ทำไมศีล ๕ แล้วทำไมต้องศีล ๘ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้เคยเมตตาอธิบายเรื่องนี้ไว้ เมื่อครั้งที่่ท่านสนทนากับนายลอเรนส์ แวน เดน มิวเซนเบิร์ก (Laurens Van den Muyzenberg) นักหนังสือพิมพ์/นักเขียน ชาวเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2547

ศีล ๕ – หลักการพื้นฐานของสังคม

เริ่มต้นพระพุทธศาสนาให้มีการรักษาศีล ๕ คือหลักการที่เป็นเหมือนพื้นฐานของสังคม เพื่อก่อให้เกิดสันติสุขในสังคม แต่มันไม่ได้ให้ความมั่นใจในเรื่องความสุขของมนุษย์ มันช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้นโดยไม่มีการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย และทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้นสำหรับมนุษย์ทุกคนที่อยู่ร่วมกัน และช่วยให้บุคคลแต่ละคนมีโอกาสที่จะมีพัฒนาการได้ดียิ่งขึ้น

ศีล ๘ – ศีลเพื่อการพัฒนาสู่อิสรภาพ

เหนือกว่านั้น เรายังมีศีล ๘ เพื่อช่วยเสริมส่งให้คนที่มีอามิสสุข (ความสุขด้วยการอาศัยสิ่งภายนอกขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภค) ได้ก้าวหน้าไปสู่นิรามิสสุข (ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก ไม่ขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภค)

ในศีล ๘ เราจะได้เห็นว่ามีศีลเพิ่มขึ้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่น ไม่ได้สัมพันธ์กับการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งต่างจากศีล ๕ ข้อแรก ศีลห้าเกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ศีลแปดแตกต่างไป

อย่างศีลข้อ ๓ ในศีลแปด หมายถึง เมถุนวิรัติ คืองดกิจกรรมทางเพศ และเพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ ศีลข้อหก งดรับประทานอาหารในยามวิกาล คือ งดอาหารตั้งแต่เที่ยงไปถึงวันใหม่ ศีลข้อที่เจ็ด เว้นจากการร้องรำ บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น และลูบไล้ร่างกายด้วยเครื่องหอมหรือตกแต่งประดับร่างกาย ศีลข้อที่แปด เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย

จะเห็นได้ว่าศีล ๓ ข้อหลังนี้ เป็นศีลที่ใช้สำหรับฝึกฝนตนเองส่วนตัว คือ การสละความสุขทางกาม และวัตถุต่างๆ และใช้เวลาที่เหลือในการพัฒนาจิตใจทำสิ่งที่เป็นประโยช์ หรือทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม

เมื่อได้รักษาศีลแปดก็จะพบว่า เราสามารถอยู่ได้อย่างดีมีความสุขโดยไม่ต้องอาศัยกามคุณต่างๆ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนรักษาศีลแปดเดือนละสี่ครั้ง อย่างน้อยที่สุดเขาก็ไม่ต้องเสียอิสรภาพ อิสรภาพในที่นี้ คือ การมีความสุขโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก เรามีความสุขที่เป็นอิสระจากกามคุณ ๕ และเรายังสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านั้นนี่คือตัวอย่างของความสุข ที่ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอก

บุคคลควรจะได้รู้จักกับความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยขึ้นต่อปัจจัยภายนอก เมื่อเขารักษาศีลแปด เขาสามารถมีความสุขได้ง่ายขึ้น

คนทั่วไป ก่อนการรักษาศีลแปด เขาอาจพูดว่าเขาต้องมีนั่นมีนี่ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็จะไม่มีวันมีความสุขได้เลย แต่หลังจากได้ผ่านการรักษาศีลแปดมาแล้วเขาก็จะเปลี่ยนไป มีความอยากน้อยลง คือ แม้จะไม่มีนั่น ไม่มีนี่ ชที่เคยอยากได้อยากมีมาก่อน ก็รู้สึกใหม่ว่าไม่เป็นไร อยู่ได้ มีความสุขได้

จากหนังสือ พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ (pdf) เป็นบทสนทนาระหว่าง “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)” กับนายลอเรนส์ แวน เดน มิวเซนเบิร์ก

พระพรหมคุณาภรณ์ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์เอกคนหนึ่งของโลก สามารถศึกษางานของท่านและฟัง mp3 เพิ่มเติมได้ที่
http://www.watnyanaves.net/th/home

หมายเหตุ:

ศีล ๕ หรือเบญจศีล ความประพฤติชอบทางกายและวาจา การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาปกติของระเบียบวินัย ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน
๑. เว้นจากการปลงชีวิต การฆ่า การประทุษร้ายกัน
๒. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง
๕. เว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ

ศีล ๘ หรือ อัฏฐศีล พุทธศาสนิกชนนิยมสมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า อุโบสถศีล
คือมีเพิ่มขึ้นมาจากศีล ๕ ข้อโดยศีลข้อ ๓ ในศีลแปด หมายถึง เมถุนวิรัติ คืองดกิจกรรมทางเพศ และเพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ
ศีลข้อ ๖ งดรับประทานอาหารในยามวิกาล คือ งดอาหารตั้งแต่เที่ยงไปถึงวันใหม่
ศีลข้อ ๗ เว้นจากการร้องรำ บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น และลูบไล้ร่างกายด้วยเครื่องหอมหรือตกแต่งประดับร่างกาย
ศีลข้อ ๘ เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย