อย่างนั้นไม่ใช่นะ มันมีกระบวนการที่จิตตัดสินความรู้ สิ่งเหล่านี้ในคัมภีร์อภิธรรมของเราสอนไว้ทั้งหมด แต่เราละเลยที่จะเรียน ฉะนั้นอดทนนิดหนึ่ง ฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง หลวงพ่อเรียกร้องตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องเปิดกว้าง ถ้าฟังด้วยใจแคบ จะต้องโมโหหลวงพ่อ แล้วจะต้องมีคนมาขอขมาเรื่อยๆ

คอยดูมันลงไปนะ ถึงวันหนึ่งเราจะเห็นว่า กายกับใจไม่ใช่ตัวเรา อันนี้ยังไม่ได้ละ “อวิชชา” [๑๑] ละแค่ “สักกายทิฏฐิ” [๑๒] เห็นว่าไม่ใช่เรา แต่ว่ามันยังรักมันยังหวงแหนในกายในใจนี้ ต้องดูต่อไปอีก ดูต่อไปถึงวันหนึ่งเราจะเห็นว่า กายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ถ้าเห็นว่ากายเป็นทุกข์ล้วนๆ มันจะหมดความยึดถือในกาย เมื่อหมดความยึดถือในกาย ก็จะไม่ยึดถือในตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะไม่ยึดถือในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะหรือสิ่งที่มาสัมผัสกาย กามและปฏิฆะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็จะไม่มี นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี ฉะนั้นจิตใจของพระอนาคามีจะเด่นดวงอยู่อย่างนั้น มีแต่ความสุขอยู่กับจิตผู้รู้ มีความสุขมาก
ถ้าตามรู้ตามดูต่อไป ไม่นิ่งนอนใจ ก็จะเจอกับปรากฏการณ์ที่หลวงพ่อเล่าเมื่อครู่นี้ มันจะเห็นเลย จิตนั้นจะพลิกตัวเป็นความทุกข์ให้ดู ไม่ใช่จิตเป็นทุกข์บ้างสุขบ้าง หรือเป็นสุขมากๆ นะ จิตจะกลายเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ให้ดูเลย ถึงจุดนั้น ถ้าอดทนได้ ตามรู้ตามดูไปด้วยใจที่ตั้งมั่น สู้ตาย ตายเป็นตาย ยอมตายเพื่อสัจจะความจริง ตามรู้ตามดูเรื่อยไป ไม่ดิ้นรนหนีต่อไปแล้ว เพราะว่าไม่มีทางหนีแล้ว
เมื่อเห็นจิตเป็นทุกข์แล้ว ก็ไม่มีทางหนีทุกข์แล้ว จะหนีไปอยู่บนภูเขามันก็มีจิต จิตมันตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง มันไม่มีที่จะหนีเลย เมื่อความทุกข์บีบคั้นจนไม่มีที่จะหยั่งลงในสังสารวัฏนี้อีกต่อไปแล้ว จิตมันจะสลัดจิตทิ้ง เรียกว่า “ปฏินิสสัคคะ” สลัดคืน ใจก็เข้าถึงธรรมล้วนๆ คราวนี้มีแต่ความสุขล้วนๆ
ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ปรัชญานะ แต่เป็นศาสตร์ที่เราลงมือปฏิบัติตามเรียนรู้ตามแล้วเราได้ผลจริงๆ เราพ้นทุกข์จริงๆ ไม่ใช่ปรัชญาที่คิดเล่นๆ สนุกๆ หรืออย่างเรื่องนรกเรื่องสวรรค์นี้ไม่ใช่อุบายหลอกเด็กนะ ศาสนาพุทธเป็นของจริงของแท้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องมาหลอกเด็ก คนไหนไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ แต่ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้นเป็นของจริง ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เรื่องของเรา ท่านไม่มาง้องอนให้เชื่อด้วยซ้ำไป แต่ท่านท้าให้พิสูจน์ “เอหิปัสสิโก” คือ พึงกล่าวกับผู้อื่นว่า มาลองดูไหม มาลองพิสูจน์ดู วิธีพิสูจน์ก็บอกให้แล้วนะ ให้มารู้กาย ให้มารู้ใจ ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นกลาง รู้ลงไปสิ วันหนึ่งก็จะแจ้งของเราเอง
ถ้าเรารู้จิตใจของเราชำนิชำนาญแล้ว จะรู้ทันจิตใจคนอื่นด้วย แล้วจะรู้เลย สัตว์ต่างๆ มีจริงนะ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เทวดา พรหม มีจริงๆ เพราะว่าถ้าเราดูใจเราออก เราก็ดูใจคนอื่นออก มันจะไม่สงสัยอีกต่อไป จะไม่คิดเลยว่าพระพุทธเจ้าหลอกเด็ก
แม้เราไม่ใช่เด็กที่ใครจะหลอกได้ แต่เราโง่กว่าเด็กอีก เพราะเด็กยังพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ส่วนเราเรียนอะไรยากมากเลย เราจะมีความคิดความเห็นอะไรของเราเต็มไปหมด ซึ่งขวางกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของตัวเองเยอะแยะเลย
ขออนุโมทนากับพวกเราที่สนใจธรรมะ ดีแล้วนะ แต่ละคนไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร อย่าประมาท วิธีที่ไม่ประมาทที่ดีที่สุดคือ ศึกษาธรรมะ ศึกษากายศึกษาใจของเราให้ดี หลวงพ่อมีญาติผู้ใหญ่ที่พึ่งตายไปนะ แต่ก่อนมาศาลาลุงชินประจำ ตอนตายตายด้วยความมีสติรู้สึกตัวตลอดเลย ตายได้อย่างสวยงาม ก็อาศัยการที่เราฝึกฝนเอาวันละเล็กวันละน้อยนี้เอง ถึงเวลาคับขันจวนตัวขึ้นมาแล้วไม่มีใครช่วยเราได้เลย มีแต่บุญหรือกุศลที่เราฝึกฝนอบรมมานี้แหละที่จะช่วยเราได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าประมาท เราคอยฝึกไป คอยรู้ไปดูไป
[1] สามารถดาวน์โหลดฟังธรรมเทศนาได้จากเว็บไซต์ http://www.dhamma.com  [กลับขึ้นด้านบน]
[2] วิมริยาทิกตจิต คือจิตไร้ขอบเขต จิตไร้พรมแดน  [กลับขึ้นด้านบน]
[3] บารมียอดเยี่ยม บารมีขั้นสูงสุด เช่น การสละชีวิตเพื่อเป็นทาน หรือเพื่อรักษาศีลเป็นต้น  [กลับขึ้นด้านบน]
[4] บารมีขั้นกลาง คือบำเพ็ญบารมีสูงกว่าบารมีธรรมดา แต่ยังไม่ถึงปรมัตถบารมี เช่น บริจาคอวัยวะเป็นทาน หรือสละอวัยวะเพื่อรักษาศีล เป็นต้น  [กลับขึ้นด้านบน]
[5] สิ่งที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ อย่าง คือกิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวปุตตมาร และมัจจุมาร  [กลับขึ้นด้านบน]
[6] ธรรมที่ประกอบกับจิตหรืออาการต่างๆ ของจิต  [กลับขึ้นด้านบน]
[7] ลำดับความอาวุโส  [กลับขึ้นด้านบน]
[8] ลักษณะ ๓ ประการได้แก่ อนิจจัง (ความเป็นของไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้) และอนัตตา (ความเป็นของมิใช่ตัวตน)  [กลับขึ้นด้านบน]
[9] สามารถดาวน์โหลดอ่านหนังสือได้จากเว็บไซต์ http://www.dhamma.com/karavassdham/  [กลับขึ้นด้านบน]
[10] สามารถดาวน์โหลดอ่านหนังสือเล่มนี้ได้จากเว็บไซต์ http://www.dhamma.com  [กลับขึ้นด้านบน]
[11] ความไม่รู้จริง หรือความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง, อวิชชา ๘ คือ ๑.ไม่รู้ทุกข์ ๒. ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ๓.ไม่รู้ความดับทุกข์ ๔.ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ๕.ไม่รู้อดีต ๖.ไม่รู้อนาคต ๗.ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต ๘.ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท  [กลับขึ้นด้านบน]
[12] ความเห็นว่าเป็นตัวของตน หรือความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน เป็นต้น  [กลับขึ้นด้านบน]
จากหนังสือ นาทีทองในสังสารวัฏ เล่ม ๓
(ธรรมเทศนาวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐)
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ดาวน์โหลดอ่านหนังสือ นาทีทองในสังสารวัฏ pdf

