สังสาระ ที่คุมขังสัตว์ให้เวียนว่ายในกองทุกข์

ผู้แต่ง ดังตฤณ
Road-to-Buddha-3-3-750px
ทอดตามองลงต่ำ เห็นปลาสองสามตัวกำลังพยายามพลุ่งขึ้นฮุบเศษซากอะไรบางอย่างบนผิวน้ำที่พอเป็นอาหารของมันได้ ถ้าเป็นเวลาปกติฉันคงมองผ่านอย่างไม่รู้สึกอะไร แต่ยามนี้ที่ใจกำลังคำนึงว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ทำให้มองปลาเหล่านั้นด้วยความสงสาร
ถ้าฉันหิวฉันยังเอาเงินไปแลกซื้อข้าวอิ่มอร่อยได้ทุกมื้อ แต่ถ้าปลาหิวแล้วไม่มีใครเอาอะไรไปให้ พวกมันก็ต้องกระเสือกกระสนหาสัตว์เล็กหรือซากขยะที่เลือกแล้วเห็นว่าพอประทังชีวิตได้
ชีวิตสัตว์จะมีอะไรมากไปกว่าสัญชาตญาณหาอาหาร กินยังไม่อิ่มก็ต้องหาอีก ทั้งชีวิตเหมือนมีอยู่เพื่อหาของใส่ท้องโดยแท้ หากพวกมันไม่ถูกจับมาทอดให้คนกิน ก็เหมือนเป็นชีวิตที่หาค่าไม่ได้เอาเสียเลย
ฉันส่งตามองนิ่ง ๆ แล้วเกิดประสบการณ์ภายในที่คล้ายอุปาทาน คือรู้สึกสัมผัสทุกข์ภายนอกตัวเองด้วยจิตอย่างแจ่มชัด ฉันเห็นทุกข์ขณะปลาทะลึ่งขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความหิวโหย เห็นทุกข์ขณะของการอ้าปากงับ เห็นทุกข์ขณะปลาจมลงน้ำด้วยอาการกระวนกระวายไม่อิ่มไม่พอ ฉันเลิกคิ้วนิดหนึ่งด้วยความพิศวงใจ ถามตนเองว่านี่เป็นสัมผัสที่คิดขึ้นเองผ่านสายตา หรือว่าเกิดจากการมีจิตสัมผัสอย่างแท้จริงกันแน่?
ในทุกหมวดของสติปัฏฐาน ๔ นั้น พระพุทธเจ้าให้ดูกาย เวทนา สภาวจิต และสภาพธรรมต่าง ๆ ทั้งภายในตัวเราและของคนอื่นภายนอก เห็นโดยความไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ฉันดูกายตัวเองและเวทนาของตัวเองมาพักหนึ่ง แต่ไม่เคยทดลองส่งจิตออกไปสัมผัสคนอื่นหรือสัตว์อื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่ว่าไม่อยากหรือกลัวจะไปหลงติดฤทธิ์ติดเดชอะไร แต่สารภาพตามตรงว่าไม่ทราบว่าเขาทำกันท่าไหนมากกว่า
ชั่วโมงที่ผ่านมาเรียกว่าสติของฉันมีฐานที่ตั้งเป็นเวทนา ทั้งสุขมากและทุกข์มากปรากฏชัดเจนแจ่มแจ๋วราวกับรูปทรงที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จิตมีความรู้ชัดถึงสภาพหรือลักษณะของสุขและทุกข์ตามจริงกระทั่งเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นอย่างนั้น ๆ เช่นสุขคือสภาพที่สบาย ผ่อนคลาย เยือกเย็นทุกข์คือสภาพที่บีบคั้น อึดอัด ร้อนรน เป็นการเห็นของจริงในตน เป็นการประจักษ์แจ้งว่าทั้งสุขและทุกข์ต่างก็อิงอาศัยอยู่ในกายนี้ร่วมกัน
นาทีปัจจุบัน เมื่อฉันทอดตามองเหล่าปลาหิว ฉันไม่ได้คาดหมายอันใดไว้ก่อน จึงเป็นการมองด้วยจิตที่ว่างเปล่าจากอุปาทาน ไม่มีความอยากรู้อยากเห็นหรือตั้งใจดูทุกขเวทนาของสัตว์อื่นทั้งสิ้น แต่สายตาที่มองอาการกระวนกระวายของสัตว์นั้น ก็ทำให้ทราบว่าต้นเหตุอาการกระวนกระวายคือจิตที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ห้วงทรมานอันยืดเยื้อ จิตฉันหยั่งลงไปในทุกข์ของมันขนาดเปรียบเทียบได้ว่ามนุษย์เราหิวจนแสบท้องแล้วอาจทำใจลืม ๆ ได้เมื่อหันไปสนใจสิ่งอื่น แต่ปลาหิวแล้วจะกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขไปทั้งตัว จิตที่รู้สึกโหยหาอาหารนั้นหาความสงบไม่ได้เลย มีแต่คิดพุ่งไปเอาอะไรที่พอกินได้มาใส่ท้องตลอดเวลา
ฉันอาจเห็นปลาที่อิ่มหมีพีมันในตู้ปลาในบ้านจนชิน หรือแม้ไปตามสวนสาธารณะแล้วซื้อขนมปังโยนแจกปลาก็เห็นมันดิ้นรนทึ้งแย่งเศษอาหารกันจ้าละหวั่นด้วยความรู้สึกธรรมดา ๆ ต่อเมื่อมีจิตสัมผัสทุกข์ซึ่งมีเนื้อหาเป็นรสเดียวกัน มีธรรมชาติทุกข์อันเนื่องด้วยกายเหมือน ๆ กัน ฉันถึงกับตกตะลึง และรับรู้เป็นวาระแรกว่าโลกแห่งการมีชีวิตน่ากลัวถึงเพียงนี้
ฉันเงยหน้าขึ้น ทอดมองไปตลอดแผ่นน้ำที่เรียบสงบผาสุกในสายตาของมนุษย์ กำหนดนึกถึงทุกข์ของปลาที่ยังติดอยู่ในใจ แล้วน้อมตรวจลงไปเบื้องใต้ผิวน้ำว่าทุกข์แบบเดียวกันนั้นมีประมาณสักเท่าใด ก็ต้องบังเกิดอาการขนลุกซ่านเกรียว เพราะคล้ายมีคลื่นทุกข์สาหัสจากความหิวโหยส่งออกมาจากทั่วทุกหย่อมน้ำ รวมกันเป็นปริมาณทุกข์ร้อนมหาศาล
ณ เวลานี้จิตฉันยังไม่เห็นชัดขนาดระบุจำนวน ความรู้สึกบอกตัวเองเพียงว่าอาหารปริมาณมากแค่ไหนก็เลี้ยงไม่พอ กำจัดทุกข์ใหญ่ของเหล่าสัตว์ในลำน้ำคลองสายนี้แห่งเดียวไม่ได้เลย โลกปรากฏเป็นของน่ากลัวไปในพริบตา ทั้งที่เมื่อครู่คลองสายนี้ยังดูสงบสุขเปี่ยมสันติน่าพิสมัยยิ่งกว่าที่ไหน ๆ โลกสันนิวาสอันแท้จริงอาจหลอกตาสัตว์บางประเภทให้หลงเพลินติดใจ แต่ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่คุมขังให้สัตว์อีกประเภทดิ้นพล่านไปจนกว่าจะถึงอายุขัย
สัมผัสนั้นไม่ทำให้ฉันคิดว่าเป็นอุปาทาน เพราะชัดราวกับหูได้ยินสัญญาณเสียงดัง ๆ เปล่งออกมาจากรอบทิศ แต่คงอธิบายให้ใครรับรู้ตามไม่ได้ ธรรมที่ปรากฏต่อใจเป็นเช่นนี้เอง รู้ได้ด้วยใจตน รู้ได้เฉพาะตน ส่งถ่ายให้ผู้อื่นรับรู้ตามไม่ได้ ถ้าพยายามพูด คนก็อาจหาว่าบ้าไปเอง คิดไปเองเท่านั้น
เหลือบตามองพื้นศาลา ลูกแมวผอมโซที่มีขนเพียงหรอมแหรมตัวหนึ่งเดินมาหาฉัน ดูมันตัวสั่นคล้ายคนชราท่าทางงก ๆ เงิ่น ๆ ด้วยสุขภาพย่ำแย่ เจ็บออด ๆ แอด ๆ มาตลอด มันไม่น่ารักเหมือนแมวบ้านที่ถูกประคบประหงมเลี้ยงดูด้วยนมและข้าวน้ำ ดวงตาด้าน ๆ ของมันเล็งมองฉันด้วยแวววอนขอ ปากของมันขยับร้องเมี้ยว ๆ เล็ก ๆ แบบไร้กำลังวังชา น่าแปลกที่แม้มันมีสภาพสมเพชเพียงใดก็ไม่อาจก่อให้เกิดใจสงสารสักเท่าไหร่
คงเป็นกรรมเก่าของมันส่งให้มาอยู่ในสภาพเช่นนี้กระมัง สภาพของมันคล้ายฟ้องให้ฉันรับรู้ด้วยตาเปล่าทำนอง ‘สมควรแล้วที่ต้องมาเป็นอย่างนี้’ อะไรบางอย่างในมัน จู่ ๆ ก็ทำให้ฉันนึกถึงคนใจร้ายที่มักก่อเวรด้วยการปอกลอก หรือหลอกลวงผู้อื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่พึ่งที่อาศัย
จิตฉันไม่นิ่งตั้งมั่นขนาดหมดความสงสัยว่าที่ ‘สัมผัส’ นั้นเป็นกรรมเก่าของแมวจริง ๆ หรือไม่ รู้แต่ว่าฉันไม่รู้สึกสงสารมันเลย วิบากกรรมของมันคงผลิต ‘กลิ่นเหม็น’ แปะไว้ คือเห็นแล้วเหม็นหน้า หรืออย่างเบาะ ๆ ก็สมน้ำหน้าทันทีโดยไม่ต้องทำความรู้จักเสียก่อน
หลังจากร้องขออาหารอยู่พักหนึ่ง พอแน่ใจว่าจะไม่ได้อะไรจากฉัน มันก็เดินกระต้วมกระเตี้ยมจากไปแบบไม่มีปากไม่มีเสียง ฉันมองตามอย่างไม่ตั้งใจนัก เห็นมันไปหยุดยืนมองน้ำครู่หนึ่ง แล้วเคลื่อนที่ต่อไปดม ๆ กองขยะเล็ก ๆ
ดู ๆ ท่าทางมันคงเผชิญชีวิตเปลี่ยวดายตามลำพังมาระยะหนึ่ง อาจนับแต่แรกเกิดทีเดียว วินาทีนั้นฉันเกิดประสบการณ์สัมผัสทุกข์ภายนอกขึ้นมาอีก กล่าวคือเมื่อไม่เห็นหน้าไร้สง่าราศีของมัน เห็นสภาพหัวเดียวกระเทียมลีบไปเรื่อย ๆ แล้ว ก็เข้าใจความรู้สึกหวาดกลัว เหงาหงอย และแสวงหาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของมันอย่างแจ่มชัด ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นที่มัน แต่มาปรากฏขึ้นที่ความรับรู้ของฉันด้วย ฉันแทบจะรู้เลยว่าอาการเพ่งมองอย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมายของมันนั้น ออกมาจากกระแสสำนึกภายในชนิดใด คล้ายกำลังกล้ำกลืนก้อนเศร้าชิ้นเดียวกันกับมันอยู่
พอสัมผัสชนิดเข้าถึงทุกข์ในแมวตัวนั้น ฉันจึงเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายน่าเวทนาเสมอกันหมด หลงทำชั่วด้วยความไม่รู้จนตัวชุ่มบาปเสมอกันหมด เวียนว่ายหลงวนอยู่ในภพภูมิอันวิจิตรด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าเกิดหนเดียวตายหนเดียวเสมอกันหมด
แทบไม่อาจกระเดือกน้ำลายลงคอ ราวกับเป็นคนอ่อนไหวขี้สงสาร เห็นสัตว์ตกทุกข์ได้ยากแล้วน้ำตาพานจะไหล ฉันรีบเดินไปยังร้านค้าที่ใกล้วัดที่สุด ซื้อขนมปังและอาหารบางอย่างที่คาดว่าแมวและปลาน่าจะกินได้ หอบกลับมาพะเรอเกวียน ต้องเดินหาลูกแมวตัวน้อยพักหนึ่งเพราะมันไม่ยืนอยู่ที่เดิมแล้ว
ฉันเจอมันไม่ห่างจากศาลาท่าน้ำเดิมนัก รีบคว้ามันมาลูบตัวปลอบอย่างไม่รังเกียจเนื้อตัวสกปรกของมันเอาข้าวของที่เตรียมมาเทลงจานกระดาษให้มันราวกับเป็นเจ้าเหมียวที่บ้าน ท่าทางมันดีใจออกหน้าออกตา ตะกรุมตะกรามกินใหญ่ ฉันปลื้มปีติจนสะอึก เพราะสัมผัสความดีใจเฉพาะหน้าของมันอย่างชัดเจน กับทั้งรู้ซึ้งด้วยว่าความดีใจนั้นจะเกิดขึ้นไม่นาน เดี๋ยวมันจะหิวอีก และฉันจะไม่สามารถตามไปช่วยให้มันหายหิวได้ตลอดไป
เอาขนมปังมาบิเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแจกปลาตรงท่าน้ำ ที่เมื่อครู่เห็นว่ามีแค่สองสามตัวนั้นผิดถนัด บัดนี้ มันแห่กันมาจากไหนไม่รู้เป็นฝูงใหญ่ เพียงโยนเศษขนมปังลงไปแค่สองสามชิ้นก็เห็นพวกมันดิ้นโครมครามแก่งแย่งกันราวกับเกิดกลียุค ขนมปังกองใหญ่ของฉันแก้หิวปลาโชคดีได้แค่ไม่กี่ตัว และเป็นการประทะประทังเพียงชั่ววูบชั่ววาบ ฉันสัมผัสถึงการหยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กน้อยที่มีให้พวกมันได้ในเวลาสั้นแสนสั้น ไม่มีปลาตัวไหนอิ่มเลย
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่งของตนจริง ๆ พวกมันไม่มีบุญคอยรักษา ไม่มีบุญคุ้มจากความหิวโหยอดโซ ไม่มีบุญปกป้องจากความหนาวร้อนในโลกนี้ เหมือนบ้านไม่มีรั้ว ภยันตรายหรือวิบากชั่วไหน ๆ ก็สามารถเข้ามาจู่โจมเล่นงานได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องฝ่าอุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น แถมยังต้องระหกระเหเร่ร่อนไปเกิดตายในสภาพบุญน้อยไปอีกนานแค่ไหนไม่อาจทราบ
สูดลมหายใจลึก พวกหมาแมวในวัดคงได้กลิ่นคนใจดี ชักแห่กันเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังขออาหารฉันบ้าง แต่ในมือฉันว่างวายเสียแล้ว ไม่เหลืออะไรให้พวกมันอีกเลย ได้แต่ถอนใจเฮือกใหญ่ เดินออกจากวัดด้วยความเศร้าสลด มนุษย์และสัตว์เกิดมาเพื่อเจริญวัย กระทำการดีร้ายด้วยความไม่รู้เป็นหลัก วันหนึ่งก็ต้องแก่ลงแล้วตายไปรับผลกรรมแบบหมดสิทธิ์เลือก แล้วก่อกรรมต่ออีก เพื่อรับผลอีก หาแก่นสารได้ที่ไหน ยิ่งคิดยิ่งสังเวชตนเองและเพื่อนร่วมทุกข์นับอนันต์ทั่วโลก
กระทั่งเกิดสติเพราะความเคยชินในการรู้ฝ่าเท้ากระทบพื้น จึงระลึกได้ว่าจิตกำลังเป็นทุกข์ ก็ดูทุกข์นั้นโดยความเป็นสภาพบีบคั้นจิตให้หม่นหมอง เต็มไปด้วยฝ้ามัวพร่าพราย ซึ่งเมื่อเห็นทุกข์ทางใจอยู่เดี๋ยวเดียว ก็คล้ายสภาพทุกข์นั้นถูกแทนที่ด้วยสติเต็มดวง กลายเป็นเบิกบานขึ้นมาใหม่ เบนวิถีความคิดไปอีกทาง คือเป็นมนุษย์นั้นดีอย่างนี้เองหนอ หาเงินเลี้ยงชีพก็ได้ แถมเมื่อเกิดในยามพุทธศาสนาอุบัติ ก็มีปัญญาเอาชนะความไร้สติ ความไม่รู้ และความแน่นทึบทั้งปวงได้ โชคดีกว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไหน ๆ
อย่างไรฉันต้องเอาตัวรอดจากสภาพความไม่รู้อันเลวร้ายและน่าประหวั่นพรั่นพรึงในชาตินี้ให้จงได้!
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “7 เดือนบรรลุธรรม”
โดยผู้แต่ง ดังตฤณ

ดาวโหลดฟัง mp3 คลิปเสียงอ่านหนังสือได้ที่
https://goo.gl/81r6vb

หรืออ่านหนังสือ pdf ได้ที่
https://goo.gl/oNxBEq

(การ์คำสอน) แค่ส่วนเกินจากความคิด – ดังตฤณ

just-some-extend-
“…ขณะคิดเรื่องใด สำรวจดูว่ากำลังเครียดหรือไม่
คือมีความรู้สึกแข็งๆอยู่ในหัว คิ้วขมวด
หน้าผากตึง อึดอัดอยู่ในอก มือเกร็งเท้างอ
อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดรวมกันหรือเปล่า
ถ้ามีอยู่ขอให้หยุดคิดชั่วคราว
หันความสนใจมาสำเหนียกรู้สึกถึงลักษณะเครียด
ที่เกิดขึ้นในร่างกายตรงจุดที่เรารับรู้ได้เด่นชัดที่สุด
พิจารณาว่านั่นเป็น ‘ส่วนเกิน’ ต่างหากจากความคิด
อย่าทำอะไรมากกว่าเห็นส่วนเกินนั้น
ให้เฝ้าดูเฉยๆ แล้วจะพบว่าส่วนเกินนั้นละลายหายไปเอง
อาจช้าหรือเร็ว แต่มันจะหายไป
ขอให้ลองดูจริงๆก็แล้วกัน…”
ดังตฤณ
จากหนังสือ วิปัสสนานุบาล หน้า ๕๗
อ่านหนังสือฉบับเต็มได้ที่นี่ คลิกที่นี่

[ใครคือดังตฤณ คลิกที่นี่ หรือ คลิกที่นี่]

ขอบคุณภาพต้นฉบับจาก New Heart New World

(การ์ดคำสอน) พาเดินจงกรม – ดังตฤณ

“…ขอให้สังเกตว่า ถ้าเท้าเกร็ง จะรู้กระทบไม่ชัด
แต่ถ้าเท้าอ่อน แล้ววางเหยียบพื้นได้เต็มฝ่าเท้า
จะรู้สึกถึงกระทบได้ชัด

ยิ่งรู้ต่อเนื่องนานเท่าใด
เท้าก็จะยิ่งปรากฏชัดต่อใจมากขึ้นเรื่อยๆเท่านั้น

ความฟุ้งซ่านในหัวจะหายไป
ความชัดเจนของฝ่าเท้ากระทบพื้นจะเด่นแทน
ความรู้สึกโดยรวมจึงเป็นประมาณ

ข้างบนว่าง ข้างล่างชัด…”

ดังตฤณ

จากคลิปเสียง “พาเดินจงกรม” นาทีที่ 00:03:28 (ซีดี “คำตอบใน facebook”)
ดาวโหลด mp3 เสียงอาจารย์ พาเดินจงกรมได้ https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/08/to_walk_back_and_forth_dungtrin.mp3

หรือฟังผ่าน Youtube ได้ที่นี่ค่ะ
http://www.youtube.com/watch?v=Pw27GHpzkw4&list=PL044EBB69DF1D46A5&index=5

[รู้จักกับดังตฤณ คลิกที่นี่ หรือ คลิกที่นี่]

(การ์ดคำสอน) หรือเราลืมไปแล้ว ว่าวิปัสสนาคืออะไร – ดังตฤณ

ถ้าจะเอาคำแปล
วิปัสสนาแปลได้หลายแบบ
แต่ถ้าถามว่าวิปัสสนาคืออะไร
เอาคำตอบชนิดสื่อใจถึงใจ

ก็ต้องว่าวิปัสสนาคือ

“เห็นตามจริง”

เนื้อหาข้อความจาก หนังสือวิปัสสนานุบาล โดย ดังตฤณ
อ่านหนังสือวิปัสสนานุบาลได้ คลิกที่นี่

[ใครคือดังตฤณ คลิกที่นี่ หรือ คลิกที่นี่]


ขอบคุณภาพต้นฉบับจาก
บ้านจิตสบาย – แหล่งเรียนรู้และภาวนาโดยการเจริญสติ
http://www.jitsabuy.com/

ลดความเคร่งตึงฝ่าเท้า สู่การเจริญอานาปานสติ – ดังตฤณ

“…ปิดตาลง เพื่อตัดเครื่องรบกวนสายตาออกไปก่อน
จากนั้น สำรวจดูว่าฝ่าเท้าที่วางราบกับพื้น
มีอาการงองุ้ม หรือว่าแผ่ราบในอาการผ่อนพัก
จะเห็นได้ชัดนะว่า
ถ้าจิตใจยังฟุ้งซ่านหรือว่าเคร่งเครียต
กล้ามเนื้อฝ่าเท้า จะเคร่งๆแข็งๆไปด้วย
แต่เมื่อเราผ่อนคลายกล้ามเนื้อฝ่าเท้าออก
ใจก็จะพลอยคลายจากอาการเคร่งเครียต
หรือว่าฟุ้งซ่านอึดอัดไปด้วยชั่วขณะหนึ่ง
นี่ก็แสดงให้เห็นนะว่า
ฝ่าเท้าเนี่ยไม่ได้เป็นอวัยวะรับน้ำหนักตัวอย่างเดียว
แต่มันยังเป็นเครื่องสะท้อนได้ด้วยว่าจิตใจของคุณ
มีอาการฟุ้งซ่าน มีอาการเคร่งเครียตอยู่หรือเปล่า…”
อาจารย์ศรันย์ ไมตรีเวช (นามปากกา “ดังตฤณ”)

จากไฟล์เสียง “อานาปานสติเบื้องต้น ตอนที่ 1”
ประมาณนาทีที่ 00:01:00

[ใครคือดังตฤณ คลิกที่นี่ หรือ คลิกที่นี่]

ดาวโหลดไฟล์ mp3 ตอนที่ 1 ได้ที่นี่
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/09/anapanasati_dungrtin_1.mp3
ตอนที่ 2 ดาวโหลดได้ที่นี่
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2013/09/anapanasati_dungrtin_2.mp3

รวมแหล่งดาวโหลดไฟล์เสียง mp3 หนังสือ pdf – ดังตฤณ
https://dhammaway.wordpress.com/2012/04/01/all-about-dungtrin/

รวมแหล่งดาวโหลดไฟล์เสียง mp3 หนังสือ pdf – ศรันย์ ไมตรีเวช (ดังตฤณ)

รวมแหล่งดาวโหลด ไฟล์คลิปเสียง mp3 หนังสือ pdf ธรรมบรรยาย

ของ ศรันย์ ไมตรีเวช (หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “ดังตฤณ”)

เว็บไซต์อาจารย์ ศรันย์ ไมตรีเวช (ดังตฤณ)
http://www.dungtrin.com/

[ใครคือดังตฤณ คลิกที่นี่ หรือ คลิกที่นี่]

และสามารถดาวโหลดไฟล์เสียงและผลงานอื่นๆ
ของอาจารย์เพิ่มเติมได้ที่นี่
http://www.dungtrin.com/
http://www.dungtrin.net/
http://www.fungdham.com/book/dungtrin.html
http://www.jozho.net/index.php?mo=2&c_art=24604
http://www.youtube.com/playlist?list=PL044EBB69DF1D46A5&feature=mh_lolz

และสามารถรับชมคลิปวีดีโอต่างๆเพิ่มเติม
ของอาจารย์ ศรันย์ ไมตรีเวช ได้ทาง youtube คลิกที่นี่

และหากท่านทราบแหล่งอื่นๆเพิ่มเติม วานช่วยกันบอกเล่าทางนี้ด้วยนะคะ

จะได้นำมาเพิ่มในรายการต่อไป
ขอบพระคุณคะ

ดั่งกระจกใส (อุบายภาวนาเบื้องต้น) – ดังตฤณ

“…อุบายเบื้องต้นของพระพุทธองค์คือไม่ให้รู้เข้าไปที่สภาวจิตตรงๆก่อน แต่รู้ผ่านสภาพหยาบๆบางอย่างที่เกิดขึ้นกับจิต เห็นมันเกิดขึ้นแล้วเหือดหายไป จึงค่อยเริ่มจับได้ถูกว่าจิตอยู่ตรงไหน

เหมือนกับเราทราบว่ามีกระจกใสอยู่แผ่นหนึ่ง มองเห็นตำแหน่งที่ตั้งได้ยาก วิธีง่ายๆที่เราจะรู้ว่ากระจกใสอยู่ที่ใด ก็คือปล่อยให้ฝุ่นละอองหรือคราบเปื้อนมาเกาะจนเห็นชัดเสียก่อน เมื่อฝุ่นละอองหรือคราบเปื้อนหายไป สิ่งที่เหลือก็คือกระจกใสอันถูกจับตาสังเกตได้ง่ายขึ้นแล้ว

การสังเกตขณะของจิตที่ “อะไรอย่างหนึ่งดับไป” นั้นจัดว่าสำคัญยิ่ง ถือเป็นแกนหลักของจิตตานุปัสสนาทีเดียว อย่างเช่นเมื่อราคะเกิดขึ้นแล้วรู้เท่าทัน กำหนดสติเห็นราคะปรากฏมีอยู่ในจิต ครู่หนึ่งเมื่อราคะหายไป ก็รู้จิตโดยความปราศจากราคะ

การเห็นจิตที่ว่างจากราคะนั้น นอกจากจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างสองสภาวะได้ชัดแล้ว ยังเป็นการฝึกรู้ตัวด้วยความสงัดเงียบ ไร้ความคิดอ่านปรุงแต่ง

เมื่อรู้จักเฉยอยู่ที่จิตอันเงียบกริบจนคุ้นแล้ว ก็จะพบว่าการประจักษ์สภาวะบางอย่างดับลงนั้น เป็นไปได้ชัดเจนโดยไม่มีความรู้สึกในตัวตนเข้ามาขัดขวางหรือบดบังทัศนวิสัยแต่อย่างใด…”

เนื้อหาตัดทอนบางส่วนมาจากหนังสือ
“มหาสติปัฏฐานสูตร”
บทที่ 11: จิตตานุปัสสนา

โดยผู้เขียน ดังตฤณ

อันตรายของการขวางทางบุญผู้อื่น – ดังตฤณ

ถาม – เป็นคนที่ชอบตระเวนทำบุญกับวัดต่างๆ แต่โดนคนอื่นทักอยู่เรื่อย ว่าถ้าทำบุญกับวัดทั่วไปจะได้บุญน้อย หรือกับบางวัดอาจไม่ได้บุญเลย แม้เราจะโต้ว่าบุญเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องของสถานที่ แต่ดูใจตัวเองก็ทราบว่าเสียกำลังใจไปไม่น้อยเหมือนกัน อย่างนี้จะเป็นเหตุให้กำลังบุญลดลงหรือเปล่าคะ?
กำลังใจลดลง ความปีติในการประกอบบุญก็ย่อมลดลงตามส่วนครับ ไม่แช่มชื่นเหมือนตอนกำลังใจยังเต็มๆไปได้หรอก
บุญที่ทำจะมีกำลังแรงจริงก็เมื่อ

๑) ขณะก่อนทำมีจิตเลื่อมใส คือนึกอยากทำด้วยตนเอง ไม่มีความขัดขืนฝืนใจ มีแต่ความแน่วแน่ว่าจะทำให้ได้

๒) ขณะกำลังทำมีความยินดี คือมีใจที่ปราศจากความโลภและความหงุดหงิดขัดเคืองใดๆ เรียกว่าถวายทานด้วยรอยยิ้มจากใจ ใจยิ้มแค่ไหนปากยิ้มแค่นั้น ไม่ใช่ฝืนแสร้งแกล้งปั้นยิ้มด้วยปากทั้งมีใจแห้ง (ถ้าใครถวายทานด้วยสีหน้าบึ้งตึงเคร่งเครียดเป็นประจำ ก็คาดหวังได้เลยว่าเกิดชาติต่อๆไปเป็นพวกที่มีใบหน้าหงิกงอ ท่าทางบอกบุญไม่รับ หมดสิทธิ์ทำอาชีพประชาสัมพันธ์เด็ดขาด)

๓) หลังทำแล้วมีความปรีดา คือเบิกบานสบาย นึกถึงเมื่อใดปลื้มใจเมื่อนั้น ว่าเราได้ประกอบบุญแล้ว สร้างที่พึ่งอันน่าอบอุ่นใจให้ตนเองแล้ว

ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยมทั้งสามกาลข้างต้น ก็เที่ยงที่บุญจะบันดาลสุขทั้งปัจจุบันและอนาคต ปัญหาของคุณคือโดนบั่นทอนกำลังใจ ซึ่งหมายถึงหลังทำจะขาดความปรีดาปราโมทย์ไป

โดยคร่าวนะครับ จะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัด เมื่อบุญที่คุณทำเผล็ดผล คุณอาจได้บ้านหลังหนึ่งเป็นรางวัล บ้านหลังนั้นอาจสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ แถมอยู่ในสภาพแวดล้อมอันวิจิตรชวนชื่นตาชื่นใจ แต่คุณอยู่แล้วกลับไม่ปลื้มเอาเฉยๆ มีเหตุให้รู้สึกขัดอกขัดใจเล็กๆน้อยๆ ส่วนลึกเหมือนไม่เต็มที่กับรางวัลใหญ่ที่ได้มา

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมเกิดจากจิต ไม่ใช่วัตถุ จิตและเจตนาเป็นอย่างไร กรรมก็เป็นอย่างนั้น กรรมเป็นอย่างไร ชีวิตและความรู้สึกก็เป็นไปตามนั้น คุณจึงควรรักษาจิตเพื่อประกอบบุญให้ดี อย่าหวั่นไหวกับอะไรง่ายๆ คนที่ชอบทักให้คนอื่นเสียกำลังใจในการบุญนั้น ทั้งปัจจุบันและอนาคตจะเป็นผู้ไม่มีกำลังใจในการบุญ โดนบั่นทอนกำลังใจเช่นกัน
พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าใครกล่าวว่าพระสมณโคดมตรัสแนะให้ให้ทานแก่พระองค์เพียงคนเดียว ไม่ควรให้แก่ใครอื่น และพึงให้ทานแก่สาวกของพระองค์ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ อย่างนี้ผู้นั้นได้ชื่อว่าไม่พูดตามที่พระองค์ตรัส ทั้งกล่าวตู่พระองค์ด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง

ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังตรัสเสริมอีกว่าถ้าใครห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง หมายความว่า

๑) เขาทำอันตรายแก่บุญของผู้ให้

๒) เขาทำอันตรายแก่ลาภของผู้รับ

๓) เขาย่อมทำลายตนเองด้วยบาปที่ตนก่อแล้ว

ฉะนั้นหากเมตตาเขาก็อย่าช่วยให้เขาทำกรรมสำเร็จ
ด้วยวิธีง่ายๆคืออย่าใจเสียตามคำเขาก็แล้วกันครับ
จากหนังสือ “เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว” ของผู้เขียน ดังตฤณ
“ดังตฤณ” เป็นนามปากกาของนักเขียนธรรมะชื่อดังท่านนึง ชื่อจริงๆท่านคือ ศรันย์ ไมตรีเวช
https://goo.gl/bFb3cm
คลังภาพ

พื้นฐานของวิชารู้ตามจริง – ดังตฤณ

เสียดาย คนตายไม่ได้อ่าน

การ “รู้ตามจริง” คือการขึ้นไปมีมุมมองอยู่เหนือเส้นทางทั้งสายบุญและสายบาป
แต่ก่อนจะรู้ตามจริงได้นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ต้องมีจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่เอียงไปในทางใดทางหนึ่งเสียก่อน
และตามธรรมชาติของจิตที่จะเป็นสมาธิ
ก็ต้องการน้ำใจสละออก คือไม่ตระหนี่ถี่เหนียว
คิดเจือจานสมบัติส่วนเกินของตนให้คนอื่นบ้าง

หากใครยังมีความตระหนี่ถี่เหนียว จิตใจจะคับแคบ
เวลาระลึกถึงวัตถุอันเป็นเป้าแห่งสมาธิอันใด
ก็จะเพ่งคับแคบด้วยความโลภเอาความสงบ
ไม่ใช่ระลึกรู้อย่างมีสติพอดีๆในแบบที่ทำให้เกิดสมาธิขึ้นได้

และหากเป็นผู้ผูกพยาบาทแน่นหนา ไม่มีน้ำใจให้อภัยใครเสียบ้าง
พอมาฝึกสมาธิแล้วไม่สงบรวดเร็วดังใจ
ก็จะเกิดความขัดเคืองรุนแรงตามนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้น
ยังผลให้อึดอัดคับข้องเสมอๆ

แต่หากเป็นผู้ทำทานมาดี จิตจะเปิดกว้าง
ไม่เพ่งคับแคบด้วยแรงบีบของนิสัยตระหนี่

และหากคิดให้อภัยใครต่อใครอย่างสม่ำเสมอ
จิตจะเยือกเย็น ไม่กระสับกระส่ายเร่าร้อนง่ายๆ
แม้ทำสมาธิล้มเหลวก็ไม่ขุ่นใจ ไม่โกรธตัวเอง
ไม่แค้นเคืองวาสนาเหมือนอย่างหลายต่อหลายคน

นอกจากต้องการความเปิดกว้างแบบทานแล้ว
สมาธิยังต้องการความสะอาดของจิตประกอบพร้อมอยู่ด้วย
ถ้ายังสกปรกมอมแมมไปด้วยกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตล่ะก็
จะเหมือนมีหมอกมัวมุงบังไม่ให้ระลึกรู้วัตถุอันเป็นเป้าล่อสมาธิได้นานเลย
อันนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้ถือศีล รักษาศีลจนสะอาด
แล้วจะทราบด้วยตนเองว่าผลที่ตามมาคือความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ
เมื่อมีความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ
จิตก็ย่อมมีความสว่างสบาย
ง่ายต่อการทำให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิรู้ตามจริงได้

เอามาจากหนังสือ “เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน”
(ที่หน้า 315-316)

ของผู้เขียน ดังตฤณ

[ดังตฤณ เป็นนามปากกาของนักเขียนธรรมะชื่อดังท่านนึง ชื่อจริงๆคือ ศรันย์ ไมตรีเวช
ใครคือดังตฤณ คลิกที่นี่ หรือ คลิกที่นี่]

เว็บไซต์ ดังตฤณ http://www.dungtrin.com/
แหล่งดาวโหลดไฟล์หนังสือเล่มเต็ม
– (ดาวโหลดเสียงอ่านหนังสือ) http://www.dungtrin.net/multimedia/siadai.html
– (อ่านออนไลน์) http://dungtrin.com/whatapity/00.htm
คลังภาพ

ดังตฤณ – เรามีความละอายในการกระทำอันเป็นบาปบ้างหรือไม่?

เรามีความละอายในการกระทำอันเป็นบาปบ้างหรือไม่?

เสียดาย คนตายไม่ได้อ่าน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าใครสามารถกล่าวมุสาได้โดยปราศจากความละอาย ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่เรื่องจริง ก็ไม่มีบาปกรรมใดแม้แต่หนึ่งเดียวที่เขาจะทำไม่ลง

ความละอายจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด เป็นองค์ประกอบสำคัญสูงสุดในการถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์ ตราบใดยังมีความละอาย ไม่อยากทำบาป ไม่นึกสนุกติดใจในกรรมชั่ว ก็เรียกว่าเขายังพอมีพื้นของความเป็นมนุษย์อยู่ แต่หากทำบาปได้แบบไม่ต้องกะพริบตา เช่นพูดโกหกมดเท็จปั้นน้ำเป็นตัวได้คล่องแคล่วเป็นธรรมชาติ นั่นแหละคือเขาขาดองค์ประกอบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ไปแล้ว คนส่วนใหญ่มองว่าการโกหกเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเป็นเรื่องสามัญที่ทุกคนต้องทำ อาจจะโกหกนิดๆ หรืออาจจะโกหกมากๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บีบคั้น ไม่ตระหนักกันเลยว่าถ้าทำเป็นประจำจนชิน ในที่สุดก็จะหมดความละอาย และเมื่อใดหมดความละอายในการโป้ปดมดเท็จ เมื่อนั้นจิตวิญญาณจะด้านชาต่อบาป เหมือนมีอะไรมาบังตาไม่ให้เห็นตามจริงไปเสียหมด ที่ตามมาก็คือการทำบาปได้ไม่เลือก เพราะตัวมุสามันบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ขอให้เอาดีเข้าตัวได้เป็นพอหากถามตัวเองแล้วได้คำตอบว่าเราสามารถโกหกโดยไม่ละอาย ก็นับว่าคำถามคำตอบนี้น่ากลัวยิ่ง เพราะเราไม่อาจคาดคะเนได้เลยว่าตัวเองเผลอก่อบาปก่อกรรมหนักๆโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มานานแค่ไหน เมื่อไม่มีความละอายบาปอันเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ก็แทบทำนายได้ว่าต้องหลุดร่วงจากสุคติภูมิแน่อยู่แล้ว แต่นี่ไปก่อบาปก่อกรรมโดยไม่รู้ว่าเป็นบาปกรรมเข้าให้อีก มิแปลว่ามีสิทธิ์ถูกเหวี่ยงลงต่ำไปถึงพื้นนรกกันหรอกหรือ?

สรุปคือการขาดความละอายต่อบาปคือการไม่อาจทำนายว่าจะต้องระหกระเหเร่ร่อนไปสถิตอยู่ในภพไหนภูมิใดอันเป็นเบื้องล่าง หากปราศจากความสะทกสะท้าน หากยังทะนงหลงนึกว่าไม่เป็นไร นั่นก็อาจเป็นการทำงานชิ้นใหญ่อีกครั้งของอุปาทานก็ได้!

เอามาจากหนังสือ
“เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน”
(หน้า 302-303)

ผู้เขียน ดังตฤณ