(ฉบับการ์ตูน) อ่านนิทานเรื่อง ลิงเฝ้าสวน

ทีนี้เราก็มาดูอุทยานบาล คนเฝ้าสวนของพระราชา
คือเฝ้าพระราชอุทยาน

3-2-3

ท่านผู้นี้ก็มีความซื่อสัตย์
ซื่อตรงต่อหน้าที่ทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง
จะว่ากลัวพระอำนาจก็แล้วแต่นะ ถ้าทำผิดดีไม่ดีก็ตัดศีรษะเลย
แต่ว่าอาจจะซื่อสัตย์ทำหน้าที่ตัวเองให้ถูกต้อง

ทีนี้ในเมืองก็เกิดมีงานนักขัตฤกษ์ขึ้นมา

4-3

ท่านผู้นี้ก็มาคิด เอ… เรานี้ก็อยากจะไปเที่ยวซะบ้าง
จะทำไงล่ะเราก็ต้องรดน้ำพรวนดินดูแลสวน
จะขาดไม่ได้จะไปซักวันสองวันสามวัน
มันก็เสียงาน สวนต้นไม้จะเป็นยังไงก็ไม่รู้
ทำไงดี อยากจะเที่ยวก็เที่ยวละทิ้งหน้าที่ก็ไม่ได้

5-2

นึกไปนึกมานึกออก ..อ๋อ..
เรามีวานรอยู่ฝูงหนึ่งอยู่ในสวนของเรานี่

6-2

วานร ก็คือ ลิง
ทีนี้ว่าลิงทั้งหลายก็เป็นธรรมดาต้องมีหัวหน้า
เค้าเรียกอะไรจ่าฝูงใช่ไหม จ่าฝูงหรือหัวโจกก็แล้วแต่ล่ะ
โดยมากหัวโจกใช้ในทางไม่ค่อยดี ก็เรียกจ่าฝูง

7-3-5

ทีนี้ก็มีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง แล้วก็มีจ่าฝูง
นายอุทยานบาลคิดขึ้นมา
เอ้อ..ได้การแล้ว
ลิงนี่ฉลาด พอจะทำงานได้
ก็เลยเรียกหัวหน้าลิงจ่าฝูงมา

8

“เออนี่นะ
เราเนี่ยอยากจะไปเที่ยวงานนักขัตฤกษ์ซักสองสามวัน
แล้วห่วงสวนเนี่ย พวกเธอนี่ก็อยู่ในสวนอาศัยสวนมาเราก็อยู่ด้วยกันเนี่ย
จะให้สวนมันดีก็ต้องช่วยกันรักษา เธอจะพอช่วยเราได้ไหม”

“ด้วยอะไรล่ะ?”

ก็บอกว่า
“เนี่ย มาช่วยรดน้ำต้นไม้ให้หน่อย”

8-3

“โอ้.. ได้สิแค่นี้
พวกเราก็รักสวนนี้เหมือนกัน อยากจะให้งดงาม
แล้วก็อยากแทนคุณของท่าน ท่านก็ช่วยพวกเรามาตลอด”
ก็เลยตกลงเอ้าลิงรับแล้วรับปาก จะไปบอกพวกฝูงลิงให้

8-2

ทีนี้นายอุทยานบาลก็เลยบอกวิธีงานที่จะต้องทำ
ว่าเออการรดน้ำทำอย่างนั้นนะ มีถังน้ำอยู่ที่นั่นที่นั่น
ถึงเวลานั้นเช้าหรือตอนไหนก็ไม่รู้แหละ
เค้าก็บอกเวลาไปให้พาฝูงลิงเนี่ยเอามารดน้ำ
ไปตักน้ำที่โน่นนะ ใช้กระป๋องเหล่านี้นะ แล้วก็มารดต้นไม้เหล่านี้นะ
ตามเวลานี้อะไรนี้ก็บอกไป

หัวหน้าลิงก็รับปากอย่างดี

คนเฝ้าสวนก็สบายใจ เบาใจได้ก็เป็นอันว่า
ไปในเมือง ไปเที่ยวงานนักขัตฤกษ์

9

ฝ่ายหัวหน้าลิงนี่ก็ฉลาด
ถึงเวลาก็เรียกฝูงลิงมาบอกว่า
“เออเนี่ยพวกเราอยู่ในสวนมาช่วยกันนะ
ดูแลรักษารดน้ำต้นไม้กันหน่อย วันนี้นายเราไม่อยู่”

“เอ้ามาช่วยกันสิ”

เอ้าจะตักน้ำก็เอาพวกถังน้ำหรือว่ากระบวยอะไรเนี่ย
เค้าเรียกอะไรที่จะไปรดน้ำต้นไม้ บัวรดน้ำหรือถังน้ำก็แล้วแต่
หยิบกันมา ไปตักน้ำ
พวกฝูงลิงก็พากันไปถึงเดินกันไป

พอจะเริ่มงานหัวหน้าลิงก็บอก
“หยุดๆ เดี๋ยวก่อน”

10-3

“อ่าวทำไมละ เดี๋ยวสิ”

ก็บอกว่า
“การที่จะรดน้ำต้นไม้นี่นะเราก็ต้องรู้จักประหยัดน้ำด้วย
แล้วก็ต้องรู้จักรดให้มันเหมาะสมให้ได้ประโยชน์ดีที่สุด
เพราะฉะนั้นเราจะรดให้เหมาะ”

ทำยังไงจึงจะเหมาะ ?