(ภาพการ์ตูน) เพียงแค่ปล่อยมือ

“ภาพต่อไปนี้” จะมีขนาดยาว
อาจใช้เวลาในการโหลดหน้านี้ซักครู่นะ แต่ว่าคุ้มค่ามากๆๆๆ

just-let-it-go-th-pramote-pamojjo.png
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “วิธีการปฏิบัติธรรม” พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

สามารถศึกษาธรรมะข้อธรรมเพิ่มเติมได้จาก http://www.dhamma.com/

ดาวโหลดหนังสือ วิธีการปฏิบัติธรรม คลิกที่นี่

และสามารถแชร์ภาพนี้ทาง FB คลิกที่นี่
หมายเหตุจากผู้จัดทำ
หากท่านสนใจนำไปเผยแผ่ต่อขอได้โปรดเผยแผ่ทั้งหมดในภาพเดียว เพื่อให้เนื้อหาและภาพอยู่ด้วยกันครบถ้วนในกาลเวลาต่อๆไป (-/\-)

(ภาพการ์ตูน) สู่ความสิ้นทุกข์

“ภาพต่อไปนี้” จะมีขนาดยาว
อาจใช้เวลาในการโหลดหน้านี้ซักครู่นะ แต่ว่าคุ้มค่ามากๆๆ

to-be-free-from-suffering-pramote-pamojjo-3
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “คู่มือการปฏิบัติธรรม”
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

สามารถศึกษาธรรมะข้อธรรมเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์
http://www.dhamma.com/

ดาวโหลดหนังสือ คู่มือการปฏิบัติธรรม อ่านได้ที่นี่ค่ะ
https://goo.gl/4ZZTQP

และดูภาพนี้ทาง FB ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลยค่ะ
https://www.facebook.com/notes/กลม-กลม/ภาพการ์ตูน-สู่ความสิ้นทุกข์/661146490637813
หมายเหตุจากผู้จัดทำ
หากท่านสนใจนำไปเผยแผ่ต่อขอได้โปรดเผยแผ่ทั้งหมดในภาพเดียว
เพื่อให้เนื้อหาและภาพอยู่ด้วยกันครบถ้วนในกาลเวลาต่อๆไป (-/\-)

(การ์ดคำสอน) เพราะคือความจริงของทุกสิ่ง

“… ในความวุ่นวายบีบคั้นทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเราเลือกไม่ได้เราต้องรู้วิธีที่จะอยู่กับมันให้ได้ คือถ้าเราเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ เราสามารถอยู่ได้โดยไม่มีความทุกข์ทางใจ
ความทุกข์มันเข้ามาได้แค่ร่างกาย แต่ความทุกข์มันเข้าไม่ถึงจิตถึงใจเรา ถ้าเรารู้จักวิธีที่จะดูแลจิตใจของเรา
ความทุกข์มันเกิดจากใจเรามันยอมรับสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ไม่ได้ อย่างสิ่งที่ดีๆกำลังปรากฏอยู่ เรายอมรับไม่ได้ว่ามันอยู่ชั่วคราวเราก็กังวลกลัวมันจะหายไป หรือพอมันหายไปก็เศร้าโศกเสียใจ สิ่งที่ดีๆหายไปเรายอมรับไม่ได้
หรือเรายอมรับไม่ได้ว่ามีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิตเรา อย่างเจ็บป่วยขึ้นมาหรือถูกใส่ร้ายป้ายสีถูกอะไรอย่างนี้ เรายอมรับสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่นี้ไม่ได้ เราก็ทุกข์ทางใจขึ้นมา
หรือเราคิดว่าเมื่อไหร่สิ่งเลวร้ายมันจะผ่านไปเร็วๆ ให้มันพ้นๆไปซะที การที่ใจเรามันมีความอยาก ความอยากทั้งหลายนี่มันปฏิเสธความจริง เราอยากให้สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น อยากให้สิ่งบางสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ถาวร เราอยากให้บางอย่างไม่เกิดขึ้นเลย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วบางอย่างเราก็อยากให้มันจบเร็วๆ
สิ่งเหล่านี้ทำให้ใจเราเกิดความเครียดขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา อย่างเราต้องแก่ เราไม่อยากแก่ เราต้องเจ็บ เราไม่อยากเจ็บ เราต้องตาย เราไม่อยากตาย พอแก่ขึ้นมาก็ทุกข์ กลุ้มใจ พอเจ็บขึ้นมาก็ทุกข์ ตายขึ้นมาก็ทุกข์
เราไม่อยากพลัดพรากจากคนที่เรารัก คนนี้เรารักเราอยากอยู่นิรันดร อยู่ด้วยกันตลอด ไม่นานเลยเขาทิ้งเราไปแล้ว เรายอมรับไม่ได้ใจก็ทุกข์มาก
พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่กับโลกของความเป็นจริงให้ได้ ไม่ใช่เอาความอยากมานำหน้า อยู่กับความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา เป็นของชั่วคราว ทุกสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตเรา ถูกบีบคั้นที่จะให้สลายตัวไปอยู่ได้ชั่วคราวเหมือนกัน ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาที่จะให้แตกสลายไป
อย่างความรักของหนุ่มสาวพอมีขึ้นมามันก็ถูกบีบคั้นทุกวันๆ ให้สลายไปเรื่อยๆ ถึงวันนึงก็หายไป ร่างกายนี้มีขึ้นมาแล้วก็ถูกบีบคั้นให้สลายไป สักวันนึงก็ต้องหายไป
นี่คือความจริง ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่คงที่ มันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาที่จะให้สลายตัว แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ
เราสั่งมันไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เราสั่งมันได้สักอย่างนึง แค่สั่งไม่ให้ผมหงอกยังสั่งไม่ได้ สั่งไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ สั่งไม่ได้ซักอย่าง
ถ้าเราเรียนรู้ความจริงของชีวิตนะจนกระทั่งเรารู้ว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราว ทุกอย่างถูกบีบคั้นให้สลายตัว ทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ถ้าใจเรายอมรับตรงนี้ได้เราจะไม่เกิดความอยากที่ไร้เดียงสา
ความอยากทั้งหลายนั่น มันไม่ยอมรับสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่
ของนี้มีก็อยากให้ไม่มี หรือมีแล้วก็อยากให้อยู่นิรันดรมันผิดธรรมชาติ อยู่นิรันดรไม่ได้
ทำไงใจเราจะยอมรับความจริงได้ ไม่ใช่นึกๆเอา หยวนๆ ยอม ใจไม่ได้ยอมจริง ก็แก้ความทุกข์ทางใจไม่ได้
พระพุทธเจ้าเลยสอนศาสตร์ให้เราอันนึง ศาสตร์ที่เราจะเรียนรู้ความจริงของชีวิต ถ้าเราเรียนรู้ความจริงของชีวิตตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้แล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เรายอมรับได้
แก่ก็ถือว่าธรรมดา เจ็บก็ธรรมดา ตายก็ธรรมดา พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ธรรมดา เจอสิ่งที่ไม่รักก็ธรรมดา มีความอยากก็สมหวังบ้างผิดหวังบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา
เราต้องฝึกฝนนะตามวิธีการของพระพุทธเจ้า จนใจเราเห็นความจริง ทุกอย่างมันธรรมดา
ธรรมดาเป็นอย่างนี้
ธรรมดาไม่เที่ยง
ธรรมดาเป็นทุกข์
ธรรมดาเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้
งั้นการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกคน ที่ปราถนาความพ้นทุกข์ ถ้าคนไม่ได้คิดจะพ้นทุกข์ จะอยู่กับทุกข์จะอยู่กับโลก เอร็ดอร่อยอยู่กับโลกก็ไม่รู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมจำเป็นอะไร ทั้งๆที่เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในชีวิตเรา
เพราะจริงๆเราทุกคนแสวงหาความสุข ทุกคนดิ้นรนหนีความทุกข์ตลอดเวลา แต่การหาความสุขการหนีความทุกข์ของคนทั่วไป มันมุ่งไปที่การสนองความอยากเท่านั้นเอง อยากมีเงินมากๆอยากโน้นอยากนี้ตลอดเวลา
ชีวิตเราก็ดิ้นตลอดเวลา ชีวิตนี้เหน็ดเหนื่อย แล้วได้มาไม่นานก็หายไป สูญไป
นี่ความจริงที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง เขาดิ้นหาความสุข ดิ้นมาตั้งแต่เด็ก
จนแก่ จนเฒ่า จนตายไป ความสุขเหมือนอยู่ข้างหน้า วิ่งไล่จับเงาไปเรื่อยๆ จับไม่ติดซักที ตอนเด็กๆคิดว่าเรียนหนังสือจบแล้วจะมีความสุขไม่ต้องถูกครูบังคับไม่ต้องถูกอาจารย์สั่ง ให้ทำเปเปอร์อะไรแบบนี้ คงจะสบาย เรียนจบแล้วก็คิดว่าต้องได้งานดีๆทำ จะมีความสุข เงินเยอะๆ มีความสุข ตำแหน่งใหญ่ๆ มีความสุข มีครอบครัวดีๆ จะมีความสุข มีลูกไบร์ทๆ ลูกหน้าตาดีด้วย ไบร์ทด้วย ไม่มองตัวเองเลยว่าเป็นไปไม่ได้
ถ้ามีอย่างนี้แล้วจะมีความสุข
ถ้าอย่างนี้จะมีความสุข
อยู่อย่างเนี้ยด้วยความหวัง
หวังว่ามีอันนี้จะสุข มีอันนี้จะสุข
พอมีจริงๆมันก็ไม่ได้สุขจริง
ความสุขมันก็อยู่ข้างหน้าให้เราวิ่งตามไปเรื่อย
แล้วชีวิตของคนในโลก เหน็ดเหนื่อยไม่มีที่สิ้นสุดเลย ถ้าคนไหนสติปัญญาแก่กล้านะ จะรู้ว่าวิธีหาความสุข ด้วยการวิ่งตามเงานี้ ไม่ได้จริงหรอก
วิธีหาความสุขที่พระพุทธเจ้าสอน ต้องสุขที่เต็มที่อิ่มอยู่ในตัวเอง ใจมันมีความสุขอย่างแท้จริง มันสุขถึงขนาดที่ว่าร่างกายแก่ก็ยังสุขนะ ร่างกายเจ็บใจก็ยังสุข ร่างกายจะตายใจยังสุขอีก
เนี่ยตอนนี้มีครูบาอาจารย์องค์นึงนะ ท่านแสดงธรรมะอันนี้ให้พวกเราดู
หลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อคำเขียนท่านภาวนาเก่ง จิตใจนี่เบิกบานแช่มชื่นมากเลย เป็นมะเร็ง หมอก็ไม่รู้จะรักษายังไงแล้วได้แค่ใส่ท่ออาหารท่อหายใจอะไรนี้ แต่ท่านมีความสุข ถ้าเป็นพวกเราไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจนะเจออย่างนั้นเราทุกข์ตายเลย ท่านเรียนอะไรท่านถึงมีความสุขอยู่ได้ ก็เรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั่นเอง
เรียนรู้ตัวเอง
ถ้าเราเรียนรู้ตัวเองให้แจ่มแจ้งนะ จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มีตัวเราเป็นตัวตั้ง ทุกสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ด้วยมันมีลักษณะอย่างเดียวกัน
คือเราจะเรียนศาสตร์ของการเรียนรู้ตัวเองนะ สิ่งนี้เป็นของสำคัญ เป็นมรดกที่พระพุทธเจ้าให้เราไว้ เราทำได้จริงๆนะเราจะไม่ทุกข์แล้วล่ะ
…”
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

