คลังภาพ

(ถอดเทป) กรรมฐาน3แนว – พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

ธรรมเทศนานี้ หลวงพ่ออธิบายละเอียดมากนะคะ
พวกเราค่อยๆอ่าน ค่อยๆเก็บรายละเอียดนะ
คุ้มค่าแน่นอนคะ (-/\-)
กรรมฐาน 3 แนว

พระธรรมเทศนา ณ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เสนอธรรมบรรยาย หลักสูตร “ปรมัตถภาวนา” 24-31 พ.ค. 2552
ณ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ (ศูนย์ 2)

โดยพระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
เรื่อง กรรมฐาน 3 แนว


“นมัตถุ รตนัตตยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุข ความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้ก็จะได้ ปรารถธรรมะ ตามหลักธรรมคำสั่งสอน
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อความรู้ความเข้าใจในแนวทางของการปฏิบัติ
ในการปฏิบัติกรรมฐานตามหลักที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้
ก็จะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน มีแนวทางอยู่ 3แบบ 3อย่าง

ประการที่1 ก็คือการเจริญสมถะนำหน้า วิปัสสนาตามหลัง
ที่ท่านเรียกว่า สมถปุพพังคมวิปัสสนา วิปัสสนาที่มีสมถะนำหน้า
อันนี้ก็เหมาะกับอัธยาสัยของผู้ที่เจริญสมาธิก่อน
ผู้ที่เป็นสมถยานิกะ เจริญสมถะให้ได้ฌาน
แล้วจึงยกองค์ฌานมาพิจารณาต่อ
ให้เห็นไตรลักษณ์ ให้เป็นวิปัสสนาขึ้น

ในการเจริญสมถะ ที่จะทำให้เข้าถึงฌานนั้น
พระพุทธองค์ก็ได้แสดงอารมณ์ของสมถะไว้
มีหลายประการด้วยกัน
อย่างเช่นการเพ่งกสิณ กสิณดิน น้ำ ไฟ ลม
สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว เป็นต้น
อันนี้ก็สามารถทำให้ได้ฌาน
เพ่งอสุภะ เพ่งซากศพ ก็ได้ฌาน
อานาปานสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออก ก็ให้ได้ฌาน
กายคตาสติ พิจารณาร่างกายในอาการ32
ก็ทำให้ได้ฌานเหมือนกัน
หรือการเจริญพรหมวิหาร4 เจริญเมตตา
แผ่ความรักความปราถนาดี
เจริญกรุณาแผ่ความสงสารต่อทุกขภิสัตว์
สัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์
หรือจะได้รับความทุกข์ในกาลข้างหน้า
นี้ก็จะทำให้ได้ฌานได้
เจริญมุทิตาแผ่ความพอยินดีต่อสุขปิตสัตว์
สัตว์ที่กำลังได้รับความสุขอยู่
หรือจะได้รับความสุขในกาลข้างหน้า
หรือเจริญอุเบกขา นี่ก็ทำให้ได้ฌาน

ดังนั้นก็แล้วแต่จริต
พวกราคะจริต ก็เหมาะสมในการเจริญอสุภะ การเพ่งศพ
กายคตาสติ พิจารณาการ32ให้เห็นเป็นของปฏิกูล
คนที่โทสะจริต ก็จะเหมาะในด้านการเจริญพรหมวิหาร
เจริญเมตตา และกรุณา มุทิตา อุเบกขา
หรือถ้าเจริญกสิณ ก็เพ่งวรรณกสิน
กสิณสีเขียว หรือสีเหลือง สีแดง สีขาว
คนที่วิตกจริต คนคิดมาก
ก็เจริญอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก
คนที่โมหะจริต นี่ก็เจริญอานาปานสติได้
พวกศรัทธาจริต ศรัทธาจริตก็เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ
พวกพุทธิจริต ทางเจ้าความทางปัญญา ทางทิฐิ
ทางปัญญาพวกนี้เขาเจริญ มรณานุสติ ระลึกถึงความตาย
อุปสมานุสสติ ระลึกถึงนิพพานให้ได้

ในการเจริญสมถะซึ่งต้องเพ่งบัญญัติเป็นอารมณ์
จนได้เกิดนิมิต อย่างเพ่งกสิณก็ดี
เพ่งอานาปานสติ เพ่งลมหายใจเข้าออก
ก็จะไปถึงนิมิต เกิดอุคหนิมิต นิมิตที่ติดตา
แล้วก็เพ่งอุคหนิมิตต่อเกิด สี แสง
เกิดเป็นความใส เป็นสีเป็นรัศมีสีแสง
เพ่งให้ใหญ่ให้เล็ก นึกให้ใหญ่นึกให้เล็ก
สมาธิก็จะเข้มข้นขึ้น จากขณิกสมาธิ
เป็นอุปจาระสมาธิเฉียดๆฌาน
จนในที่สุดก็เข้าถึงอัปปนาสมาธิ ได้ฌาน
ตอนได้ฌานนี่ก็จะดับความรู้สึก
ปิดการรับรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกาย
ใจก็รู้เพียงอารมณ์เดียว รู้อารมณ์นิมิตอยู่อย่างเดียว
ก็ฝึกเข้าฌานออกฌานให้ชำนิชำนาญ
นึกจะเข้าก็กำหนดนิมิต ก็เข้าไปสู่ฌานจิตได้ทันได้ไว
ทรงอยู่ในฌานตามแรงอธิฐานได้ ตามเวลาที่กำหนด
เข้าออกชำนาญเป็นวสี
แล้วจึงยกมาสู่การพิจารณาให้ขึ้นสู่วิปัสสนา

การจะขึ้นสู่วิปัสสนานี่ก็จะระลึกใส่ใจมาที่จิต
ที่องค์ฌานที่ประกอบกับจิต
ในเวลาฌานจิตเกิดขึ้นเนี่ย
ก็จะมีองค์ประกอบขององค์ฌานอยู่
คนที่ได้ปฐมฌาน ก็จะมีองค์ฌานอยู่ 5
มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน[1] ละวิตก เหลือวิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
ละวิจาร ก็ขึ้นตติยฌาน มีปิติ สุข เอกัคคตา ประกอบอยู่
ขึ้นจตุตถฌาน ก็ละปิติ เหลือสุขกับเอกัคคตา
ขึ้นปัญจมฌาน ฌานที่5 ก็เหลือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา

ได้ฌานในระดับไหนก็เอาองค์ฌานนั้นมาพิจารณา
เช่นมีปิติ ก็กำหนดรู้ปิติ
มีความสุขก็รู้ กำหนดรู้ความสุข
มีสมาธิ มีเอกัคคตาก็กำหนดรู้เอกัคคตาที่ตั้งมั่นอยู่
กำหนดฌานจิต กำหนดผู้รู้ผู้ดู
เมื่อน้อมมาพิจารณาที่จิตใจ
องค์ฌานที่ประกอบกับจิตใจบ่อยๆเนืองๆได้
ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิดดับ
เห็นสภาพความไม่ใช่ตัวตน
ปิตินี่ก็เปลี่ยนแปลง ความสุขก็เปลี่ยนแปลง
สมาธิก็เปลี่ยนแปลง ฌานจิตก็เปลี่ยนแปลง
สติที่ระลึกรู้ก็เปลี่ยนแปลง
มีความเกิด มีความดับ มีความหมดไปดับไป
บังคับไม่ได้ เห็นสภาพแห่งความบังคับไม่ได้
ก็เกิดฌาน เกิดปัญญา เห็นวิปัสสนา
เห็นความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง
ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา
ที่สุดก็จะสามารถก้าวขึ้นสู่วิมุติ ความหลุดพ้น
บรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างนี้เขาเรียกว่า
เจริญสมถะนำหน้า วิปัสสนาตามหลัง

