ดุจดั่งหยดน้ำ ที่ไหลรวมกันเป็นกระแส (ป.อ.ปยุตโต)

จากหนังสือ “พุทธธรรม” มรดกอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนา
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

(หน้า ๖๒)

…แท้จริงแล้ว สิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส
ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ
ล้วนประกอบขึ้นจากส่วนประกอบอื่นๆ ย่อยลงไป

แต่ละอย่างไม่มีตัวตนของมันเองเป็นอิสระ
ล้วนเกิดดับต่อกันไปเรื่อย ไม่เที่ยง ไม่คงที่
กระแสนี้ไหลเวียนหรือดำเนินต่อไป
อย่างที่ดูคล้ายกับรักษารูปแนว
และลักษณะทั่วไปไว้ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ก็เพราะส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์
เนื่องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันอย่างหนึ่ง
เพราะส่วนประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่าง
ล้วนไม่มีตัวตนของมันเอง และไม่เที่ยงแท้คงที่อย่างหนึ่ง

ความเป็นไปต่างๆ ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามธรรมชาติ
อาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายเอง
ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือออกไปในฐานะผู้สร้างหรือผู้บันดาล
จึงเรียกเพื่อเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นกฏธรรมชาติ…”

(หน้า ๖๕)

“…ปุถุชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมมา
ในระบบความเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องอาตมัน
ย่อมมีความโน้มเอียงในทางที่จะยึดถือ
หรือไขว่คว้าไว้ให้มีอัตตาในรูปหนึ่งรูปใดให้จงได้
เป็นการสนองความปราถนาที่แฝงอยู่ในจิตส่วนลึกที่ไม่รู้ตัว
เมื่อจะต้องสูญเสียความรู้สึกว่ามีตัวตนในรูปหนึ่ง (ชั้นขันธ์ ๕) ไป
ก็พยามยึดหรือคิดสร้างเอาที่เกาะเกี่ยวกันใหม่ขึ้นไว้

แต่ตามหลักพุทธธรรมนั้น
มิได้มุ่งให้ปล่อยอย่างหนึ่ง เพื่อไปยึดอีกอย่างหนึ่ง
หรือพ้นอิสระจากที่หนึ่ง เพื่อตกไปเป็นทาสอีกที่หนึ่ง

อาการที่สิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปกระแส
มีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยสืบต่อกัน
และมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา …”

(หน้า ๗๑)
“…เหมือนมวลน้ำในแม่น้ำที่มองดูเป็นผืนหนึ่งผืนเดียว
แต่ความจริงเป็นกระแสน้ำที่ไหลผ่านไปๆ
เกิดจากน้ำหยดน้อยๆ มากมายมารวมกันและไหลเนื่อง…”

(หน้า ๑๐๐)

…ความหลงผิดอีกอย่างหนึ่งที่มักชักพาคนให้เข้าไปติด ก็คือ
การแล่นจากสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่ง ไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง

กล่าวคือ คนพวกหนึ่งยึดติดถือมั่นในตัวตนว่าเป็นของจริงแท้คงที่ถาวร
สัตว์ บุคคล เป็นตัวตนอย่างนั้น ซึ่งมีจริง มิใช่สิ่งสมมติ
สัตว์ บุคคล มีตัวจริงตัวแท้ที่ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป
ไม่ว่าคนจะตาย ชีวิตจะสิ้นสุด ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวตน
ดวงชีวะ อาตมัน หรืออัตตา (soul)
นี้ก็จะคงอยู่อย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลายด้วย
บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้ไปเวียนว่ายตายเกิด
บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้รออยู่เพื่อไปสู่นรกหรือสวรรค์นิรันดร
สุดแต่คำตัดสินของเทพสูงสุด
ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า “สัสสตทิฏฐิ” หรือ “สัสสตวาท”
แปลว่า ความเห็นว่าเที่ยง คือเห็นว่า สัตว์บุคคลตัวตนหรืออัตตา
เที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป

ส่วนคนอีกพวกหนึ่งก็เห็นว่ามีตัวตนเช่นนั้นอยู่
คือยึดถือสัตว์ บุคคล เป็นตัวแท้ตัวจริง
แต่สัตว์ บุคคลนั้นไม่เที่ยงแท้ถาวร สูญสลายไปได้
เมื่อคนตาย ชีวิตจบสิ้น สัตว์บุคคล ก็ขาดสูญ ตัวตนก็หมดไป
ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า “อุจเฉททิฏฐิ” หรือ “อุจเฉทวาท”
แปลว่า ความเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่า
สัตว์บุคคล ตัวตน หรืออัตตา ไม่เที่ยงแท้ถาวร
ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วก็สูญสิ้นไป

แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้
ก็อาจตกไปในทิฐิ ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ (เวียนตายเวียนเกิด)
ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าเที่ยง
ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด
ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าขาดสูญ

จุดพลาดที่เหมือนกันของทิฏฐิสุดโต่งทั้งสองอย่าง ก็คือ
ความเห็นว่า หรือยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคล ที่เป็นตัวแท้ตัวจริง
แต่พวกหนึ่งยึดว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนนั้น คงตัวอยู่ยั่งยืนตลอดไป
ส่วนอีกพวกหนึ่งเห็นไปว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนที่มีอยู่นั้นมาถึงจุดหนึ่งตอนหนึ่ง
โดยเฉพาะเมื่อกายแตกสลาย ชีวิตนี้สิ้นสุด
สัตว์ บุคคล ตัวตน หรืออัตตา ก็ถูกตัดขาดสูญสิ้นไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีพวกหนึ่งที่เห็นเลยเถิดไปอีกทางหนึ่งว่า
ความไม่มีตัวตนก็คือ ไม่มีอะไรเลย
ความไม่มีสัตว์ บุคคล ก็คือไม่มีผู้รับผล
เมื่อไม่มีใครรับผล การกระทำใดๆก็ไม่มีผล
ทำก็ไม่เป็นอันทำ ไม่มีความรับผิดชอบต่อกรรม
หรือพูดง่ายๆ ว่ากรรมไม่มีนั่นเอง…”

(หน้า ๑๐๔)

“…พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติถูกต้อง หรือท่านผู้มีปัญญาเข้าใจถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่มีทั้งความยึดถือตัวตนและทั้งความยึดถือว่าไม่มีตัวตน (ตัวตนขาดสูญ)
ไม่มีทั้งสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ และทั้งสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อยหรือต้องสลัดทิ้ง

คัมภีร์มหานิทเทสอธิบายต่อไปอีกว่า

ผู้ใดมีสิ่งที่ยึดถือไว้ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ
ผู้ใดมีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ยึดถือไว้
พระอรหันต์ล่วงพ้นการยึดถือและการปล่อยละไปแล้ว

ความเข้าใจในพุทธพจน์และอรรถธิบายข้างต้นนี้
จะช่วยให้เข้าใจความหมายของหลักอนัตตาครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น…”

“พุทธธรรม” ฉบับปรับขยาย
ประพันธ์โดย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
ผู้เป็นประดุจดั่งอัญมณีอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนา
ดาวโหลดหนังสือ pdf ฉบับเต็มได้ที่นี่ค่ะ
http://goo.gl/RMpSHW

ผู้ประพันธ์หนังสือ “พุทธธรรม”
เว็บไซต์รวมผลงานการประพันธ์ ธรรมนิพนธ์และธรรมบรรยายของ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)

เว็บไซต์วัดญาณเวศกวัน
http://goo.gl/3MqXu3