ดาวโหลดคลิปเสียงฉบับเต็มฟังนี้ได้ที่นี่
https://goo.gl/Sfu2Bi

ฟังเนื้อหาท่อนนี้แบบคลิปวีดีโอได้ที่นี่
(8 นาที) เพราะคือความจริงของทุกสิ่ง
http://www.youtube.com/watch?v=bYCyRZKSfl0

สามารถศึกษาธรรมะข้อธรรม หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช เพิ่มเติมได้ที่
http://www.dhamma.com

วิธีการปฏิบัติธรรม

แนะนำหนังสือเล่มนี้ค่ะ พึ่งอ่านจบเมื่อคืน (นับจากวันที่โพสนะคะ) ดีทีเดียวเลยค่ะ รู้สึกไขความเข้าใจในหลายๆเรื่องได้

จากที่รู้สึกอึดอัดมาหลายวัน อ่านจบทีเดียวคลายเลยล่ะค่ะ ^ ^
patibudtham-1-2-4
จากพระธรรมเทศนาเรื่อง “วิธีการปฏิบัติธรรม” โดยพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ซึ่งได้แสดงธรรมไว้ ณ สวนสันติธรรม เมื่อ 13 กรกฏาคม 2549
ฟังเป็นคลิปวีดีโอผ่าน Youtube ได้ที่นี่
http://www.youtube.com/watch?v=2rClv2NoZug
หรือท่านใดจริตโน้มมาทางการอ่านมากกว่า แบบอ่านแล้วสามารถจับและเข้าใจและเก็บสิ่งที่อ่านได้ดีกว่า ก็ดาวโหลดอ่านหนังสือ pdf ได้ที่นี่เลยค่ะ (เพราะเราก็นั่งอ่านผ่าน pdf เหมือนกัน) อ่านวิธีการปฏิบัติธรรม pdf

เว็บไซต์หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช
http://www.dhamma.com