สำหรับในแบบที่ 2
แบบที่สองเป็นการเจริญวิปัสสนานำหน้า สมถะตามหลัง

เรียกว่า วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ สมถะที่มีวิปัสสนานำหน้า
ก็คือเจริญวิปัสสนาไปเลย กำหนดรู้รูปนาม
กำหนดสภาวะปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏ
ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพียงขณิกสมาธิ สมาธิเล็กน้อย
แต่เป็นการใส่ใจระลึกรู้ตรงๆ
ต่อสภาวะ ต่อรูปนามที่ปรากฏ ไม่ใช้บัญญัติ
คนที่เจริญวิปัสสนานำหน้า ก็จะระลึกรู้ตรงๆ
ต่อสภาวะที่ปรากฏ ไม่ได้เจาะจงที่ใดที่หนึ่ง
แล้วก็เจริญได้ทุกอิริยาบท
ไม่ว่าจะอยู่ในการ ยืน เดิน นั่ง นอน
คู้ เหยียด เคลื่อนไหว
หลับตา ลืมตาอยู่ก็แล้วแต่
สติก็จะระลึกรู้ตรงๆ สัมผัสตรงต่อสภาวะที่ปรากฏ
เช่นระลึกรู้ทางตา ก็ตรงๆที่สภาพการเห็น
ระลึกรู้ทางหู ก็ตรงๆที่สภาพได้ยินเสียง
ทางจมูก ก็ระลึกตรงๆต่อสภาพรู้กลิ่น
ทางลิ้น ก็ระลึกรู้ตรงๆต่อสภาพรู้รส
ทางกาย ก็ระลึกรู้ตรงๆต่อความรู้สึกเย็นบ้าง ร้อนบ้าง
อ่อน แข็ง หย่อน ตึง รู้สึกสบาย ไม่สบาย
ทางใจก็ระลึกรู้ตรงๆต่อความคิด
มีความคิด ก็ระลึกลักษณะความคิด
ความรู้สึก อาการในจิต
เกิดการวิตก วิจาร วิจัย สงสัย พอใจ ไม่พอใจ
ก็ใส่ใจระลึกรู้ตรงๆ ต่อความรู้สึกอาการในจิตใจ
สบายใจก็รู้ว่าสบายใจตรงๆ
ไม่สบายใจก็รู้ความไม่สบายใจตรงๆ
สงบก็รู้ความสงบตรงๆ ไม่สงบก็รู้อาการไม่สงบ
ชอบก็รู้ ไม่ชอบก็รู้ ฟุ้งก็รู้ สงสัยก็รู้
จิตใจอิ่มเอิบก็รู้ จิตใจมีความสงบกายสงบใจก็รู้
มีสติเกิดขึ้นก็รู้ มีการพิจารณาในธรรมก็รู้
ใจมีความเพียรอยู่ก็รู้ ใจมีความเป็นกลางสม่ำเสมอดีก็รู้
รู้ตรงๆต่อลักษณะของสภาวะธรรมที่ปรากฏ
ไม่ได้ใช้บัญญัติ ไม่มีคำบริการรม
ไม่ตีความหมาย ไม่ขยายไปในสมมุติ
ระลึกรู้ตรงๆ อย่างปล่อยวาง อย่างสักแต่ว่า
อย่างไม่ว่าอะไร อย่างไม่เอาอะไร ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
สติก็จะระลึกใส่ใจต่อสภาวะ ไม่เจาะจงที่ใดที่หนึ่ง
เมื่อเจริญสติระลึกรู้เท่าทันต่อสภาวะธรรมต่างๆ
ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จมูก ลิ้น กาย ใจ
แล้วแต่สภาวะธรรมอะไรปรากฏ
เมื่อสติเท่าทันต่อสภาวะ
วางใจได้ดีเป็นกลางเหมาะสมถูกต้อง
สมาธิก็จะบวกขึ้นมาเองจิตจะเกิดสมาธิ รวมตัว ตั้งมั่น
เรียกว่าสมาธิก็เกิดขึ้นมา โดยไม่ต้องไปเพ่ง
ไม่ต้องไปเพ่งบัญญัติ อาศัยสติที่ระลึกรู้ต่อสภาวะเท่าทัน
อย่างปล่อยวาง สมาธิเกิดขึ้นมา
รวมตัว ตั้งมั่น แล้วสติก็ตามรู้สถาวะ
แม้จะสงบตั้งมั่น ในสภาวะสงบก็ยังรู้จิต รู้ใจ รู้ความรู้สึก
ที่สุดก็สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรม
มีณาณหยั่งรู้เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นการเกิดดับ
เห็นสภาพบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
จิตรวมเข้าสู่สมาธิ ก็สามารถจะเกิดณานปัญญา
รู้แจ้งบรรลุมรรคผลนิพพาน
อันนี้เขาเรียกว่า เจริญวิปัสสนานำหน้า สมถะตามหลัง
เรียกว่า วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ
คือสมาธิเนี่ยเกิดขึ้นมาเอง ตามหลังขึ้นมา
เพราะยังไงๆมันก็ต้องมีสมาธิ
การจะเข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์ดับทุกข์นะ ต้องมีสมาธิ
ปัญญาต้องประกอบกันอยู่กับสมาธิ

ทีนี้ในแบบที่ 3
เป็นแบบที่สำหรับบุคคลที่ ทำไม่ได้ทั้งสองแบบ
จะทำสมถะให้ได้ฌานก็ทำไม่ไหว
จะเจริญวิปัสสนาไปโดยตรงก็ทำไม่ไหวไม่ได้
ตั้งสติไม่อยู่ บางคนเนี่ยถ้าไม่มีสมาธิบ้างตั้งสติไม่อยู่
จิตใจเลื่อนไหล หลงลืม เผลอเลอ วุ่นวาย ตั้งหลักไม่ได้
ครั้นจะทำฌานก็ทำไม่ไหว
ทำวิปัสสนาไปเลยก็ระลึกไม่เป็นบ้าง
หรือเป็นแต่ตั้งหลักไม่อยู่ สติมันตั้งไม่อยู่
ก็มาเจริญในแบบที่ 3
แบบที่ 3 ที่เรียกว่า ยุคนัทธสมถวิปัสสนา
การเจริญสมถะวิปัสสนาควบคู่กัน

นี่สำหรับคนที่ ที่ทำไม่ได้ทั้งสองแบบแรก
ก็มาเจริญในแบบที่สาม
โดยเฉพาะคนในยุคปัจจุบันเนี่ย
จะเหมาะสมในแบบที่สามเป็นส่วนมาก
คือต้องเจริญสมถะวิปัสสนาควบคู่กัน
ต้องทำสมาธิบ้างด้วย ไม่งั้นตั้งหลักไม่อยู่
ก็คือว่าเช่น ต้องมีการระลึกบัญญัติบ้าง ปรมัตถ์บ้าง
เช่นการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก
ภาวนาอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี่ก็เป็นการทำสมาธิ
แต่ก็ไม่ถึงขั้นไปมีนิมิต ไม่ถึงขั้นที่จะเข้าถึงฌาน
ก็ระลึกรู้สภาวะควบคู่สลับกันไปเลย
แบ่งมารู้ใจด้วย แบ่งมารู้สึกสภาวะที่เกิดขึ้น
ที่กายที่ใจ แต่ก็รู้ลมหายใจไว้
ไม่ทิ้งลมหายใจ ดูกำหนดลมหายใจเข้า
กำหนดลมหายใจออก ระลึกความรู้สึกในกายในใจ
สลับกับการรู้ลมหายใจไว้ มันสามารถสลับกันได้
รู้ลมหายใจแต่ก็สังเกตจิตใจไปด้วย
ใจเป็นยังไง ใจคิด ใจนึก ใจมีความรู้สึก
สบาย ไม่สบาย สงบ ไม่สงบก็รู้
แต่ก็รู้ลมหายใจไว้ เพราะว่าต้องรักษาสมาธิไว้
รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
รู้ความไหว ความกระเพื่อม ความสะเทือน
ความสบาย ไม่สบายที่กาย แต่ก็รู้ลมหายใจอยู่
อย่างนี้ก็เป็นการเจริญสมถะวิปัสสนา
การระลึกถึงลมหายใจเข้าออก
หรือภาวนาเข้าออกพุทโธอยู่กับลมหายใจ เป็นสมถะ
แต่เวลามาระลึกรู้จิตใจ รู้ความรู้สึกของใจ รู้ความรู้สึกในกาย
เป็นการเจริญวิปัสสนา เพราะสติระลึกรู้สภาวะ
จิตใจเป็นสภาวะ เวทนา ความสบาย ไม่สบาย เป็นสภาวะ
ความเย็น ความร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เป็นสภาวะ
ฉะนั้นรู้สภาวะ ควบคู่กันไปกับรู้บัญญัติ
บัญญัติคือลมหายใจว่าเข้าว่าออก ยาว สั้น พุทโธอยู่นี่
ก็รู้ควบคู่กันไป มาฝึกไปฝึกไปเข้า มันก็จะค่อยแยบคายขึ้น
ที่สุดแล้วมันก็จะเข้ามาสู่สภาวะได้มาก
เข้ามารู้สภาวะ ความรู้สึกในกายในใจ
เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิดดับ
เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
จิตก็รวมตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ก็มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