11-2

ก็คือว่าต้นไม้เนี่ยเป็นธรรมดาเค้าต้องการน้ำมากน้อยไม่เท่ากัน
ฉะนั้นเราจะต้องรดน้ำให้ตามความต้องการของต้นไม้
ต้นไหนต้องการน้ำมาก เราก็รดน้ำมาก
ต้นไหนต้องการน้ำน้อย เราก็รดน้ำน้อย

12-2

เออ…แล้วจะทำยังไงจึงจะรดได้ผล
เออ…ก็ต้องแบ่งงานกันทำ

ก็มาเรียนรู้วิธีการ…
ทำไงจะรู้ความต้องการของต้นไม้
ธรรมดาต้นไม้ไหนรากยาวก็ต้องการน้ำมาก
ต้นไม้ต้นไหนรากสั้นก็ต้องการน้ำน้อย
เราก็รดไปตามความต้องการของต้นไม้

ทีนี้ทำไงจะรู้ความต้องการ
ก็ต้องถอนมันขึ้นมาดู

13

ทีนี้คนหนึ่งจะต้องรดต้นไม้ให้พอดีกับความต้องการน้ำ
คนหนึ่งก็ต้องดูรากไม้ว่ายาวหรือสั้น
เราก็ต้องแบ่งงานกันทำ
เพราะฉะนั้นก็จัดวานรนี้เป็นคู่ๆ
ตัวหนึ่งก็เอาบัวรดน้ำหรือว่ากระป๋องน้ำเนี่ยไปตักน้ำ
อีกตัวหนึ่งก็มาอยู่ที่โคนต้นไม้

พอตัวที่ตักน้ำมาถึงจะรดน้ำมากหรือน้อย
ไอ้เจ้าตัวที่อยู่ที่โคนต้นไม้
ก็ถอนต้นขึ้นมาดู

14-4-2

แล้วก็บอกว่าต้นนี้รากยาว ก็รดน้ำมาก
แล้วก็ไปต้นต่อไป
ไอ้เจ้าต้นนี้รากสั้นต้องการน้ำน้อยก็รดน้อยๆ
นี่ก็เรียกว่ารดตามความต้องการของต้นไม้

ทั้งรดอย่างฉลาดเลยนะ รู้ความต้องการของต้นไม้
รดให้พอดีกับความต้องการของต้นไม้
ทั้งรู้จักหลักการแบ่งงานกันทำ

ลิงนี่ฉลาดอย่างยิ่งเลยนะ หาได้ยาก

แต่ปรากฏว่า
ต้นไม้ตายหมด

15

ทีนี้ก็มีท่านผู้หนึ่งเดินผ่านมา
เอ้…เห็นลิงทำอะไรกันเนี่ย ก็เลยมาเกาะรั้วสวน
แล้วก็ถามหัวหน้าลิง

“ท่านทำอะไรกัน?”

16

“รดต้นไม้ เพราะว่านายอุทยานบาลแกไปเที่ยวงานนักขัตฤกษ์
พวกเราก็รับช่วยแก”

“อ่าวแล้วทำไมท่านทำอย่างนี้?”

17-2

หัวหน้าลิงก็อธิบาย
“เอ้า ก็มีเหตุผลอย่างนี้แหละ เราก็ต้องรดน้ำตามความต้องการของต้นไม้
ทำไงจะรู้ความต้องการก็ต้องรู้ว่ารากสั้นรากยาว ก็ต้องถอนมันขึ้นมาดู
แล้วก็รดไปตามความต้องการนั้น
เรื่องก็อย่างนี้ แล้วก็แบ่งงานกันทำเรียบร้อย ก็สำเร็จด้วยดี”

18-9

นายคนนั้นแกก็ไม่รู้จะพูดว่าไง
เพราะว่าลิงก็เถียงแกอีก
ลิงก็บอกว่าเค้าทำอย่างฉลาดแล้ว
ใช่ไหม ที่เค้าอธิบายนี่ก็ถูกต้องหมด

แต่ว่าต้นไม้มันตาย
แต่มันไม่ได้ตายเดี๋ยวนั้นนี่ใช่ไหมกว่าจะเห็น

18-3

ทีนี้คนนี้แกก็เลยกล่าวคาถาออกมาบอกว่า

“คนไม่ฉลาดในประโยชน์ แม้ปราถนาจะทำประโยชน์ ก็กลายเป็นทำความพินาศได้”

นี่คือคาถาสรุป

อันนี้ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยเลยนะ

นิทานชาดก ถอดเทปจากเรื่องเล่าโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)

เรื่องจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อัตถกามวรรค
เรื่องที่ ๖ อารามทูสกชาดก
ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีความสุข

ดูคลิปวีดีโอการ์ตูนได้ที่นี่ค่ะ
https://youtu.be/qMA3h7q63TI?list=PLDzf9cyBwgxCryjYpnDTxBKjl6rsSGsck

ดาวโหลดภาพการ์ตูนแบบยาวได้ที่นี่
https://dhammaway.files.wordpress.com/2014/09/monkey-on-garden-9-1.png

“พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)”
ผู้นิพนธ์หนังสือ “พุทธธรรม” อันทรงคุณค่า
หนังสือที่รวบรวมหลักคำสอนและแนวคิดทางพระพุทธศาสนา
ไว้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ศึกษางานของท่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน ค่ะ
http://www.watnyanaves.net