คลิป ลพ.ปราโมทย์ แสดงธรรม น่าฟังมากค่ะ

วันก่อนนั่งดูวีดีโอที่ลพ.ปราโมทย์ ปาโมชโช เทศน์ที่ม.ขอนแก่น
น่าฟังมากทีเดียวค่ะ เอามาฝากค่ะ

560901-paj-pramote-khonkaen.mp4_000012200-600px-3
ฟังคลิปเสียง mp3 ได้ที่นี่ค่ะ
http://media.dhamma.com/pramote/other/mp3/560901.mp3
ดูแบบออนไลน์ที่นี่นะคะ
http://www.youtube.com/watch?v=56ClOc2XCmU
ไม่รู้สิ ฟังแล้วเราว่าครั้งนี้ท่านเทศน์ได้ดีมากเลยล่ะ

กาย ใจ สรรพสิ่ง และความทุกข์

sky-effect-1-600px

เราฝึกของเราไปเรื่อยนะ ถึงวันนึงเราเข้าใจความจริงสิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือรูปกับนามกายกับใจ จริงๆก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกธาตุข้างนอก เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลเป็นอนูเล็กๆของจักรวาลอันนึง

แต่ความไม่รู้ ทำให้เราไปขโมยเอามา ขโมยธรรมชาติรูปนามส่วนหนึ่งของจักรวาลออกมา เรียกว่าตัวเราขึ้นมา มีตัวเค้าขึ้นมา

แต่พอเราหัดเจริญสติรู้ลงที่กายรู้ลงที่ใจเรื่อยๆ
วันนึงเห็นกายนี้ใจนี้กับโลกข้างนอกก็อันเดียวกัน เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นอนัตตาเหมือนกัน อย่างกายนี้ก็เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนกันแผ่นฟ้าแผ่นดิน เหมือนกับคนอื่นสัตว์อื่นนั่นเอง ส่วนจิตใจก็เป็นนามธาตุนามธรรมเรียกวิญญาณธาตุ ก็เป็นธาตุอีกอันหนึ่ง

ความไม่รู้ทำให้เราไปขโมยเอาขันธ์ ๕ เอามาจากโลกเอามาเป็นของเรา พระพุทธเจ้าเลยสอนให้รู้กายให้รู้ใจเนืองๆ วันหนึ่งเห็นกายเห็นใจนี้กับโลกข้างนอกมันอันเดียวกันนี่ เข้าใจความจริงแล้วมันจะปล่อยวาง มันจะคืน จะสลัดคืนกายคืนใจ คืนเจ้าของคืนโลกนั่นเอง คืนจักรวาลเค้าไป

แล้วมันจะเกิดธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง เมื่อมันปล่อยวางแล้วมันพ้นความปรุงแต่ง มันจะไปเห็นสภาวะที่เหนือความปรุงแต่ง

เพราะงั้นเวลาคนที่เข้าไปเห็นสภาวะที่เหนือความปรุงแต่งแล้ว พอเราย้อนมาดู พอกลับมาดูโลกธาตุข้างนอก มันเห็นเสมอกันหมด ไม่มีคนมีสัตว์มีอะไร แต่ก็มีโดยสมมุติหรอก เพราะงั้นการกระทำอย่างพระอรหันต์สมัยพุทธกาล หรือครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านภาวนาดีๆ ท่านไม่เห็นมันมีคน ไม่มีคนมีสัตว์ แต่ว่าอนุเคราะห์สงเคราะห์ไปงั้นแหละ เมื่อจิตของท่านอยู่กับธรรม ก็ไม่มีคนมีสัตว์อะไร มันก็มีความสุข

แต่ถึงคราวจำเป็นต้องออกมาสัมผัสกับโลก เอาขันธ์ออกมาใช้นะ เป็นความลำบากขันธ์ต้องกลับมายุ่งกับโลก แต่ก็ทำไปเพื่อว่าสงเคราะห์ไปอย่างนั้นแหละ สงเคราะห์ทั้งๆที่เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีอะไรหรอก ไม่มีคนมีสัตว์หรอก แต่ความเมตตากรุณามันเต็มเปี่ยม ประกอบด้วยปัญญาด้วย เพราะงั้นอุเบกขาก็แนบอยู่เลย

คนไหนสงเคราะห์ก็ได้สงเคราะห์ไป คนไหนสงเคราะห์ไม่ได้รอไว้ก่อน วันเวลาจะค่อยๆให้บทเรียนกับแต่ละคน แต่ละคนแสวงหาความสุข บางคนมุ่งความสุขมากจนไม่ยอมดูทุกข์ ปฏิบัติไม่เอา ไม่เอาเรื่องปฏิบัติเลย ก็ต้องให้โลกนี้ รวมทั้งให้นรกนะ อบรมสั่งสอนให้ จิตเราจะผ่านความทุกข์ แต่ละคนจะต้องผ่านความทุกข์ครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งวันนึงมันเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ชีวิตนี้ทุกข์ล้วนๆนะ จะค่อยๆวาง ค่อยๆวางลงไป งั้นถ้าจะพูดไปแล้ว การเดินทางในสังสารวัฏนี่ ก็คือการอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ความจริงของชีวิตของธรรมชาตินั่นเอง

เรียนรู้ไปเรื่อย เที่ยวหาความสุขเที่ยวหนีความทุกข์ไปเรื่อย แต่บทเรียนที่ได้รับก็คือ สุขก็ไม่จริงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เยอะสุขน้อย สุขแป๊ปเดียวเดี๋ยวทุกข์อีกแล้ว ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ วันนึงใจโอย.. มันเข็ดขยาดนะเข็ด

หลวงปู่เทศก์ท่านเคยเขียนไว้ว่า ท่านตายไปท่านคงไม่เกิดอีกแล้วล่ะ ท่านเขียนบันทึกของท่านนะ คนอื่นเอามาเผยแพร่หลังจากท่านมรณะภาพไปแล้ว บอกเราคงไม่ต้องเกิดอีกแล้วล่ะ เพราะว่าเราเห็นแล้วว่ามันมีแต่ทุกข์ล้วนๆเลย

ตราบใดที่เรายังเห็นว่าทุกข์บ้างสุขบ้างนะ เรายังได้รับบทเรียนไม่พอ มีความสุขซักนิดนึงหลงระเริงไป ระเริงแป๊ปเดียวเดี๋ยวปัญหาใหม่มาอีกแล้ว ความทุกข์ใหม่เข้ามาจ่อเอาอีกแล้ว แก้ปัญหาแก้ทุกข์นี้ยังไม่เสร็จอีกตัวนึงมารอคิวอีกแล้ว ช่วงไหนความทุกข์ประดังเข้ามามากก็บอกว่าเราทุกข์ ช่วงไหนมันห่างออกไปนิดนึงเราก็บอกว่าช่วงนี้สุข สุขนิดเดียวเพื่อรอจะทุกข์อีกแล้ว ความสุขของมนุษย์ไม่มีหรอก

ความสุขเป็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าตลอดเราวิ่งไม่ทัน ตอนเด็กๆเคยรู้สึกไหม ถ้าเรียนหนังสือจบแล้วจะสุข ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุข ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุข ถ้าอย่างนี้ตลอดชีวิตเลย ตอนเด็กๆนะถ้าเรียนหนังสือจบแล้วจะมีความสุข จบปริญญาตรีแล้วได้ด๊อกเตอร์จะมีความสุข จบมาแล้วได้ง่ายดีๆทำ ถ้าได้งานดีๆทำจะมีความสุข ได้งานดีแล้ว ถ้ารวยๆแล้วจะมีความสุข ถ้าตำแหน่งใหญ่ๆจะสุขอีก มีแต่ถ้าจะสุข ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุข ถ้าอย่างนี้จะสุข ถ้ามีแฟนสวยๆหล่อๆ รวยๆเก่งๆ นิสัยดีๆแล้วจะสุขมีแต่ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุข มีแฟนแล้วถ้ามีลูกไบรท์ๆจะมีความสุข มีแต่ถ้าอีกแล้ว

วิ่งตามความสุขทั้งชีวิตเลยวิ่งไม่ทัน มันน่าสงสารนะ คนในโลกนะ มันถูกหลอก มารเอาความสุขมาหลอกให้เราวิ่งพล่านๆไปนะ ตกเป็นขี้ข้ามันจิกหัวเราตลอดเวลา เห็นแล้วน่าอนาจ เห็นแล้วสังเวชนะ จนวันนึงแก่แล้ว แก่แล้วนี้มันจะปวดจะเมื่อยนะ อยู่เฉยๆมันก็ปวดก็เมื่อยในตัวของมัน ยังนึกเลยวันไหนมันไม่เจ็บไมปวดไม่เมื่อยนะมันคงมีความสุข พอเจ็บหนักๆนะ เจ็บหนักๆนี่ โอย…รักษาไม่ไหวแล้ว ทรมานมากเลย รู้สึกอีกถ้าตายซะได้จะมีความสุข ไปโน่นแล้วข้ามไปอีกชาตินึงแล้ว

ไล่หาความสุขตั้งแต่เล็กๆเลย ถ้าได้อย่างนี้จะสุขได้อย่างนี้จะสุข จนสุดท้ายเลยถ้าตายซะได้คงจะมีความสุข ความสุขนี้เป็นของที่หลอกๆ เหมือนภาพลวงตาพวกนี้ หลอกตาอยู่ไกลๆ วิ่งไปเรื่อย หาไปเรื่อย ตะครุปไป หนีออกไปอีกแล้ว

ในการที่เราเข้ามารู้ใจของเรานะ เรียนรู้กายรู้ใจนะ เราจะเห็นความจริงของชีวิตเรา ชีวิตเราเราอยากให้มีความสุข อยากให้จิตใจมีความสุข หาทางตอบสนองตลอดเวลาเลย แล้วก็ไม่อิ่มไม่เต็ม จะขาดตลอดจะพล่องตลอด พระพุทธเจ้าถึงสอน นัตถิ ตัณหา สมา นที ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี อยากยังไงก็ไม่สมอยาก อยากไปเรื่อยแล้วก็ดิ้นไป อยากแล้วก็ดิ้นไป ทุกข์ตั้งแต่เกิดยันตาย เที่ยวหาความสุข เที่ยววิ่งหนีความทุกข์

ถ้าเรามีสติ แค่เรารู้กายเราจะเห็นเลย กายนี้ทุกข์ทั้งวัน ถ้าเราไม่มีสติเราจะรู้สึกร่างกายนี้นานๆทุกข์ทีหนึ่ง เจ็บป่วยแล้วถึงจะทุกข์ ถ้ามีสตินั่งอยู่นี่เดี๋ยวก็ทุกข์แล้ว ต้องเปลี่ยนอิริยาบท ยืนเดินนั่งนอนต้องเปลี่ยนอิริยาบทตลอดเพราะมันทุกข์ นั่งแล้วมันเมื่อยใช่ไหม มันทุกข์ ต้องเปลี่ยน

ละเอียดเข้าไปอีก หายใจเข้าหายใจออกก็เพื่อแก้ทุกข์นะ หายใจไม่ออกเลยทุกข์หนักเลย หายใจเข้าอย่างเดียวก็ทุกข์ หายใจออกอย่างเดียวก็ทุกข์ แค่หายใจเข้าหายใจออกก็หายใจแก้ทุกข์นะ คล้ายๆเราหายใจแขม่วๆๆหนีความทุกข์ไปทุกวัน หรือเราเปลี่ยนอิริยาบทไปเรื่อย นอนกลางคืน นอนในห้องพลิกไปพลิกมาเพราะมันทุกข์ ดิ้นหนีความทุกข์ตลอดชีวิตเลย วันหนึ่งหมดแรงดิ้นนะนอนเฉยๆหมดแรงดิ้น ความทุกข์ขยี้ตายเลย

ฉะนั้นชีวิตจริงๆทุกข์มากเลย แต่คนที่ไม่เคยเจริญสติจะรู้สึกว่ามันสุขบ้างทุกข์บ้าง เที่ยววิ่งหาความสุข เที่ยววิ่งหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคนไหนใจกล้า มีสติรู้กายมีสติรู้ใจ เห็นมันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆเลย วันหนึ่งใจเราปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจ มันจะพบความสุขอีกชนิดนึง

เคยมีคนหนึ่งนะ คนๆนึง ตอนเด็กๆอยู่บ้านพ่อบ้านแม่ มีความรู้สึกว่าบ้านของพ่อกับแม่ ไม่ใช่บ้านที่แท้จริงของเรา วันนึงเราโตขึ้นเราจะมีบ้านของตัวเอง ต่อมาย้ายบ้าน ยังไม่มีเงินซื้อบ้านไปเช่าบ้าน เช่าบ้านก็รู้อีก บ้านนี้เช่าเขาอยู่ยังไม่ใช่บ้านที่แท้จริงต้องเที่ยวหาไปอีก ทำงานไปเก็บเงินไป ไปซื้อบ้านได้แต่ที่ดินยังเช่าอยู่ บ้านเป็นของตัวเองแล้วแต่ที่ดินยังเช่าอยู่ รู้อีกว่าบ้านนี้ยังไม่ใช่บ้านที่แท้จริง วันนึงมีเงินไปซื้อทั้งที่ทั้งบ้านได้ รู้สึกว่าเราจะอยู่ตรงนี้ตลอดชีวิตแล้ว อยู่ไปซักพักนึงรู้สึกอีกแล้วยังไม่ใช่บ้านที่แท้จริง ใจเรานี่มันจะมีความผลักดันนะให้หาไปเรื่อยๆ วิ่งไปเรื่อยๆเคยรู้สึกไหม อย่างมาทำงานทำตรงนี้แล้วคิดว่าอยู่ตรงนี้แหละ ถึงช่วงนึงรู้สึกว่าแหมมันยังไม่ค่อยเหมาะ

กระทั่งหลวงพ่อนะ หลวงพ่อมาอยู่วัด แต่เดิมมาอยู่วัด คิดว่าเรามาทำวัดที่นี่ขึ้นมา แล้วเราจะอยู่ เราไม่ต้องไปไหนแล้ว นี่จะเป็นบ้านหลังสุดท้ายจะเป็นบ้านที่แท้จริงสักที พอมาอยู่ไม่กี่วันรู้สึกแล้วไม่ใช่นะไม่ใช่

งั้นเราจะเที่ยวหาที่ๆเราจะพ้นทุกข์จริงๆ เที่ยวหาไปเรื่อย นี่คือการเปรียบเทียบ บ้านแต่ละหลังก็คือภพทั้งหลายนั่นเอง เที่ยวหาไปอยู่ในภพนี้แล้วมันก็ยังไม่ใช่ อยู่ในภพนี้มันก็ยังไม่ใช่

อย่างเป็นเทวดานะ เทวดาเวลาจะตาย เพื่อจะบอกเลยให้ไปเกิดเป็นคนนะเป็นมนุษย์นั่นแหละดี พอมนุษย์จะตายพรรคพวกบอกไปเป็นเทวดานะ เห็นไหมมันหาบ้านไปเรื่อย หาภพไปเรื่อยหาไปเรื่อยๆเลยเราไม่พบบ้านที่แท้จริงใจนี้จะหาความสุขหาความสงบที่แท้จริงไม่ได้ เคยรู้สึกไหม

วันใดที่เราปล่อยวางจิตได้ เราถึงจะเจอบ้านที่แท้จริง

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
จากธรรมบรรยาย ๙ กรกฏาคม ๒๕๔๘ หลังฉันเช้า
ณ วัดสวนสันติธรรม จ.ชลบุรี
http://www.dhamma.com

ฟังคลิปเสียงทาง Youtube
กาย ใจ สรรพสิ่ง และความทุกข์

(ภาพการ์ตูน) เรื่อง “นิพพาน”

หมายเหตุ: หากเปิดด้วย firefox บน android ภาพอาจแตกแสดงผลได้ไม่เต็มที่ ด้วยข้อจำกัดของบราวเซอร์

(หรือถ้าภาพไม่ขึ้น ให้โหลดหน้านี้ใหม่อีกทีนึงนะคะ)

title

แท้จริงจิตของคนและสัตว์ทั้งหลาย จะส่งออกไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์อยู่ตลอดเวลา

1

ราวกับท่อนไม้แช่น้ำ แล้วจิตจะเกิดการกระเพื่อมหวั่นไหว ยินดียินร้ายไปกับอารมณ์อย่างไม่มีทางรู้เท่าทันได้เลย

2

ต่อเมื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา จนเกิดสติรู้เห็นสภาวธรรมได้แล้ว จะรู้สึกว่าอารมณ์ก็เป็นอันหนึ่ง จิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง คล้ายกับเห็นว่ากาย เวทนา และจิตสังขารก็ทำงานโลภโกรธหลงไป

3

โดยมีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเป็นผู้รู้ผู้เห็นธรรมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และเห็นว่าบางคราวธรรมชาติรู้ก็แยกจากอารมณ์ บางคราวธรรมชาติรู้ก็ไหลรวมเข้ากับอารมณ์

4

เมื่อศึกษามาถึงจุดนี้บางท่านก็เกิดความสงสัยว่าควรจะรู้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่กลางอกเป็นก้อนเล็กบ้างใหญ่บ้าง หนักบ้างเบาบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง หรือควรตามรู้ธรรมชาติรู้ที่เหมือนจะอยู่ด้านบนแถวๆ ศีรษะดี เรื่องนี้ขอเรียนว่าถ้าสติจะระลึกรู้อะไรก็รู้อันนั้น อย่าจงใจรู้อันใดอันหนึ่ง

เพราะเราไม่ได้เอาอะไรสักอย่างเดียว

5

เมื่อเจริญปัญญาเรียนรู้จิตใจตนเองมากเข้าๆ ก็จะเห็นอีกว่าจิตใจจะถูกยึดถือและบีบเค้นอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความทุกข์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น
6

เมื่อเจริญปัญญามากขึ้นไปอีก จนถึงขั้นที่สติตามรู้สภาวธรรมได้เป็นอัตโนมัติแล้ว จะเห็นว่าทันทีที่ตื่นนอน งานแรกที่ทำก็คือการหยิบฉวยจิตขึ้นมาศึกษาพิจารณา และเกิดการบีบคั้นจิตอยู่ตลอดเวลาด้วย

ทั้งจะพบว่าจิตพร้อมจะหยิบฉวยจิตได้โดยง่ายแต่ปล่อยวางไม่เป็น

7

เมื่อเจริญปัญญาจนถึงขีดสุด คือรู้แจ้งในความเป็นไตรลักษณ์ของจิตแล้ว ก็เท่ากับการรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง

เพราะจิตเป็นตัวทุกข์ตัวสุดท้ายที่จะปล่อยวางได้

จากนั้นจะเห็นว่า จิตเกิดการปล่อยวางก้อนทุกข์ที่กลางอก พร้อมทั้งสลัดทิ้งธรรมชาติรู้ที่ตั้งอยู่เบื้องบนทิ้งไปพร้อมๆกัน ถึงจุดนี้จิตใจจะเป็นอิสระเพราะไม่ยึดถืออะไรเลย

8

จิตจะได้สัมผัสกับความสุขของนิพพานที่ยิ่งใหญ่ เป็นอันจบการศึกษาพระพุทธศาสนาแต่เพียงเท่านี้ นี้คือการรู้แจ้งอริยสัจจ์ที่ชัดเจน หมดจนถึงขีดสุด

9

ภายหลังที่จบการศึกษาทางพระพุทธศาสนา เพราะเกิดปัญญารู้แจ้งอริยสัจจ์แล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่จะอยู่กับโลกในลักษณะของบัวที่ไม่ติดน้ำ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจทำหน้าที่ไปอย่างเดียวกับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในการรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖

10

แต่อารมณ์ทั้งหลายจะมีลักษณะเหมือนสิ่งที่เคลื่อนไหวไปในอากาศที่ว่างเปล่าไม่มีสิ่งใดไปกระทบกระทั่งกับอารมณ์ทั้งหลายนั้นที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ในจิตใจขึ้นมาได้อีก เพราะปล่อยวางจิตที่จะรองรับความทุกข์ทิ้งไปได้แล้ว

11

หลังจากที่ได้ศึกษาบทเรียนทั้ง ๓ จนจบแล้ว จิตก็พ้นจากกองทุกข์คือพ้นจากขันธ์ แต่ขันธ์ก็ยังคงไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาอยู่ดังเดิม ดังนั้นการเสวยเวทนาทางกายจึงยังมีอยู่แต่ไม่มีการเสวยเวทนาทางใจอีก

12

แม้ใจจะมีความสุขมากเพียงใด ใจก็ไม่ยึดถือในความสุขนั้น คงอยู่กับความสุขนั้นดังดอกบัวที่ไม่เปียกน้ำอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ถึงจุดนี้ความตายก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าชื่นชอบ การมีชีวิตอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าติดใจ

13

เพียงมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขเหมือนคนที่ทำงานรับจ้างเสร็จแล้วนั่งเล่นๆ รอรับค่าจ้างอยู่

และค่าจ้างนั้นก็คืออนุปาทิเสสนิพพาน หรือความสิ้นขันธ์อันเป็นกองทุกข์นั่นเอง

14

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

เพื่อประโยชน์ต่อผู้สนใจต่อไปหากท่านจะนำไปเผยแผ่ต่อที่อื่น โปรดลงเครดิตเหล่านี้ให้ครบนะคะ

เนื้อหาข้อความตัดตอนมาจากหนังสือ “วิมุตติมรรค”
โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

http://www.dhamma.com/

ดาวโหลดหนังสือ
วิมุตติมรรค pdf

ฟังเสียงอ่านหนังสือ
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3

มาน้อมถวายปัจจัยไทยธรรม ลพ.ปราโมทย์ กันคะ


ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย เครื่องปัจจัยไทยธรรม
และสิ่งของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้
แด่พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ขอพระอาจารย์ได้โปรดรับ เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
และครอบครัว ตราบสิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

~~~