ทีนี้บางคนใช้สมถะคือลมหายใจเข้าออกไม่ถนัด
แต่จะมากำหนดที่หน้าท้องก็ได้
ดูท้องพองท้องยุบ คู่กับการรู้ใจ
รู้ท้องพองท้องยุบ คู่กับการรู้ความไหวๆ
ดูท้องพองยุบไปก็ไปเจอความถูกสัมผัส
ก้นขากระทบสัมผัสก็รู้ แต่ก็รู้พองยุบไว้ เพื่อรักษาสมาธิไว้
รู้พองยุบ รู้ความเย็นความไหว รู้พองยุบ รู้ใจ
รู้อย่างนี้ก็จะสามารถที่จะรักษาจิตให้มีสมาธิ
แต่ก็มีการรู้สภาวะสลับกัน
หรือบางคนไม่ถนัดในเรื่องลมหายใจ เรื่องกำหนดหน้าท้อง
ก็มารู้ในท่านั่ง กำหนดท่านั่ง เหมือนเป็นท่านั่งอยู่
นั่งอยู่อย่างไร ขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ
มีท่าทางของกายที่นั่งอยู่ ก็รู้ในท่านั่งไว้
ให้จิตเกาะอยู่กับท่านั่ง หรือท่ายืน หรือท่าเดิน หรือท่านอน
แต่ก็รู้สภาวะสลับกันไปด้วย เช่นมันมีท่านั่งอยู่
แต่มันก็มีสัมผัสความแข็ง ที่ก้น ที่ขา
ที่มือสัมผัสกัน ก็รู้สึกความแข็ง ความร้อน ความตึง
ใจเป็นยังไง แต่ก็รู้ท่านั่งไว้ แล้วก็รู้ใจไว้
หรือเวลาเดินมันก็จะเห็นท่าของกายที่เดิน
ก้าวเท้าขวา ก้าวเท้าซ้าย ยก ย่าง เหยียบ
เห็นเป็นท่าทางของกายที่เดินอยู่
แต่ก็รู้ความรู้สึกไปด้วย รู้ตึง รู้หย่อน รู้ไหว รู้ใจที่รับรู้
มันก็จะเป็นสมถะบ้าง วิปัสสนาบ้าง
เวลาที่จิตอยู่กับรูปร่างสันฐานของกาย
การอยู่กับบัญญัติ มันก็เป็นการผูกใจให้มีสมาธิ
เวลาจิตไประลึกถึงความรู้สึก
รู้ความไหวๆ รู้ใจที่รับรู้
มันก็เป็นการรู้สภาวะปรมัตถ์ แล้วก็เป็นวิปัสสนา
ฝึกไปฝึกมา มันก็จะสามารถให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
แล้วก็มีปัญญาเห็นการเปลี่ยนแปลง
เห็นการเกิดดับ เห็นสภาพไม่ใช่ตัวตน

หรือบางท่านอาจจะไปเจริญสมถะด้วยการแผ่เมตตา
คู่กับการเจริญวิปัสสนาก็ได้
การแผ่เมตตานี้ก็เป็น เป็นการเจริญสมถะ
เพราะว่าจิตจะต้องไปนึกถึงความเป็นสัตว์
สัตวบัญญัติ ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ที่ขอให้แผ่ความรักความปราถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลาย
ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อย่าได้เบียบเบียนแก่กันและกันเลย
อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
ขอให้มีความสุขกายสุขใจ
รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น
ขณะที่แผ่จิตไปนึกถึงสัตว์ทั้งหลายเนี่ย
จิตก็จะมีอารมณ์เป็นบัญญัติ คือเป็นสัตว์เป็นบุคคล
นึกไปให้เขามีความสุข ให้มีความสุข ความสุขๆเถิด
จิตก็จะเกิดความอิ่มเอิบ ผ่องใส
หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ปากใจอิ่ม ปากยิ้มได้
ถ้าแผ่มากๆเนี่ย มันเกิดเมตตาขึ้นจริงๆ
มันก็จะมีความแจ่มใส แล้วสติก็กลับมาระลึกรู้จิตควบคู่กันไป
สังเกตจิตที่มันมีความแจ่มใส แช่มชื่น
สังเกตหน้าตามันแจ่มใส ปากยิ้ม ใจอิ่ม ปากยิ้ม เนี่ยมันก็สังเกตได้
ถ้ามีการเจริญเมตตา พร้อมกับการระลึกรู้
มันก็จะเป็นการปฏิบัติควบคู่กัน สมถะวิปัสสนา
เพราะงั้นเวลาเจริญเมตตาทีไรก็กลับมามีสติ
เราฝึกเจริญเมตตาควบคู่กับวิปัสสนา
พอแผ่เมตตาขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุข
สติก็มารู้จิตรู้ใจ รู้ความรู้สึกในกายในใจ แล้วก็แผ่ไปอยู่งั้น
ฉะนั้นคนที่จิตใจไม่แจ่มใส ไม่เบิกบานเนี่ย
เราสลับมาเจริญเมตตาเนี่ย จะฟื้นฟูจิตให้
ให้เบิกบาน ให้แจ่มใสได้
คนที่ใจหดหู่เศร้าหมองไม่แช่มชื่นขุ่นมัวอยู่เนี่ย
หันมาเจริญเมตตา แผ่ไปมากๆ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด เราว่าคำเดียวประโยคเดียวก็ได้ ให้มันถนัด
ความสำคัญคือต้องการให้จิตเนี่ยมัน มันมีเมตตา
บริกรรมไปบริกรรมไปเนี่ย จิตมันจะคล้อยตาม
จิตมันคล้อยตามก็จะมีความเมตตาขึ้นมา
แล้วก็กำหนดรู้ กำหนดรู้ในจิตใจ
ให้เห็นสภาวะ สภาพธรรมที่ปรากฏในจิตในใจเนี่ย
อันนี้มันก็จะเป็นการเจริญสมถะวิปัสสนาควบคู่กัน

ฉะนั้น จะเห็นว่าการปฏิบัติเนี่ยมันจึง มันจึงทำต่างๆกัน
เราถนัดแบบไหน เราก็เลือกทำแบบนั้น

ถนัดจะทำฌานได้ ก็ทำฌาน
ทำสมถะนำหน้าวิปัสสนาตามหลัง
แต่บางคน ถนัดที่จะเจริญวิปัสสนาไปเลย
บางคนมีอัธยาศัยมาทางวิปัสสนา
ถ้าให้ไปเพ่งบัญญัติเนี่ย เขาจะทำไม่ได้เลย
มันจะเคร่งตึง เคร่งเครียต
แล้วก็กลายเป็นไม่รู้สภาวะเลย
ไปใช้บัญญัติ ไปเพ่งบัญญัติทำไม่ได้
แต่ถ้าระลึกรู้สภาวะให้เป็นปกติ เดินปกติ นั่งปกติ
คู้ เหยียดเคลื่อนไหวอย่างปกติ
เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ กลับระลึกรู้ได้ ได้ดี
รู้สภาวะธรรมได้เท่าทัน
สำหรับคนบางคนจะเป็นอย่างนั้น
บางทีปฏิบัติอยู่กับชีวิตการงานทำได้ดี
แต่พอมาเก็บตัวเนี่ย กลับทำไม่ได้
เพราะมัน จงใจ มันจัดแจง มันจัดระเบียบไปเนี่ย
มันก็เลย บางคนไม่ถนัดในการที่จะเพ่งบัญญัติ
ฉะนั้นถ้าเรามีอัธยาศัยมาทางวิปัสสนา
ถึงแม้เรามาเก็บตัว เราก็ทำให้มันเป็นธรรมดาๆ
เดินธรรมดา นั่งธรรมดา จะหลับตาลืมตา
ทำให้เป็นธรรมดา สติมันก็จะทำงานได้
จะระลึก จะรู้เท่าทัน ต่อสภาวะธรรมต่างๆที่ปรากฏ

ฉะนั้น แต่อย่างไรก็ตาม จะเจริญอะไรก่อน
ก็ที่สุดก็ต้องผ่านวิปัสสนาทั้งหมด
คือยังไงก็ต้องผ่านการเห็นสภาวะรูปนาม
แต่ถ้าเจริญสมถะแล้วก็อยู่แค่สมถะ
แค่นิ่งสงบ เพ่งอยู่กับนิมิต
ไม่ยกขึ้นมาพิจารณาสภาวะให้เห็นไตรลักษณ์
มันก็จะเพียงแค่สมถะ ได้ฌาน
แม้จะละจากโลกนี้แล้ว ก็ยังต้องไปเกิดอยู่
เกิดในพรหมโลกโน่น
พอพ้นจากพรหมโลกมาเกิดเป็นมนุษย์เทวดา
ก็มีกิเลสเหมือนเดิม ทำความชั่วก็ลงนรกได้อีก

ฉะนั้นสมถะนี่ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
แม้จะมีฤทธิ์ มีอภิญญาอย่างไร ก็ยังไม่พ้นทุกข์

อย่างพระเทวทัตเนี่ย ท่านเข้ามาบวช ท่านก็ทำสมถะได้ฌาน
แล้วก็ได้อภิญญาด้วย สมถะมันทำให้ได้อภิญญา
อภิญญาที่เกิดจากการเจริญสมถะ มันจะได้อยู่ 5 อย่าง
อิทธิวิธิแสดงฤทธิต่างๆได้ อย่างพระเทวทัต
ได้แสดงแปลงกายเป็นมานพน้อยมีงูพันกาย
ไปปรากