(อ่าน+ดูภาพประกอบ) “วางตัววางตนลงซะ”

just-put-down-v2-1-6
เวลาตีระฆังทำวัตรเช้า – เย็น หมาทุกตัวในวัดจะหอนเป็นจังหวะตามจังหวะระฆัง พอหยุดตีมันก็หยุดหอนไปด้วย แต่ถ้าตีเมื่อไหร่ก็หอนอีก มันคุมตัวเองไม่ได้ เห็นแล้วก็อดขำและอดสมเพชไม่ได้ที่มันกลายเป็นทาสของระฆังไปแล้ว
แต่มานึกดูให้ดีบ่อยครั้งเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าเราอาจไม่ได้มีปฏิกิริยากับเสียงระฆัง แต่มีปฏิกิริยากับเสียงอย่างอื่นแทน เช่นเสียงดัง เสียงตำหนิ พอได้ยินคนต่อว่าเราก็ตอบโต้หรือต่อว่ากลับไปทันที มันเป็นกิริยาโดยอัตโนมัติ หรือถึงแม้ไม่พูดตอบโต้ให้ได้ยินแต่ความรู้สึกขุ่นเคืองก็ผุดขึ้นมาทันที ได้ยินปุ๊บก็โกรธปั๊บเลย เห็นไหมว่าคนเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นกับสัตว์เท่านั้น
ถามว่าเราเลือกที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เสียงที่มากระทบทันทีได้ไหม เราทำได้นะถ้าฝึกใจไว้ดี เวลาหูได้ยินเสียงก็เกิดเวทนาขึ้นมา จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ตรงนั้นแหละถ้ามีสติ มันก็หยุดอยู่แค่เวทนา ไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นความโกรธ ความฉุนเฉียว มันไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นพฤติกรรมต่อว่า ผลักไส ทำร้าย
การมีสติกำกับจิตโดยเฉพาะเวลาเกิดผัสสะขึ้นมา ตอนที่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส อย่างมากก็มีแค่เวทนาทางกายเกิดขึ้น แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาทางใจ หรือแม้ว่าจะมีเวทนาทางใจ พอมีสติเข้าไปรู้ มันก็หยุดแค่นั้น หลวงพ่อเทียนท่านเปรียบเหมือนกับเอาดินร่วนขว้างไปที่ข้างฝา พอกระทบกับข้างฝา มันก็ตกลงมา แต่ถ้าเป็นคนธรรมดา พอมีผัสสะเกิดขึ้นก็เปรียบเหมือนกับเอาดินเหนียวขว้างไปที่ข้างฝา มันก็ติดข้างฝาเลย คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นคือเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ก็ปรุงต่อไปเป็นตัณหา อุปาทาน เวลาได้ยินเสียงต่อว่า แทนที่จะปล่อยผ่านเลยไป ปรากฏว่าเสียงด่าก็ยังติดแน่นที่ใจ ผ่านไปเป็นวันเป็นอาทิตย์ ก็ยังไม่หลุด เก็บเอามาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นึกถึงทีไรเสียงก็ยังดังชัดเจนในความรู้สึกเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกี้
just-put-down-v2-2
ไม่ใช่คำต่อว่าเท่านั้น เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความพลัดพรากสูญเสีย การประสบกับสิ่งไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นแล้วดับ แต่ยังค้างคาติดตรึงในจิตใจ ผ่านไปเป็นวันก็ยังประทับแน่นอยู่ นี่แหละที่เขาเรียกว่าอุปาทานหรือความยึดติด หลวงพ่อเทียนจึงเปรียบเหมือนดินเหนียวที่ขว้างไปแล้วติดข้างฝา
แต่ถ้าเรามีสติกำกับจิต เมื่อมีผัสสะแล้ว ก็ไม่มีการปรุงแต่งยืดยาวต่อไป เมื่อตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าได้ยิน มีอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดีหรือยินร้าย อยากได้หรืออยากผลักไส ถ้าเป็นดิน ก็เป็นดินทรายที่พอกระทบข้างฝาก็ตกลงมาเท่านั้นเอง
ความปรุงแต่งของจิตมันเกิดขึ้นเมื่อไม่มีสติกำกับใจ โดยเฉพาะเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ผัสสะเป็นขั้นตอนสำคัญไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ย่อมเกิดเวทนาหรือความรู้สึกตามมา เช่น รู้สึกสบาย ไม่สบาย เมื่อกายเจอลมเย็นก็รู้สึกสบาย เรียกว่าสุขเวทนา เจอแดดเผาก็รู้สึกไม่สบายคือเกิดทุกขเวทนา นึกถึงคนที่เรารักก็เกิดความชื่นใจ นี่คือสุขเวทนา นึกถึงคนที่เราโกรธเกลียด ก็รู้สึกเร่าร้อนหรือเจ็บปวด นี่คือทุกขเวทนา ปัญหาคือคนเราไม่ได้ยุติแค่นี้ เมื่อไม่มีสติเข้าไปรู้ทันในเวทนา ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นตัณหาคือความอยาก อะไรที่ทำให้เราชื่นใจก็อยากได้หรืออยากครอบครอง อะไรที่ทำให้เราเจ็บปวดไม่สบาย ก็อยากผลักไสออกไป หรืออยากให้สภาพเช่นนั้นหมดไป ถือว่าเป็นตัณหาด้วยเหมือนกัน เรียกว่าวิภวตัณหา
just-put-down-v2-3-2
พอเกิดตัณหาแล้ว ถ้าปล่อยเลยตามเลย ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นอุปาทานคือความยึดติด เช่น อยากได้อะไร ก็เฝ้านึกถึงสิ่งนั้น คิดหาหนทางให้ได้มา บางทีหลับไปแล้วก็ยังฝันถึงสิ่งนั้น ชอบใครก็นึกถึงแต่คนนั้น พยายามทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่ใกล้เขา เห็นหน้าเขา หรือแม้แต่เห็นหลังคาบ้านเขาก็ยังดี ในทางตรงกันข้าม เกลียดใครก็เฝ้าแต่นึกคิดถึงคนนั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกข์แต่ก็ยังวนเวียนคิดถึงคนนั้น โกรธใคร เศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไร ก็จะวนคิดถึงเรื่องนั้น อุปาทานมันทำให้ติดแน่นในใจ กินข้าวก็คิด อาบน้ำก็คิด นอนก็คิด นี่คืออาการของอุปาทานหรือความยึดติด
กระบวนการปรุงแต่งของจิตเริ่มต้นมาจากการที่ไม่มีสติเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสติทันทีที่เกิดผัสสะ มันก็ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาโดยเฉพาะเวทนาทางใจ หรือเมื่อเวทนาเกิดขึ้นแล้วถึงค่อยมีสติ มันก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงต่อ เหมือนกับว่าสะเก็ดไฟเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีเชื้อ ก็เลยไม่ลามต่อไปหรือลุกเป็นเปลว มันหยุดแค่นั้น ปล่อยไว้ไม่นานก็ดับ แต่ถ้ามีเชื้อ สะเก็ดไฟก็จะลามหรือลุกเป็นเปลว ตอนนี้แหละที่อารมณ์เกิดขึ้นต่อจากเวทนา ถ้ายังมีเชื้ออีก ไฟก็จะโหมไหม้ เวลาเกิดอารมณ์ขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นอกุศล ถ้าปล่อยให้มันปรุงแต่งหรือลุกลามต่อไป ก็จะกลายเป็นพายุอารมณ์ที่เผาไหม้จิตจนไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้ นี่เป็นเพราะไม่มีสติรักษาใจ
ทีนี้ถ้าไม่มีสติ มันก็จะปรุงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนขึ้น ความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวตนหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า เกิดความรู้สึก “ตัวกู ของกู”ขึ้นมา เช่น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะมีสติเห็นความโกรธ เราลืมตัวก็เลยไปสำคัญมั่นหมายว่า ฉันโกรธ หรือฉันเป็นผู้โกรธ นี่เรียกว่าตัวตนเกิดขึ้นแล้ว ตรงนี้แหละที่ทางพระเรียกว่า “ชาติ” เกิดขึ้นแล้ว คือเกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ นี้เป็นเพราะไม่มีสติเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เลยเข้าไปยึดและปรุงจนเกิดตัวตนขึ้นมาว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือมีตัวฉันเข้าไปเป็นเจ้าของอารมณ์เหล่านั้น แต่ถ้ามีสติ ก็เพียงแค่เห็นเฉย ๆ การปรุงว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าเห็นความโกรธ ผู้โกรธก็ไม่เกิดขึ้น เห็นความโกรธกับเป็นผู้โกรธต่างกันมากนะ เห็นความเศร้ากับเป็นผู้เศร้าก็ต่างกันมากเช่นกัน
just-put-down-v2-3-1
มีผู้หญิงคนหนึ่งปฏิบัติกับหลวงพ่อคำเขียน พอทำไปได้สองสามวันก็มาปรึกษาหลวงพ่อว่า “ทำอย่างไรดี หนูเครียดจังเลย” เธอทำด้วยความตั้งใจมากจึงเครียด หลวงพ่อไม่ตอบแต่บอกว่า “ ถามไม่ถูก ให้ถามใหม่ ” เธอได้คิดขึ้นมาเพราะว่าฟังเทศน์หลวงพ่อมาหลายวันแล้ว จึงถามใหม่ว่า “ทำอย่างไรดี ในใจหนูมีความเครียดมากเลย”
มันต่างกันนะ “หนูเครียดจังเลย” กับ “ในใจหนูมีความเครียดมากเลย” ประโยคแรกแสดงว่าเข้าไปเป็นผู้เครียดแล้ว แต่ประโยคที่สองแสดงว่าเขาเห็นความเครียด แต่อาจเป็นเพราะยังเห็นไม่ตลอด เห็นแล้วยังเผลอเข้าไปเป็น เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็เลยทุกข์ แต่ก็ยังดีที่พอเห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าเห็นล้วน ๆ ไม่เข้าไปเป็นเลยก็จะไม่ทุกข์เท่าไหร่ นี่แหละ “ผู้เห็น” กับ “ผู้เป็น” มันต่างกัน ถ้าเราเข้าไปเป็นแล้วแสดงว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว พอตัวกูเกิดขึ้น ความรู้สึกว่าเป็นของกูก็ตามมา เช่น เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ปรุงไปเป็นผู้โกรธ ทีนี้ก็จะไปยึดเอาความโกรธเป็นของฉันด้วย
การเกิดที่ว่ามาเป็นการเกิดทางจิตใจซึ่งเกิดขึ้นได้มากมายวันละหลายครั้ง ตรงข้ามกับการเกิดเป็นรูปเป็นร่างซึ่งเกิดได้เพียงครั้งเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการเกิดทางกายและทางใจต้องอาศัยพ่อและแม่ พระพุทธเจ้าเรียกตัณหาและมานะว่าเป็นพ่อและแม่ มีพระรูปหนึ่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วมาทูลลาพระพุทธเจ้า เมื่อพระรูปนั้นเดินออกไปก็มีพระกลุ่มใหม่เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสกับพระกลุ่มนี้ว่า พระที่เพิ่งเดินผ่านไปนั้นบรรลุธรรมแล้วเพราะได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ พระที่ได้ยินก็ตกใจว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่แล้วจะบรรลุธรรมได้หรือ พระพุทธเจ้าก็อธิบายว่าท่านได้ฆ่าตัณหาและมานะแล้ว
ตัณหาและมานะเปรียบเสมือนพ่อและแม่ เพราะเป็นปัจจัยทำให้เกิดตัวตนขึ้นมา เป็นเพราะตัณหาและมานะ จึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมา เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ และถือเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของฉันตลอดเวลา นอกจากความรู้สึกว่าเป็นผู้ทุกข์ ผู้เศร้า แล้ว ความรู้สึกฉันเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นนักปฏิบัติ เป็นพระ เป็นผู้ชนะหรือเป็นผู้แพ้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเป็นตัวกูของกู และขึ้นชื่อว่าตัวกูของกู เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ทุกข์ก็เพราะว่าความรู้สึกสำคัญมั่นหมายนั้นมีกิเลสเจือปนอยู่เสมอ คืออยากให้เป็นไปตามใจฉัน พอมันไม่เป็นไปตามใจฉันก็ทุกข์ เช่นเป็นผู้ชนะ ดูเผิน ๆ ก็มีความสุขดี แต่ลึก ๆ ก็มีความหวั่นกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะถูกแย่งชิงไป เห็นใครเก่งกว่าก็ทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะรู้สึกถูกคุกคาม รู้สึกว่าตัวเองจะสูญเสียความเป็นผู้ชนะไป เห็นไหมว่าไม่ใช่ผู้แพ้เท่านั้นที่ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์
just-put-down-v2-4
เป็นพ่อเป็นแม่ก็ทุกข์เวลาลูกพูดจาไม่ดีกับตน หรือเป็นทุกข์เมื่อลูกไม่เป็นไปตามใจตน นี่เป็นเพราะยังมีกิเลสและอุปาทานของความเป็นแม่อยู่ บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพราะลูกไม่พูดไม่คุยด้วย ลูกเอาแต่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แม่จะพูดอย่างไรก็ไม่สนใจ แม่ขู่ว่าจะโดดตึกลูกก็ยังไม่สนใจ แม่ก็เลยน้อยใจโดดตึกตาย ตายเพราะว่ายึดมั่นในความเป็นแม่มาก จึงมีความอยากจะให้ลูกปฏิบัติกับตนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอลูกไม่ทำตาม ความเป็นแม่ก็ถูกกระทบอย่างแรง จนทนไม่ได้อีกต่อไป
เป็นอะไรก็ตามก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น เป็นพระก็ทุกข์เวลาญาติโยมพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ แค่เขาไม่กราบไม่ไหว้เราก็ไม่พอใจแล้ว นึกในใจว่า เอ๊ะ ฉันเป็นพระนะ เธอเป็นฆราวาสทำไมไม่ไหว้ฉัน อาการอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะไปยึดมั่นสำคัญหมายในความเป็นพระโดยมีกิเลสเจือปนอยู่ด้วย และถ้าสังเกตให้ดีความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยู่ในวัดฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม พอออกไปในหมู่บ้าน เจอชาวบ้าน ก็เกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นคนเมือง แต่ถ้าไปเจอฝรั่งหรือญี่ปุ่น ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้นแทนที่ กลับไปบ้านเจอลูก ก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นพ่อแม่ เห็นไหมว่า ความรู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเป็นฉันมันไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตนก็เพราะเหตุนี้
ที่ว่าตัวตนเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ แต่เราไม่รู้ เรานึกอยู่เสมอว่าตัวฉันนั้นมันเที่ยง หรือมีอยู่จริง ๆ แต่ความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นในใจเราสุดแท้แต่เหตุปัจจัย เช่น ไปเจอคนต่างชาติต่างภาษา ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้น แต่พอเจอคนใต้ ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนกรุงเทพ ฯ หรือคนอีสานก็เกิดขึ้น แม้แต่คนอีสาน พอมาเจอกัน ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนชัยภูมิก็เกิดขึ้น หากว่าอีกคนเป็นคนขอนแก่น เราปรุงเราสร้างความเป็นตัวฉันอยู่ตลอดเวลาสุดแท้แต่เหตุปัจจัย อันนี้แหละที่เราเรียกว่าตัวตนเป็นสิ่งสมมุติ เพราะมันไม่ได้มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเหล่านี้เราไม่รู้ทัน ก็เลยไปยึดด้วยความหลงว่าตัวฉันนี้มีอยู่จริง แล้วยังยึดต่อไปด้วยความอยากว่าตัวฉันเป็นของเที่ยง ต้องคงอยู่ตลอดไป เราจึงยอมรับความตายไม่ได้
just-put-down-v2-5
มีนายทหารคนหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ เป็นวีรบุรุษชายแดน เขาเคยพูดว่าทหารที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร เขายังบอกอีกว่าคนอย่างเขาไม่มีวันฆ่าตัวตาย ความรู้สึกว่าฉันเป็นชายชาติทหารฝังแน่นในใจจนเขามั่นใจว่าจะไม่มีวันฆ่าตัวตายเด็ดขาด แล้ววันหนึ่งเขาก็เป็นมะเร็ง เจ็บปวดทรมานมาก เขาทนความเจ็บปวดอยู่หลายปี ในที่สุดก็ยิงตัวตาย ทีแรกใคร ๆ ก็นึกว่าเป็นฆาตกรรม เพราะไม่คิดว่าคนอย่างเขาจะฆ่าตัวตายได้ เพราะเคยลั่นวาจาว่าคนที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร แต่ในที่สุดหลักฐานก็บ่งชี้ว่าเขาฆ่าตัวตายจริง ๆ คำถามคือชายชาติทหารอย่างเขาฆ่าตัวตายได้อย่างไร คำตอบก็คือว่าตอนนั้นเขาไม่รู้สึกว่าตัวเป็นชายชาติทหารแล้ว แต่เป็นผู้ป่วย เป็นผู้เจ็บปวดทรมาน ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นชายชาติทหารได้หมดไป ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนป่วยที่ทุกข์ทรมานมาแทนที่ ความสำคัญมั่นหมายอย่างหลังนี้เองที่ทำให้เขาตัดสินใจยิงตัวตาย
กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีความเที่ยงแท้ แม้เขาจะเคยมั่นใจอย่างแรงกล้าว่าตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร แต่ตัวตนนี้ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่ปรุงขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ถึงเวลาเหตุปัจจัยเปลี่ยน ตัวตนที่ว่าก็เปลี่ยนไปด้วย และอาจเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามก็ได้ และพอรู้สึกว่าตัวฉันคือผู้ป่วยที่เจ็บทรมาน อย่างเดียวที่ต้องการก็คือพ้นจากความเจ็บปวดทุกวิถีทาง แม้จะต้องฆ่าตัวตายก็ยอม
ความเป็นตัวตนมันไม่ยั่งยืนถาวรเพราะมันเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย พอเหตุปัจจัยเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไปด้วย เหตุปัจจัยนี้อาจจะได้แก่ปัจจัยภายใน เช่น ความรู้สึกนึกคิด และปัจจัยภายนอก เช่น ผู้คนแวดล้อม ทั้งหมดนี้ล้วนไม่เที่ยงทั้งนั้น โดยเฉพาะใจของเราเอาแน่เอานอนไม่ได้อยู่แล้ว ความเป็นตัวฉันก็เลยผันแปร เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ และอย่างที่บอกไว้แล้ว เป็นอะไรก็ตามมันก็ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าเป็นในทางที่ดี หรือไม่ดีก็ตาม เป็นผู้แพ้ก็แน่อยู่แล้วว่าต้องทุกข์ แต่เป็นผู้ชนะหรือคนเก่งก็หนีความทุกข์ไม่พ้นเช่นกัน เจอใครที่เก่งแม้จะไม่เท่าเรา แต่ก็ระแวงว่าเขาจะมาแย่งชิงความเป็นผู้ชนะไปจากเรา และถ้าเขาแย่งชิงไปได้ ก็จะเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น เพราะสูญเสียความเป็นผู้ชนะไป พูดอีกอย่างคือตัวฉันที่เป็นผู้ชนะได้ตายไป อันนี้คือความตายอย่างหนึ่งที่เราเจออยู่บ่อย ๆ แม้จะยังไม่หมดลม
เป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าจะให้ดีก็คือไม่เป็นอะไรเลย ไม่เป็นอะไรเลยหมายความว่าอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยใช่ไหม ไม่ใช่ แต่หมายความว่าเราจะทำอะไรก็ตามเราอย่าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ ใครเขาจะเรียกเราว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็รู้ว่านั่นเป็นสมมุติ แม้เราจะบอกกับคนอื่นว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ แต่ก็ไม่ได้ไปยึดมั่นนั่นคือตัวฉันจริง ๆ ถ้าไปคิดเช่นนั้นก็เรียกว่าหลงแล้ว และเตรียมตัวทุกข์ได้เลย
just-put-down-v2-6
มีเรื่องเล่าว่าครูคนหนึ่งสอนหนังสืออยู่แถววัดสระเกศ วันหนึ่งรู้สึกกลุ้มใจจึงเดินขึ้นไปบนภูเขาทอง พอถึงยอดภูเขาทองแล้วมองออกไปไกล ๆ เห็นโลกกว้างสุดสายตา ก็รู้สึกเบาสบาย ความกลุ้มใจก็คลายไป ทีนี้พอแกเครียดทีไรก็จะขึ้นไปบนภูเขาทอง ขึ้นแล้วก็รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย บางวันขึ้นสองสามรอบ ทำเช่นนั้นเป็นปี
เผอิญมีนักข่าวคนหนึ่งไปเที่ยวภูเขาทอง ได้ยินเรื่องเล่าจากเจ้าหน้าที่ที่นั่นว่ามีครูคนหนึ่งขึ้นภูเขาทองวันหนึ่งไม่รู้กี่เที่ยว ก็เลยสนใจไปทำข่าว พอเรื่องราวของเขาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เขาก็ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ จึงดังเข้าไปใหญ่ ได้รางวัลหลายรางวัล ได้รับสมญานามว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทองที่ไม่มีใครเทียบทาน
ถึงตอนนี้ก็มีหลายคนอยากเป็นนักขึ้นภูเขาทองบ้าง หลายคนอยากลบสถิติของเขาซึ่งขึ้นภูเขาทองมาเป็นพัน ๆ ครั้ง ครูคนนี้ทีแรกขึ้นภูเขาทองโดยไม่ได้นึกอะไรแต่พอมีคนยกย่องว่าเขาเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ความรู้สึกว่าฉันเป็นนักขึ้นภูเขาทองก็เกิดขึ้นกับครูคนนี้ รู้สึกภูมิใจเพราะโลกนี้มีคนเดียวที่เป็นนักขึ้นภูเขาทอง แต่พอรู้ว่ามีคนจะมาลบสถิติ ก็ไม่สบายใจขึ้นมา เพราะกลัวว่าความเป็นนักขึ้นภูเขาทองจะถูกแย่งชิงไป เขาจึงต้องขึ้นภูเขาทองให้บ่อยขึ้น แต่ก่อนพอขึ้นแล้วมีความสุข สบายใจ แต่ตอนนี้กลายเป็นหน้าที่ไปแล้ว ต้องขึ้นเพื่อที่จะไม่ให้ใครมาลบสถิติหรือแย่งชิงตำแหน่งนักขึ้นภูเขาทองไป เขาเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเมื่อมีคนหนึ่งขึ้นภูเขาทองมากเกือบเท่าเขา ถึงตอนนี้เขาก็เริ่มนอนไม่หลับ คิดแต่ว่าจะต้องขึ้นให้บ่อยขึ้นแม้งานจะเยอะก็ตาม
นี่เป็นเรื่องแต่ง แต่ว่าก็สอดคล้องกับชีวิตจริงของคนเรา คนเราเวลาทำอะไรก็ตามถ้าไม่ได้นึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่ทุกข์นะ แต่พอรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาก็เป็นทุกข์ อย่างเช่นครูในเรื่องนี้ ตอนแรก ๆ ขึ้นภูเขาทองโดยไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักขึ้นภูเขาทอง แต่พอผู้คนเรียกขานว่าเขาเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาจริง ๆ ว่าฉันเป็นนักขึ้นภูเขาทอง พอคิดแบบนี้แล้วก็ไม่อยากสูญเสียความเป็นนักขึ้นภูเขาทอง ดังนั้นจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาตัวตนอันนี้ไว้
เพราะเหตุนี้ถึงบอกว่าความมีความเป็นทำให้เราทุกข์ได้ มีก็ทุกข์ เพราะอยากจะรักษาเอาไว้ไม่ให้มันหายไป พอหายไปก็ทุกข์อีก มีอะไรก็ตาม ถ้าไปยึดมั่นกับมัน ก็ทำให้ทุกข์ แม้จะเป็นสุขแต่ก็มีทุกข์เจือปน ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งเล่าถึงการโต้ตอบระหว่างเทวดากับพระพุทธเจ้า เทวดาว่า มีลูกก็เป็นสุขเพราะลูก มีวัวก็เป็นสุขเพราะวัว แต่พระพุทธเจ้าก็พูดแย้งว่า มีลูกก็ทุกข์เพราะลูก มีวัวก็ทุกข์เพราะวัว มีอะไรก็ตามย่อมทุกข์เพราะสิ่งนั้น โดยเฉพาะเมื่อไปสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นของฉัน บ้านของฉัน ลูกของฉัน ก็เตรียมทุกข์ไว้ได้เลยเพราะว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น ถ้าเราไม่พลัดพรากจากสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็พลัดพรากจากเรา มันก็มีสองอย่างเท่านั้นแหละทันทีรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นจะมีหรือจะเป็นอะไรก็ตามต้องมีหรือเป็นให้ถูกต้อง มีให้เป็น เป็นให้เป็น คือมีโดยไม่ยึดมั่นว่าเป็นของฉัน และเป็นโดยไม่ไปยึดมั่นว่าเป็นตัวฉัน เดี๋ยวนี้เรามีกันไม่เป็น และก็เป็นกันอย่างไม่ถูกต้อง คือเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีด้วยความหลงก็เลยทุกข์ ดีที่สุดก็คือไม่มีไม่เป็นอะไรเลย
just-put-down-v2-7
มีพราหมณ์คนหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้ามีรูปลักษณะดี มีสง่าราศีมาก ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ก็แปลกใจ ถามว่าท่านเป็นเทวดาหรือ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าไม่ใช่ ถามว่าท่านเป็นคนธรรพ์หรือ พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธ งั้นเป็นยักษ์ใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธอีก เขาถามว่าท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าก็บอกไม่ใช่ พราหมณ์งงก็งงเลยถามว่าแล้วท่านเป็นใคร พระพุทธเจ้าก็ไม่ตอบตรง ๆ แต่ตรัสว่าให้ถือว่าพระองค์เป็น “ พุทธะ” แล้วกัน เพราะกิเลสที่จะทำให้พระองค์เป็นเทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ หรือมนุษย์ พระองค์ละได้หมดแล้ว จึงไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น
พระพุทธองค์ไม่ถือว่าพระองค์เป็นอะไรเลย แม้แต่ “ พุทธะ” ก็เป็นสมมุติที่มีไว้เพื่อใช้เรียกเท่านั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงถือว่าพระองค์เป็นอะไรแม้กระทั่งพุทธะด้วยซ้ำ แต่ว่าเพื่อความสะดวกในการสื่อสารก็ให้เรียกพระองค์ว่าพุทธะ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ถ้าจะเป็นนั่นเป็นนี่ก็เพราะคนอื่นเรียกทั้งนั้น ในจิตใจของพระองค์ก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไร เพราะว่าตัณหามานะหมดไปแล้ว กิเลสที่จะทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่มีแล้ว
ดังนั้นเราจึงควรระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเราเป็นอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้น จึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้ายึดมั่นถือมั่นเราก็จะเป็นทุกข์ เพราะตัณหามานะจะแฝงซ่อนอยู่กับความเป็นนั่นเป็นนี่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เป็นผู้แพ้ก็ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์ เป็นคนชั่วก็ทุกข์ เป็นคนดีก็ทุกข์ เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ทุกข์ทันทีที่ไปยึดมั่นว่าฉันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใครที่สำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็น นักปฏิบัติธรรม พอมีคนมาพูดว่า “ เธอไม่มีสติเลย ” จะโกรธและเป็นทุกข์มาก ว่าอย่างอื่นไม่ว่ามาว่าฉันไม่มีสติ นี้แหละเป็นเพราะเราไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม เลยถูกตัณหาที่แฝงอยู่ในความเป็นนักปฏิบัติธรรมเล่นงานเอา
มองให้เห็นว่าความเป็นนั่นเป็นนี่เป็นสิ่งสมมุติที่ถูกปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ของจริง แต่ถึงแม้จะยังมองไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสมมุติ อย่างน้อยก็ให้เราตระหนักว่าความเป็นนั่นเป็นนี่มันไม่เที่ยง ถ้าไปยึดมั่นให้มันเที่ยงเราเองนั่นแหละจะเป็นทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่นเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องมองให้ลึกลงไปจนกระทั่งรู้ว่านี่มันเป็นสมมุติจริง ๆ เป็นสิ่งที่เราปรุงขึ้นมา ทั้งหมดนี้เริ่มตั้งแต่ผัสสะเกิดขึ้น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ผัสสะเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีสติ ก็จะเกิดเวทนาทางใจ เวทนาเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีสติอีก มันก็จะปรุงต่อไปเป็นตัณหา ถ้าสติยังตามไม่ทัน คราวนี้ก็จะปรุงเป็นอุปาทาน แล้วเลยไปเป็นภพชาติเลย เป็นภพชาติแล้วมันไม่จบแค่นั้น สิ่งที่ตามมาก็คือเกิดชรา มรณะ และความทุกข์ในที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่เที่ยง ต้องแปรเปลี่ยน อาการที่แปรเปลี่ยนนั้นก็คือชรามรณะนั่นเอง
just-put-down-v2-8
ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกคุกคามด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ต้องแปรเปลี่ยนหรือสูญสลายไป ไม่ว่าเป็นนักขึ้นภูเขาทองหรือชายชาติทหารก็ตาม จะยึดมั่นถือมั่นแค่ไหนก็ตาม สักวันความเป็นนักขึ้นภูเขาทองหรือความเป็นชายชาติทหาร ก็ต้องหมดไป หรือถูกพรากไป เช่น พอถูกมะเร็งเล่นงาน ความรู้สึกว่าเป็นชายชาติทหารก็หมดไป ความเป็นผู้เจ็บ ผู้ทุกข์ทรมานก็มาแทนที่ เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ที่ไม่มีศักดิ์ศรี น่าหยามหยัน เกิดความทุกข์ท่วมท้น
อย่าให้เกิดการปรุงแต่งจนไปสู่ความทุกข์ ควรเริ่มต้นด้วยการมีสติตั้งแต่ตอนเกิดผัสสะ แต่ถึงแม้สติตามไม่ทันในผัสสะ ก็ขอให้มีสติรู้ทันในเวทนา และในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความโกรธเกิดขึ้น ความอยากเกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้โกรธผู้อยาก แม้กระทั่งเวลาปฏิบัติธรรม เราเดินจงกรมหรือสร้างจังหวะก็ดี ควรเห็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่แต่อย่าเผลอคิดว่าฉันกำลังเดิน อย่าให้ความเป็นผู้เดินเกิดขึ้น ให้รู้แต่ว่ามีการเดิน มีการเคลื่อนไหวมือไปมา แต่ไม่ใช่ไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันกำลังเดิน ฉันกำลังเคลื่อนไหวมือไปมา ฉันกำลังตามลมหายใจ นั่นไม่ถูกแล้ว เรากำลังปล่อยให้ตัวตนเกิดขึ้นแล้ว อย่าไปปรุงแต่งเป็นตัวตนอย่างนั้น
just-put-down-v2-9
แม้กระทั่งความทุกข์เมื่อเกิดขึ้นก็เห็นความทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เมื่อตากระทบรูป การเห็นเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้เห็น เมื่อหูได้ยินเสียง การได้ยินเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้ได้ยิน เพราะถ้ามีตัวฉันเป็นผู้ได้ยิน เดี๋ยวก็มีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์เพราะได้ยินเสียงดัง หรือคำตำหนิ เวลาร่างกายมีแผล ก็รู้ว่ามีแผลเกิดขึ้นกับร่างกาย อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันมีแผล มีดบาดนิ้วก็ให้รู้ว่ามีดบาดนิ้วไม่ใช่ไปปรุงแต่งว่ามีดบาดฉัน อย่าปล่อยให้มีตัวฉันหรือตัวกู เพราะถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์ในที่สุด หรือมีตัวฉันเป็นผู้รับแรงกระทบกระแทกต่าง ๆ ถ้าไม่มีตัวฉันเกิดข้นแล้ว เราจะมีชีวิตที่โปร่งเบา เป็นอิสระ ความทุกข์ไม่มีที่ตั้ง เพราะไม่มีตัวฉันมาเป็นเจ้าของความทุกข์
ใหม่ ๆ เรายังไม่สามารถที่จะมองเห็นตรงนี้ได้ แต่ว่าเมื่อเราดูและเห็นอยู่เรื่อย ๆ ปัญญาหรือความประจักษ์ในความจริงเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น แล้วเราก็จะรู้ว่า เราทุกข์เพราะปล่อยให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นโดยแท้ นี่แหละคือต้นแห่งความทุกข์ทั้งปวง
just-put-down-v2-10
เนื้อหาจากหนังสือ “ตื่นรู้ที่ภูหลง”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
จากตอนที่ชื่อว่า เหนือตัวตน พ้นสมมุติ (mp3)

สามารถศึกษาข้อธรรมะเพิ่มเติมจาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้ที่
http://www.visalo.org/ และ http://www.pasukato.org/

เว้นจังหวะให้ชีวิตบ้าง

การปลีกกตัวมาอยู่ที่นี่ถือว่าเป็นการเว้นวรรคให้แก่ชีวิต ชีวิตต้องมีการเว้นวรรคบ้าง เช่นเดียวกับลมหายใจของเรา มีหายใจเข้าแล้วก็ต้องมีหายใจออก เราไม่สามารถที่จะหายใจเข้าไปได้ตลอด ต้องเว้นจังหวะแล้วจึงหายใจออก เราไม่สามารถหายใจออกหายใจเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนสลับกันไป การทำงานก็เช่นเดียวกัน ทำงานแล้วก็ต้องรู้จักหยุดบ้าง ธรรมชาติให้เวลากลางวันคู่กับกลางคืน กลางวันทำงานเต็มที่ พอถึงกลางคืนก็ควรพักผ่อน

ขอให้สังเกตดู อะไรก็ตามเป็นไปได้ดีก็เพราะมีการเว้นจังหวะหรือมีช่องว่างที่เหมาะสม หนังสือที่อ่านง่าย ก็เพราะแต่ละประโยคมีการเว้นวรรคอย่างถูกจังหวะ ถ้าตัวหนังสือติดกันเป็นพรืด ไม่มีเว้นวรรคเลย จะน่าอ่านไหม ใครอ่านก็ต้องรู้สึกงงงวย ไม่อยากอ่าน ศิลปะอย่างหนึ่งของการเขียนหนังสือให้น่าอ่านก็คือรู้จักเว้นช่องว่างระหว่างคำ ระหว่างประโยค และระหว่างย่อหน้า ทำนองเดียวกัน ดนตรีที่ไพเราะ ไม่ใช่เพราะมีเสียงดังเท่านั้น แต่เพราะมีช่วงที่เงียบแฝงอยู่ด้วย ถ้ากลอง กีตาร์ ไวโอลินส่งเสียงไม่หยุด ไม่รู้จักเว้นจังหวะเสียบ้าง เพลงนั้นก็คงไม่เพราะ

สำหรับคนเรา การเว้นวรรคหรือเติมช่องว่างให้กับชีวิตอย่างการมาปฏิบัติธรรมนี้จะเรียกว่าเป็นการพักผ่อนก็ได้ หรือจะถือว่าเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ก็ได้ ชาร์จแบตเตอรี่เพื่อจะได้มีพลังสำหรับการทำงานในโอกาสต่อไป ที่จริงมันไม่สามารถแยกกันได้ ระหว่างการหลีกเร้นเพื่อพักผ่อนกับการทำงาน สองอย่างนี้เสริมกัน ทำงานอย่างเดียวโดยไม่ได้พักเลย ก็ทำไปได้ไม่ตลอด หรือว่าเอาแต่ใช้ชีวิตอย่างเดียว โดยไม่ได้เติมอะไรให้กับชีวิตเลยในที่สุดก็หมดแรง มีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการพักหรือการหยุดเท่าไหร่ หยุดเมื่อไหร่ก็รู้สึกว่ากำลังถอยหลัง ปล่อยให้คนอื่นแซงขึ้นหน้า หรือไม่ก็กลัวว่าดอกเบี้ยจะโตเอาๆ พักเมื่อไหร่ก็รู้สึกว่าชีวิตมันว่างเกินไป ถือว่าเป็นความฟุ่มเฟือยของชีวิต คนเหล่านี้เห็นว่า จะต้องใช้ชีวิตแข่งกับเวลา ถ้ามีเวลาเหลืออยู่น้อยนิด ก็อยากจะเอาไปใช้ทำงานทำการหรือหาเงินหาทองให้ได้มากๆ

พูดมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงเรื่องของชายคนหนึ่งที่เลื่อยไม้อย่างเอาเป็นเอาตาย มีเพื่อนคนหนึ่งมาเห็นเข้าก็เลยถามว่า เลื่อยมานานหรือยัง เขาบอกว่าเลื่อยมาตั้งแต่เช้าจนนี่ก็ค่ำแล้ว เพื่อนถามว่าเหนื่อยไหม เขาตอบว่าเหนื่อยสิ เพื่อนถามต่อไปว่าทำไมไม่พักล่ะ เขาก็บอกว่ากำลังวุ่นอยู่กับการเลื่อยไม้ เพื่อนเป็นห่วง ก็เลยพูดว่าไม่ลองหยุดพักซักหน่อยเหรอ หายเหนื่อยแล้วค่อยมาทำงานต่อ อย่างน้อยก็จะได้เอาตะไบมาลับคมเลื่อยให้มันคมขึ้น จะช่วยให้เลื่อยได้เร็วขึ้น ชายคนนั้นก็ตอบว่า ไม่เห็นหรือไงว่ากำลังวุ่นอยู่ ตอนนี้ยังทำอย่างอื่นไม่ได้ทั้งนั้น ว่าแล้วก็เลื่อยหน้าดำคร่ำเครียดต่อไป

บางครั้งคนเราก็เหมือนกับชายคนนี้ คือเอาแต่เลื่อยอย่างเดียวไม่ยอมหยุด ทั้งๆ ที่การหยุดพักจะทำให้มีกำลังดีขึ้น และถ้ารู้จักหยุดเพื่อลับคมเลื่อยให้คมขึ้น ก็จะทำให้เลื่อยได้เร็วขึ้น ทุ่นทั้งแรงทุ่นทั้งเวลา แต่เขาก็ยังไม่ยอมเลย เหตุผลที่เขาให้ก็คือ กำลังวุ่นอยู่กับการเลื่อย เลยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ไม่สนใจแม้กระทั่งการทำให้เลื่อยคมขึ้น เขาหาได้เฉลียวใจไม่ว่า เพียงแค่เสียเวลานิดหน่อยก็จะทำให้การเลื่อยนั้นเร็วขึ้นดีขึ้นและเหนื่อยน้อยลง เขาไม่ยอมหยุดเพราะคิดว่าจะทำให้เสียเวลา ลึกๆ ก็เพราะคิดว่าทำอะไรมากๆ แล้วมันจะดี แต่ที่จริงแล้วทำน้อยลงแต่อาจได้ผลดีกว่าก็ได้ ในประสบการณ์ของเรา เราพบบ่อยไปว่าการทำอะไรให้ช้าลงกลับทำให้ได้ผลดีขึ้น นักเรียนที่ทำข้อสอบ ตอบทุกข้อโดยไม่ทันคิดถี่ถ้วนเพราะกลัวหมดเวลาก่อน บ่อยครั้งกลับได้คะแนนน้อยกว่าคนที่ทำเพียงไม่กี่ข้อ แต่คิดถี่ถ้วนทุกข้อ และตอบถูกทุกข้อ

การที่เรามาปลีกวิเวกอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการมาลับคมเลื่อยก็ได้ เราวางเลื่อยเอาไว้ก่อน แล้วมาลับคมเลื่อย ก่อนที่จะเลื่อยต่อไป การพักผ่อนในตัวมันเองก็เป็นการลับคมเลื่อยอยู่แล้ว แค่พักผ่อนร่างกายก็สำคัญไม่น้อย เพราะว่าร่างกายของเรา ก็คือตัวเลื่อยนั่นเอง แต่ตอนนี้มันบิ่นแล้ว ทำงานมากมันก็บิ่นมันไม่คมแล้ว เพียงแค่การมาพักร่างกายอย่างเดียวก็จะช่วยให้เลื่อยคมขึ้น แต่ที่นี่เราไม่ได้มาพักเพียงแค่กาย เรามาพักใจด้วยการฝึกจิตให้สงบ มีสติ มีความมั่นคง และทำให้ชีวิตมีสมดุล ก็เท่ากับว่าเลื่อยถูกลับให้คมขึ้นกว่าเดิม ถ้าเรากลับไปเลื่อยต่อเมื่อไหร่ ก็แน่ใจได้ว่าจะเลื่อยได้ดีขึ้นเร็วขึ้น แต่ถ้าเราไม่พักเสียเลย อย่างชายคนนั้นไม่พักเสียเลย แทนที่จะทำได้เร็วก็กลับทำได้ช้า หรืออาจจะทำไม่เสร็จเลยก็ได้เพราะว่าล้มพับเสียก่อน แทนที่จะเสร็จในตอนค่ำก็มาเสร็จวันรุ่งขึ้น ช้าไปอีกตั้งหลายชั่วโมง เพราะว่าป่วยเสียก่อน หรือไม่มือไม้ก็พองทำต่อไม่ได้ ยิ่งอยากจะให้เสร็จไวๆ กลับเสร็จช้า แต่ถ้าเว้นวรรคให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนบ้าง ก็จะทำงานได้ดี การหยุดพักนั้นดูเผินๆ เหมือนจะทำให้เสร็จช้าลง แต่ที่จริงทำให้เสร็จไวขึ้น

คนเรามักไปเน้นเรื่องผลหรือความสำเร็จมากไป แต่ลืมต้นทุนที่จะเอาลงไปในงานนั้นๆ ผลสำเร็จหรือผลงานก็เหมือนกับผลไม้ ผลไม้ออกมาดีหรือไม่ต้องอาศัยต้นทุนคือต้นไม้ ถ้าต้นไม้นั้นเราเอาใจใส่ดูแล รักษา รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ต้นไม้เติบโตแข็งแรง ก็ย่อมให้ผลดี ทั้งดก และหอมหวาน ทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝาก จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ฝาก ถ้าเงินต้นก้อนนิดเดียวดอกเบี้ยก็น้อยตามไปด้วย ถ้าสนใจแต่ดอกเบี้ยอยากได้ดอกเบี้ยเยอะๆ แต่ว่าไม่สนใจต้นทุน ความอยากนั้นก็เป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ แต่ว่าคนจำนวนมากก็ทำอย่างนั้นจริงๆ ก็คือว่าอยากจะให้งานออกมาดี ประสบความสำเร็จเต็มที่ แต่ว่าไม่ได้เอาใจใส่ต้นทุนคือร่างกายและจิตใจ ร่างกายและจิตใจเป็นต้นทุนสำคัญหรือปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่งานที่ดีได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอ จิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ อารมณ์ไม่ดี ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ยาก

นิทานสอนเด็กบางครั้งก็มีคติเตือนใจเราได้มาก ถ้าเราจะลองพิจารณาดู อย่างเรื่องห่านออกไข่เป็นทองคำ เราเรียนและฟังมาตั้งแต่เล็ก เรื่องมีว่าชายคนหนึ่งโชคดีได้ห่านมา ห่านตัวนี้ออกไข่มาเป็นทองคำทุกวันๆ เจ้าของดีใจมาก แต่ตอนหลังรู้สึกว่าได้วันละฟองมันน้อยไป อยากจะได้มากกว่านั้น และก็เชื่อว่าในตัวห่านน่าจะมีไข่ที่เป็นทองคำอีกตั้งเยอะแยะ ถ้าจะรอให้มันออกมาวันละฟองๆ มันช้าไป อย่ากระนั้นเลยคว้านท้องเอาไข่ออกมาดีกว่า ก็เลยฆ่าห่านตัวนั้น ปรากฏว่าไม่ได้ไข่ทองคำแม้แต่ฟองเดียว ชายคนนั้นลืมไปว่าถ้าอยากจะได้ไข่ทองคำมากๆ ก็ต้องดูแลรักษาตัวห่านให้ดี แต่นี่กลับไม่สนใจ มิหนำซ้ำไปฆ่ามันเสีย ก็เท่ากับว่าไปฆ่าต้นทุนเสีย จะมีผลงอกเงยได้อย่างไร

นิทานเรื่องนี้นอกจากจะสอนว่า “โลภมากลาภมักหาย” อย่างที่เราได้ยินครูสอนตอนเด็กๆ แล้ว ยังสอนผู้ใหญ่ด้วยว่า อยากได้ผล ก็ต้องสนใจที่ต้นทุนหรือเหตุปัจจัย ถ้าอยากได้ไข่เยอะๆ ก็อย่าไปใช้ทางลัด เช่น คว้านท้องห่าน วิธีที่ถูกต้องก็คือดูแลห่านให้ดี ให้มันกินอิ่ม นอนอุ่น มีสุขภาพดี ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตระหนักด้วยว่าห่านก็มีขีดจำกัดในการให้ไข่ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งๆ จะให้กี่ฟองก็ได้ตามใจเรา

นี้ก็เหมือนกับชีวิตของเราซึ่งมีขอบเขตจำกัดในการทำงาน วันหนึ่งร่างกายของเราทำงานได้อย่างมากก็ ๑๘ ชั่วโมง ถ้าไปเร่งหรือบังคับให้ทำงานมากกว่านั้น เช่น กินกาแฟหรือยาบ้าจะได้ไม่ต้องหลับ ไม่นานก็ต้องล้มพับ โรครุมเร้า เท่ากับเป็นการทำร้ายร่างกายของเรา ไม่ต่างจากชายที่ฆ่าห่านเพื่อจะได้ไข่เยอะๆ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเลย ผลก็ไม่ได้ ต้นทุนที่เคยมีก็เสียไป

มีครูบาอาจารย์หลายท่านซึ่งน่าเสียดายว่า หากท่านได้พักผ่อนไม่เร่งงานเยอะไป ท่านก็อาจมีชีวิตยืนยาว ครูบาอาจารย์บางท่าน นอกจากจะสอนธรรมแล้ว ท่านยังต้องคุมงานด้านการก่อสร้าง คุมรถที่มาทำทาง คุมคนงานที่มาสร้างกุฏิวิหาร ท่านอยากให้งานเสร็จไวๆ ทันใช้งาน แต่เนื่องจากไม่ค่อยได้พักผ่อนจึงล้มป่วย ตอนหลังก็ลุกลามถึงขั้นเป็นอัมพาต

อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ว่าถ้าหากว่าท่านไม่เร่งงาน ไม่หักโหมเกินไป ก็ยังสามารถที่จะทำอะไรได้เยอะได้มากกว่าที่ท่านเป็น นี่ก็เป็นข้อคิดเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าคนเราจำเป็นที่จะต้องดูแลต้นทุน เอาใจใส่ต้นทุนอยู่เสมอ นั่นคือเอาใจใส่ร่างกายและจิตใจ ดูแลให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ขณะเดียวกันก็ให้โอกาสร่างกายกับจิตใจได้พักผ่อนด้วย

การพักผ่อนของจิตใจนั้นอาจจะแตกต่างจากร่างกายอยู่บ้าง ร่างกายนั้นพักผ่อนด้วยการไม่ใช้งานหรือใช้งานเบาๆ แต่จิตใจนั้นสามารถพักผ่อนด้วยการใช้งาน เป็นแต่ว่าไม่ได้ใช้งานด้วยการคิดๆๆ อย่างที่ใช้ในเวลาทำงาน เราผ่อนคลายจิตด้วยการทำสมาธิภาวนา คือฝึกจิตให้มีสติ สมาธิ สัมผัสกับความสงบและความสว่างไสวภายใน การฝึกจิตอย่างนี้เรียกว่าเป็นการใช้งานจิตได้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ทำให้จิตเหนื่อย ตรงกันข้ามจิตมีแต่จะเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะสติ สมาธิ และปัญญานั้นเป็นสิ่งบำรุงเลี้ยงจิต จิตที่มีสติ สมาธิ และปัญญาเป็นจิตที่มีสุขภาพพลานามัยดี

ร่างกายคนเรานั้นมีข้อจำกัด นานวันร่างกายก็เสื่อมโทรม หากพ้นจุดหนึ่งไปแล้วก็ไม่มีทางที่จะทำให้ดีขึ้นได้ ทำได้อย่างมากเพียงแค่ประคับประคองเอาไว้ ไม่ให้มันทรุดเร็วเกินไป กล้ามเนื้อมีแต่จะเสื่อมลงไปๆ ส่วนเซลต่างๆ ก็มีแต่จะตายลง แม้สร้างขึ้นใหม่ก็ไม่เท่าของเก่า แต่ว่าจิตใจนั้นถ้าใช้เป็นใช้ถูกยิ่งใช้ก็ยิ่งดีขึ้น โดยเฉพาะสติและสมาธิ ถ้าเราใช้อยู่บ่อยๆ สติ และสมาธิก็จะว่องไวและเข้มแข็งมั่นคงขึ้น การมาปฏิบัติของเราจะว่าไปมันจึงไม่ได้เป็นแค่การพักใจ แต่ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพและความสามารถของจิตอีกด้วย เป็นการพัฒนาโดยไม่ทำให้เหนื่อยจิต ผิดกับการพัฒนาร่างกาย มักทำให้เหนื่อยกาย เพราะต้องออกแรงใช้กล้ามเนื้อ อย่างการเล่นกีฬา หรือเต้นแอโรบิค ทำแล้วร่างกายเหนื่อยทั้งนั้น แต่ก็เป็นของดี แม้กระนั้นก็ผิดกับการพัฒนาจิตซึ่งไม่ทำให้จิตเหนื่อยอ่อน ถ้าพัฒนาหรือใช้จิตเป็น

แต่ถ้าใช้จิตไม่เป็น อาจทำให้เราเหนื่อยอ่อนยิ่งกว่าเวลาออกกำลังกายหรือออกแรงหนักๆ ด้วยซ้ำ อย่างทำงานแบกหามทั้งวัน เช่น ย้ายบ้าน ทำสวน หากได้นอนเต็มที่ ตื่นขึ้นมาก็สดใส แต่เวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิดมาก หรือว่าต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนต้องกระทบกระทั่งกับใครต่อใครมากมาย แม้จะไม่ได้ใช้แรงกายเลย แต่ถ้าได้ทำอย่างนั้นตลอดวัน นอนหลับตื่นขึ้นมาก็ไม่รู้สึกสดใสหรือสดชื่นเท่าไหร่ เหมือนกับว่าร่างกายไม่ได้พักเท่าไหร่ ที่จริงร่างกายอาจจะได้พัก แต่ที่ไม่ได้พักหรือยังพักไม่เต็มที่คือจิตใจ เพราะตลอดวันที่ผ่านมา จิตใจเจอเรื่องกระทบกระทั่งต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังถูกอารมณ์ต่างๆ มากดทับบั่นทอน รวมถึงความเครียดจากการใช้ความคิด สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตเหนื่อยอ่อน และความเหนื่อยอ่อนทางจิตใจมักจะก่อผลกระทบรุนแรงกว่าความเหนื่อยอ่อนทางร่างกายเสียอีก การที่อารมณ์ของคนเราแปรปรวนแค่ชั่วโมงเดียว เช่น เศร้าโศก เสียใจ อิจฉา เคียดแค้น ก็บั่นทอนจิตไปมาก

อย่าว่าแต่อารมณ์ฝ่ายลบเลย แม้แต่อารมณ์ฝ่ายบวก เช่น ความดีใจลิงโลดใจจากการได้สนุกสุดเหวี่ยง ก็ทำให้เหนื่อยใจได้เหมือนกัน เวลาดูหนังที่ตื่นเต้นเร้าใจหรือสยองขวัญ ดูจบจะรู้สึกว่าเหนื่อย เช่นเดียวกับดูฟุตบอลที่ต้องลุ้นกันอย่างสุดขีด เวลาแค่ชั่วโมงครึ่งก็สามารถทำให้เราเหนื่อยได้ แต่เป็นความเหนื่อยที่ไม่รู้ตัวเพราะความตื่นเต้นมาบดบัง แต่พอดูจบความตื่นเต้นหายไปก็อาจรู้สึกเหนื่อย โดยเฉพาะคนที่ผิดหวังกับผลการแข่งขัน หรือคนที่เชียร์ฝ่ายแพ้ ส่วนฝ่ายชนะ ความดีใจอาจกลบความรู้สึกเหนื่อยเอาไว้ แต่พอกลับถึงบ้าน ความดีใจคลายลงไป ทีนี้จะเริ่มรู้สึกเหนื่อยเพลียขึ้นมา

การเที่ยวหรือการพักผ่อนของคนสมัยนี้ ลองสังเกตดู ไม่ได้ช่วยให้สบายขึ้นเลย กลับทำให้เหนื่อย เพราะว่ามันเร้าจิต กระตุ้นใจมากเกินไป เช่น ใช้แสงสีวูบวาบๆ และเสียงดังสนั่นในดิสโก้เธค แม้แต่เที่ยวป่า ก็ต้องหาอะไรมาทำให้สนุกเพื่อกระตุ้นจิตให้ลิงโลด ไปเที่ยวแค่เสาร์อาทิตย์ พอกลับถึงบ้านก็เพลียหมดเรี่ยวหมดแรง ยิ่งพอนึกถึงวันจันทร์ต้องไปทำงานหรือไปโรงเรียน ก็ยิ่งละเหี่ยใจเข้าไปใหญ่ เฝ้าภาวนาให้เสาร์อาทิตย์มาถึงเร็วๆ จะได้ไป “พักผ่อน” อีก

จิตใจที่ถูกกระตุ้นเร้าขึ้นลงตลอดเวลาไม่เพียงจะเป็นจิตที่เหนื่อยอ่อนเท่านั้น หากยังฉุดกายให้เหนื่อยอ่อนตามไปด้วย เพราะอารมณ์ขึ้นลงไม่ว่าบวกหรือลบ ล้วนส่งผลกระตุ้นการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และอวัยวะส่วนอื่นๆ ในทางตรงกันข้ามหากเรารู้จักรักษาจิตประคองใจให้สงบ มั่นคง เป็นปกติ โดยมีสติเป็นเครื่องกำกับ จิตของเราจะมีพลัง ใช่แต่เท่านั้น ยังส่งผลต่อร่างกายของเรา อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ร่างกายของเราเหนื่อยอ่อนไปง่ายๆ

การมีสติประคองจิตให้เป็นปกติและสงบนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องหลีกเร้นไปอยู่ที่เงียบๆ ห่างไกลผู้คน หรือไกลจากงานการ ถ้ารู้จักใช้สติประคองใจ แม้อยู่ในที่อึกทึก พบปะผู้คนมากมายหรือทำงานการ จิตใจก็ยังสงบอยู่ได้ เพราะสติช่วยให้เรารู้จักปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ ทันทีที่รู้ว่าโกรธ หงุดหงิด ฉุนเฉียว ก็ละวางจากอารมณ์เหล่านั้น ทันทีที่รู้ว่าใจกำลังกังวลอยู่กับการนัดหมายข้างหน้า หรือหมกมุ่นกับความผิดพลาดในอดีต สติก็ดึงจิตกลับมาสู่งานการที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน การมีสติจดจ่ออยู่กับงานที่ทำล้วนๆ ไม่สนใจว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่คำนึง หรือยิ่งกว่านั้นคือมีสติจนปล่อยวางจากความยึดถือในตัวตน ไม่ยึดถือว่างานนั้นเป็นงานของฉัน มีแต่งาน แต่ไม่มี “ฉัน” ผู้ทำงาน ก็ยิ่งจะทำให้ทำงานได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังช่วยให้ทำงานได้ดี และต่อเนื่องด้วย

ชุนเรียว ซูซูกิ เป็นอาจารย์เซนผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานพุทธศาสนาแบบเซนในสหรัฐอเมริกา เพื่อนของอาตมาเล่าว่า ตอนที่เริ่มสร้างวัดเซนในซานฟรานซิสโกนั้น อาจารย์ชุนเรียวต้องลงมือขนหินด้วยตัวเอง หินทั้งใหญ่และหนัก แถมต้องขนหินวันละหลายก้อน ลูกศิษย์ชาวอเมริกันเห็นก็สงสารอาจารย์เพราะอาจารย์ตอนนั้นก็อายุ ๖๐ กว่าแล้ว แถมยังตัวเล็ก ลูกศิษย์จึงอาสาช่วยอาจารย์ขนหิน แต่ขนไปได้แค่ครึ่งวันก็หมดแรง ตรงข้ามกับอาจารย์ กลับขนได้ทั้งวัน ลูกศิษย์จึงสงสัยมากว่าทำได้อย่างไร ขนาดคนอเมริกันซึ่งร่างใหญ่กว่าแถมหนุ่มกว่ายังทำได้แค่ครึ่งวัน พอลูกศิษย์ไปถามอาจารย์ ก็ได้คำตอบว่า “ก็ผมพักผ่อนตลอดเวลานี่”

อาจารย์ชุนเรียวขนหินไป ก็พักผ่อนไปด้วย มีแต่กายเท่านั้นที่ขนหิน แต่ใจไม่ได้ขนหินด้วย ใจนั้นปล่อยวางจากงาน ไม่คาดหวังความสำเร็จ และไม่เร่งรัดให้เสร็จไวๆ แต่คนทั่วไปนั้นเวลาขนหินไม่ได้ขนด้วยกายเท่านั้น แต่ใจก็ขนไปกับเขาด้วย เวลาเหนื่อยก็ไม่ได้เหนื่อยแค่กาย แต่ใจก็เหนื่อยไปด้วย เพราะคอยเร่งว่าเมื่อไหร่จะเสร็จๆ ยิ่งเร่งให้เสร็จไวๆ ก็ยิ่งเสร็จช้า ก็เลยยิ่งหงุดหงิด ลึกลงไปกว่านั้น เวลากายเหนื่อย ก็ไม่ได้คิดว่ากายเท่านั้นที่เหนื่อย แต่ใจยังปรุงแต่งไปอีกว่า “ฉันเหนื่อย” ใจก็เลยเหนื่อยตามไปด้วย อาจารย์ชุนเรียวนั้น ใจไม่ได้ขนหินด้วย เพราะปล่อยวาง “หิน” ทุกชนิด ใจจึงพักผ่อน สามารถช่วยกายให้ทำงานได้ทั้งวัน

จิตที่มีคุณภาพระดับนี้ได้ต้องมีทั้งสติและปัญญา ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปรือ จะฝึกปรือแบบนี้ได้ ต้องรู้จักเว้นวรรคชีวิต ปล่อยวางจากงานการและภารกิจในชีวิตประจำวันบ้าง หาเวลาให้แก่ตัวเองมาฝึกปฏิบัติ

อาจจะต้องยอมเสียเวลาไป ๑ วัน ๑ อาทิตย์ หรือ ๑ เดือน โดยที่ไม่ได้ทำงานเลย แต่ว่าเวลาที่เสียไปก็ไม่ได้เสียเปล่า เพราะเป็นการพักผ่อนและพัฒนาจิตไปด้วยในตัว เมื่อเอาจิตที่พักผ่อนและพัฒนาแล้วไปทำงานก็จะทำให้งานนั้นดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น และบางครั้งก็มีปริมาณมากขึ้นด้วยอย่างกรณีอาจารย์ชุนเรียว อีกทั้งยังเสร็จได้เร็วขึ้นกว่าตอนที่ไม่ได้พัก

ฉะนั้นเวลาที่เราโหมงานหรือทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ก็ขอให้นึกถึงคนเลื่อยไม้ที่ตะบี้ตะบันเลื่อยโดยไม่ยอมหยุดพัก ไม่ยอมแม้กระทั่งหยุดพักลับคมเลื่อย เราอยากจะเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าเราเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่เกิดผลดีทั้งแก่ตัวเลื่อย ตัวงาน และตัวเราเอง ขอให้ระลึกว่า คนที่เอาแต่เดินจ้ำเอาๆ เพราะอยากถึงไวๆ นั้น มักจะถึงช้ากว่า เพราะเหนื่อยเสียก่อน หรือขาแพลงเสียก่อน แต่คนที่ค่อยๆ เดิน เดินไปเรื่อยๆ ใจไม่เร่งรีบ ถือว่าพักทุกก้าวที่เดิน หรือถ้าเหนื่อยก็รู้จักพักเอาแรง ในที่สุดกลับถึงที่หมายได้เร็วกว่า อย่างที่เขาว่าไปช้ากลับถึงเร็ว ดีกว่าไปเร็วกลับถึงช้า ขอให้เรามาเรียนรู้วิธีไปช้าแต่ถึงเร็วกันดีกว่า นี้ไม่ใช่แค่ศิลปะของการเดินทางเท่านั้น แต่เป็นศิลปะของการดำเนินชีวิตเลยทีเดียว

พระไพศาล วิสาโล
ภาพจากหนังสือ ชีวิตที่จิตใฝ่หา
ดาวโหลดหนังสืออ่านได้ที่นี่ค่ะ
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2014/03/good-life.pdf

ให้อภัยตัวเอง

ประภาเป็นหลานรักของยาย ตั้งแต่เล็กก็มีคุณยายนี่แหละ ที่คอยเลี้ยงดูเอาใจใส่ คุณยายไปไหนก็พาหลานรักไปด้วย วันที่ประภาได้รับปริญญาพยาบาล ยายมีความสุขมากเพราะความฝันของยายได้เป็นจริงแล้ว วันหนึ่งยายก็ป่วยหนัก แต่ประภาแทบไม่มีเวลาไปเยี่ยมยายเลย วันที่ยายสิ้นลม ประภายังง่วนอยู่กับงาน เธอเสียใจมาก แม้ผ่านไปสิบปีแล้วแต่นึกถึงเหตุการณ์วันนั้นเมื่อใด ก็ยังรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่ได้ดูแลยายแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต

วณีตั้งครรภ์มาได้ ๕ เดือนแล้ว หมอจึงแนะให้เธอเพลางาน วันหนึ่งเธอพบว่ามีเลือดไหลซึมมาทางช่องคลอด หมอขอให้เธอมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เธอเป็นห่วงงานมาก ตอนค่ำจึงหนีไปทำงาน เช้ามืดก็กลับเข้าโรงพยาบาลก่อนหมอจะมาถึง เธอทำเช่นนี้อยู่ ๒ วัน วันถัดมาเธอรู้สึกปวดท้องอย่างแรง ขณะที่กำลังนั่งถ่ายก้อนเนื้อชุ่มเลือดตกลงไปในส้วม นั่นคือครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นลูกน้อยของเธอ ผ่านมากว่า ๓๐ ปีแล้ว เธอยังจดจำภาพนั้นได้และให้อภัยตัวเองไม่ได้ที่ทำให้ลูกต้องตาย

วิทย์กับแก้วเป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่ปี ๒ เมื่อจบการศึกษาต่างก็แยกย้ายกันไปทำงาน แต่ก็ติดต่อถึงกันสม่ำเสมอ ปีใหม่และวันเกิดก็จะส่งของขวัญให้กันทุกปี มีช่วงหนึ่งที่วิทย์งานยุ่งมาก เป็นช่วงเดียวกับที่แก้วโทรศัพท์มาคุยถี่มากเพราะมีปัญหาครอบครัว คุยแต่ละครั้งนาน ๒-๓ ชั่วโมง วิทย์พยายามให้คำแนะนำแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล จนกระทั่งคืนวันหนึ่งเขาทนรำคาญไม่ไหว จึงพูดตัดบทไปด้วยน้ำเสียงที่ห้วนมาก วันต่อมาแก้วก็ไม่โทรมาอีกเลย ๒ วันถัดมา เขาก็ได้ข่าวร้าย แก้วประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ตายคาที่ เหตุการณ์ผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว ความเศร้าเสียใจได้จางคลายไป แต่ความรู้สึกผิดที่ได้ทำร้ายจิตใจเพื่อนก่อนตายยังกัดกินใจเขาอยู่

แม้กาลเวลาจะช่วยเยียวยาจิตใจ แต่สำหรับผู้คนเป็นอันมากบาดแผลในใจยังมีอยู่ ทุกครั้งที่นึกถึงบางเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับคนรักหรือคนใกล้ชิดก็อดเจ็บปวดไม่ได้ เพราะความรู้สึกผิดคอยทิ่มแทงจิตใจอยู่เสมอจึงไม่อยากจะนึกถึง หาไม่ก็พยายามกดข่มให้มันจมหายไป แต่มันก็คอยผุดโผล่มาเป็นระยะๆ ทั้งเจ็บปวด หม่นหมองและหนักอึ้งราวกับจะตามติดตัวไปจนตาย

ในส่วนลึกของจิตใจ เราทุกคนอยากขอโทษผู้จากไป ที่ครั้งหนึ่งเราเคยกระทำสิ่งที่ไม่สมควร จะวิเศษเพียงใดหากเราย้อนเวลากลับไปได้เพื่อขอโทษเขาขณะที่เขายังมีลมหายใจอยู่ แต่เราก็รู้ดีว่านั้นเป็นแค่ความฝัน กระนั้นก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ นั่นคือ “เชิญเขามารับฟังความในใจของเรา”

ลองน้อมใจให้สงบและจินตนาการว่าเขาได้มานั่งอยู่ข้างหน้าเรา นึกถึงวันที่เรามีประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันกับเขา ความซาบซึ้งประทับใจที่มีต่อเขา จากนั้นให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวดเพราะทำสิ่งที่ไม่สมควรต่อเขา ยอมรับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ โดยไม่พยายามกดข่มหรือผลักไส แล้วถามตัวเองว่าอยากบอกอะไรแก่เขา ขณะที่เขามานั่งอยู่ต่อหน้า ขอให้พูดความในใจแก่เขาทุกอย่างเท่าที่เราอยากพูด บอกรักเขา ขอโทษเขา หรือสารภาพผิดกับเขา อย่าได้รั้งรออีกต่อไป

เมื่อพูดจนแล้วใจแล้ว ก็ให้จินตนาการต่อไปว่าได้โอบกอดเขา เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของเขา ให้ภาพสุดท้ายที่ปรากฏแก่ใจของเราเป็นภาพที่เราอยากจะเห็น ก่อนที่เขาจะค่อยๆ จากไป

วันนี้ ประภา วณี และวิทย์ รู้สึกโปร่งโล่งกว่าแต่ก่อน ทั้งสามสามารถเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในอดีตด้วยความรู้สึกสบายใจมากขึ้น ไม่เจ็บปวดหรือรู้สึกผิดเหมือนเก่า เพราะเธอและเขาได้พูดทุกอย่างที่เก็บไว้ในใจนับสิบปี ให้ย่า ลูกน้อง และเพื่อนรัก ได้รับทราบจนไม่มีอะไรติดค้างอีกแล้ว สิ่งที่ทั้งสามทำควบคู่ไปด้วยก็คือ เขียนความในใจนั้นเป็นจดหมายถึงผู้จากไป แล้วบอกเล่าเรื่องราวและความในใจดังกล่าวให้เพื่อนๆ รับรู้ด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นมิตรและไว้วางใจ ทำให้ทั้งสามกล้าพูดถึงเรื่องที่ฝังลึกในใจอย่างไม่ปิดบังขณะร่ำไห้ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือกำลังใจและการโอบกอดด้วยความเข้าใจจากเพื่อนๆ

การให้อภัยเป็นสิ่งสำคัญ และคนหนึ่งที่ควรได้รับการให้อภัยก็คือตัวเอง แต่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องกล้าที่จะขอโทษในสิ่งที่ทำผิดพลาดไป บางทีเราอาจพบว่าผู้ที่จากไปนั้นรักเราเกินกว่าที่จะถือสากับเรื่องเหล่านั้นได้

เขาอาจให้อภัยเราไปนานแล้วก็ได้ เราเองต่างหากที่ยังลงโทษตัวเองอยู่

พระไพศาล วิสาโล
หนังสือ ธรรมะสำหรับผู้ป่วย (pdf)

ทำตัวเองแท้ๆ

ครั้งหนึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโร
ได้รับนิมนต์ไปฉันเพลที่บ้านโยมในกรุงเทพฯ
เมื่อฉันเสร็จแล้ว เจ้าขอบบ้านเห็นหลวงปู่
เดินทางมาเหนื่อย จึงขอให้ท่านเอนกายพักผ่อน
ก่อนเดินทางกลับจังหวัดสิงห์บุรี

ระหว่างนั้นข้างห้องซึ่งเป็นร้านขายของ
มีคนเดินลากเกี๊ยะกระทบพื้นบันไดเสียงดัง
ศิษย์คนหนึ่งรู้สึกรำคาญเสียงเกี๊ยะ
บ่นขึ้นมาดังๆ ว่า “แหม เดินเสียงดังเชียว”

หลวงปู่ซึ่งนอนหลับตาอยู่จึงพูดเตือนว่า
“เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ
เราเอาหูไปรองเกี๊ยะของเอง”

จากหนังสือ “ลำธาร ริมลานธรรม”
เรียบเรียงโดย พระไพศาล วิสาโล
ดาวโหลดอ่าน pdf ได้ที่นี่ค่ะ
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2014/02/river-beside-dhamma.pdf

เพราะไม่รู้ว่าเค้าเคยเป็นโพธิสัตว์หรือไม่

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
เป็นผู้มีกิริยาวาจา อ่อนละไม เป็นปกติ
ท่านจะพูดจาปราศัยกับใครทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก
ก็ใช้คำรับคำขานว่า จ๋า จ้า ที่สุดสัตว์เดรัจฉาน
ท่านก็ประพฤติเช่นนั้น
“โยมจ๋า ขอฉันไปทีเถิดจ้ะ”
แล้วก็ก้มกายหลีกทางไป
มีผู้ถามท่านว่า ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น
ท่านก็ตอบว่า “ฉันรู้ไม่ได้ว่าสุนัขนี้
จะเคยเป็นโพธิสัตว์หรือมิใช่”
พระโพธิสัตว์เคยเสวยชาติเป็นสุนัข ความละเอียดอยู่ในกุกรุชาดกในตติยวรรคแห่งเอกนิบาต

เรื่องราวจากหนังสือ ลำธารริมลานธรรม
เรียบเรียงโดย พระไพศาล วิสาโล
ดาวโหลดอ่าน pdf ได้ที่นี่ค่ะ
https://dhammaway.wordpress.com/wp-content/uploads/2014/02/river-beside-dhamma.pdf

(การ์ดคำสอน) รักแท้คือ…

love-10-150px
คลิกดูภาพขนาดใหญ่เลยค่ะ

ชีวิตคู่ที่จะเจริญงอกงามต้องเกิดจากความรักที่แท้จริง
ต้องปรารถนากับอีกฝ่าย อยากให้เขามีความสุข
หากคิดแต่ให้เขามาปรนเปรอ ถือว่าไม่ใช่ความรักแต่เป็นความใคร่
จิตใจผู้นั้นก็จะหยาบกระด้าง จะไม่รู้จักรักแท้
นำมาซึ่งความทุกข์ ความเหงา
จะมองไม่เห็นความรักที่งดงามหรือถูกต้องเลย

ความรักที่ถูกต้องจะชุบชูจิตใจให้มีกำลังใจ ให้มีความเสียสละ
ขณะเดียวกันหากเราต้องการให้คนอื่นรักเรา
ก็ต้องมอบสิ่งเหล่านั้นให้แก่เขาด้วย

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
จากบทความ คุณธรรมส่องนำความรัก
http://www.visalo.org/columnInterview/5602LorS.htm

เจริญสติให้เหมือนหัดขี่จักรยาน – พระไพศาล วิสาโล

หลวงพ่อเทียน เวลาท่านแนะนำคนที่เพิ่งมาปฏิบัติใหม่ๆ ประโยคแรกๆ ที่ท่านบอกก็คือ ให้ทำเล่น แต่ทำจริงๆ คนฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าทำเล่นๆ เป็นอย่างไร เพราะคุ้นเคยกับการทำด้วยความมุ่งมั่น ต้องบังคับตัวเอง ต้องเอาจริงเอาจัง ปกติเวลาเราทำการงานต่างๆ ด้วยความรู้สึกแบบนั้น มักไม่ค่อยมีปัญหา และมักทำให้สำเร็จได้ด้วย เช่น มุ่งมั่นในการเรียนหนังสือ เอาจริงเอาจังกับการแข่งขัน
แต่เรื่องของการบำเพ็ญทางจิตนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าเราทำด้วยจิตที่เคร่งเครียต ทำด้วยความอยาก จิตจะเสียสมดุลทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการเจริญสตินั้นต้องอาศัยจิตที่วางอยู่บนทางสายกลาง หรืออยู่บนความพอดี ถ้าหย่อนเกินไปก็ไม่ได้ผล ถ้าตึงเกินไปก็ไม่ได้ผลอีกเช่นกัน เหมือนคนที่ฝึกขี่จักรยานใหม่ๆ ถ้าจับแฮนด์แน่นเกินไป เกร็งตัว เกร็งมือ เกร็งแขน ก็จะขี่ลำบาก ทรงตัวยาก ขับไปประเดี๋ยวเดียวรถก็ล้ม ถ้าไม่จับแฮนด์เลย เวลาขี่จักรยานก็ปล่อยตัว ตัวย้วยไปย้วยมา รถก็ล้มได้เหมือนกัน เกร็งก็ล้ม ย้วยก็ล้ม มันต้องพอดีๆ ถ้าทำตัวให้พอเหมาะพอดี ก็จะทรงตัวได้
พระไพศาล วิสาโล
จากหนังสือ “รู้ใจไกลทุกข์” (หน้าที่ ๙๑-๙๒)
หนังสือฉบับเต็ม (pdf) ดาวโหลดได้ที่นี่คะ
http://www.visalo.org/book/rooJaiKlaiTook.htm

(^__^) ประสบการณ์หลังจากไปนั่งฟังเทศน์ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

หลังจากไปฟังเทศน์พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
มีเรื่องจะเล่า…ทีแรกก็คิดเหมือนคนอื่นๆว่า…
หลวงพ่อคงเทศน์เรื่องทางโลกทั่วไปมั้ง
ไปถึง…ปรากฏว่า… ผิดคาด ^ ^!

หลวงพ่อเทศน์หนักไปทางเรื่องการเจริญสติวิปัสสนาเลยคะ
คือท่านพูดลึกไปถึงเรื่องการแยกธาตุแยกขันธ์เลยด้วยนะ !!

อาจเพราะทาง บ้านจิตสบาย คงกำชับเอาไว้
หรือไม่ก็ ท่านอาจเห็นคนที่นั่งฟังเป็นนักปฏิบัติซะส่วนใหญ่
เลยพูดเน้นมาเรื่องการเจริญสติเลย

หลวงพ่ออธิบายดีมากเลยนะ เรื่องการเจริญสติ

ลองดาวโหลดมาฟังสิ ที่นี่คะ
http://www.visalo.org/sound/jaRearnSati.htm

แล้วจะรู้ว่าหลวงพ่อเก่งมากเลยทีเดียวนะ

ได้ครูบาอาจารย์ในดวงใจมาอีกหนึ่งท่าน ^___^

.

คลังภาพ

อีกหนึ่งสาเหตุ ที่เราไม่ควรเที่ยวไปปรามาสใคร

นำมาจากบทความ ผ้าขี้ริ้วห่อทอง หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
โดยผู้เขียน พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
http://www.visalo.org/monk/541012lpJerh.htm

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท เป็นศิษย์รุ่นหลังของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้มีโอกาสกราบหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก เมื่อบวชได้ ๓ พรรษาเท่านั้น ประสบการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงตอกย้ำศรัทธาของท่านให้มั่นคงในการปฏิบัติเท่านั้น หากยังพบคำตอบในการเจริญกรรมฐาน จนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

หลวงปู่เจี๊ยะหรือ “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ของหลวงปู่มั่นนั้น เป็นพระที่มีกิริยาอาการไม่เหมือนใคร อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ขยับเนื้อขยับตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังชอบพูดจาโผงผาง ส่งเสียงเอะอะ ดูอาการภายนอกแล้วก็ไม่สู้เรียบร้อย มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปสวดในงานแต่งงาน เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพ แทนที่จะขึ้นบันไดตามปกติ ท่านกลับโหนตัวขึ้นทางลูกกรง พอนั่งเสร็จ ท่านก็ถามเจ้าภาพว่า “จะสวดหรือไม่สวดล่ะ เอ้า ประเคนกินกันเลย”

เวลาไปบิณฑบาต พอถึงบ้านญาติโยมที่คุ้นเคย ท่านถือวิสาสะเดินเข้าไปในบ้านเลย แล้วพูดกับเจ้าของบ้านว่า “เฮ้ย ชงกาแฟถ้วยซิ” ระหว่างที่จิบกาแฟก็นั่งไขว่ห้างกระดิกเท้า สูบบุหรี่ วันไหนอยากฉันอะไรก็พูดว่า “เฮ้ย ตำน้ำพริกกุ้งแห้งเกลือให้กูหน่อย”

วันหนึ่งท่านขาเจ็บ ต้องนั่งรถไปบิณฑบาต พอถึงบ้านศิษย์ที่ใกล้ชิด ท่านก็สั่งทันที “เอ้า เอาข้าวมาให้กูกิน” ว่าแล้วก็ตั้งบาตรแล้วนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ พอลูกศิษย์ทัก ท่านก็ว่า “ขากูเจ็บนี่หว่า” ลูกศิษย์จึงว่า “ท่านอาจารย์ไม่ต้องมาบิณฑบาตเลย นอนอยู่เฉย ๆ เลย จะจัดไปถวายที่วัดเอง” “ไม่ได้เดี๋ยวเขาจะด่า หาว่าขี้เกียจบิณฑบาต” ท่านตอบ ลูกศิษย์จึงพูดต่อหน้าท่านว่า “นั่นล่ะ เขาจะด่าหนักล่ะไปอย่างนั้น” ท่านฟังแล้วก็ไม่ได้เคืองศิษย์แต่อย่างใด

ท่านจะไปไหนมาไหน ไม่มีพิธีรีตองมาก เรียกว่าไปง่ายมาง่าย พาหนะที่ท่านใช้เดินทางไปกรุงเทพ ฯ เป็นประจำ หาใช่รถยนต์ไม่ แต่เป็นรถสิบล้อ เวลาจะเดินทาง พร้อมเมื่อใดท่านก็ออกไปโบกรถทันที รถคันไหนที่ท่านหมายตาไว้ เป็นต้องจอดทุกคัน เพราะท่านไม่ได้โบกริมถนน แต่ยืนโบกกลางถนนเลย บางครั้งท่านรีบมาก คว้าจีวรคว้าย่ามได้ก็ออกจากวัดเลย แล้วค่อยห่มจีวรขณะที่ยืนโบกอยู่กลางถนน บางทีไม่ได้โบกเฉย ๆ ยกเท้าโบกด้วย ลูกศิษย์เล่าว่าคราวหนึ่งมารอรับท่านที่กรุงเทพ ฯ เห็นท่านนั่งอยู่บนหลังคารถสิบล้อ พร้อมกับตะโกนว่า “หนาวโว้ย ๆ …หนาว” ท่านว่าข้างล่างนั้นมีคนเต็ม มีผู้หญิงมาด้วย ท่านจึงขึ้นมานั่งบนหลังคา

ท่านเป็นพระที่ไม่ถือเนื้อถือตัว พระอาจารย์วัน อุตตโม ซึ่งเป็นวิปัสสนาจารย์ชื่อดังภาคอีสาน เล่าว่า เคยได้รับนิมนต์ไปฉันในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ระหว่างที่ฉันอยู่บนปะรำพิธี ก็สังเกตเห็นหลวงปู่เจี๊ยะนั่งฉันปะปนกับพระหนุ่มเณรน้อยด้านล่าง หลวงปู่เจี๊ยะนั้นเป็นพระที่พระอาจารย์วันเคารพมาก พอฉันเสร็จจึงมาขอขมาต่อหลวงปู่เจี๊ยะว่า “ครูอาจารย์ เกล้า ฯ ขอขมาที่นั่งสูงกว่า” พระเณรทั้งหลายตกใจกันใหญ่เพราะคิดว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระหลวงตาธรรมดา ๆ

อีกคราวหนึ่งพระอาจารย์วันไปงานฉลองพระที่จังหวัดขอนแก่น ท่านได้รับนิมนต์ให้นั่งบนแท่นใหญ่ในพิธี พอเห็นหลวงปู่เจี๊ยะนั่งข้างล่าง ท่านก็รีบกระโดดลงมาขอขมาหลวงปู่ หลวงปู่ตอบว่า “วัน…ไป ๆ ไม่เป็นไร”

คนส่วนใหญ่มองเห็นหลวงปู่เจี๊ยะว่าเป็นพระหลวงตาธรรมดา ๆ อาจจะนึกดูหมิ่นหรือค่อนแคะอยู่ในใจด้วยก็ได้ที่เห็นอากัปกิริยาของท่านไม่เรียบร้อย แต่เขาเหล่านั้นหารู้ไม่ว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นที่นับถือของพระอาจารย์องค์สำคัญ ๆ สายหลวงปู่มั่น ท่านเหล่านี้มาเยี่ยมและกราบคารวะท่านสม่ำเสมอ เช่น หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สาม หลวงปู่ตื้อ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อพุธ และพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นต้น

แม้ว่าท่านจะเป็นคนโผงผาง เอะอะตึงตังอยู่เสมอ แต่ท่านนอบน้อมในธรรมยิ่งนัก บางคราวขณะที่กำลังคุยกับพระเณร ส่งเสียงดัง หรือมีเสียง เฮ ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ทันทีที่มีพระเณร ผู้ใหญ่หรือเด็ก พูดเรื่องธรรมะ ท่านจะนิ่งฟัง แสดงความเคารพในธรรม จนศิษย์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า “กิริยาในธรรมกับกิริยาในโลกของท่านต่างกันนัก”

หลวงปู่จันทา ถาวโร เคยถามหลวงปู่เจี๊ยะว่า กิริยาอาการของหลวงปู่เป็นอย่างนี้ ท่านไม่กลัวคนตำหนิบ้างหรือ ท่านตอบว่า “อันว่ากิริยาภายนอกนั้นจะเป็นอย่างใดก็ตามเถอะ แต่ถ้าหากเรามุ่งมั่นปั้นใจจนเที่ยงดี ก็ยังดีกว่าคนที่กิริยางามแต่ใจไม่เที่ยง เพราะนิสัยวาสนาคนเรามันไม่เหมือนกัน เขาก็ยังมีคำพูดอยู่มิใช่หรือว่า แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้ เราจึงไม่ไปแข่งวาสนากับใคร เราเป็นอย่างนี้จึงพอใจอย่างนี้ เพราะนิสัยวาสนาเป็นมาอย่างนี้”

ในยุคที่ผู้คนติดยึดอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก และตัดสินคนจากสิ่งที่เห็นด้วยตานั้น หลวงปู่เจี๊ยะได้เตือนใจให้เราตระหนักว่าสิ่งสำคัญกว่าคือคุณธรรมภายใน หากเราไม่หลงเข้าใจว่าเปลือกเป็นแก่นแล้ว ก็ย่อมเรียนรู้สิ่งดี ๆ ได้มากมายจากหลวงปู่เจี๊ยะ น่าเสียดายก็ตรงที่ท่านได้ละสังขารไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ คงเหลือแต่เรื่องราวมากมายที่สอนใจเราและอนุชนรุ่นหลัง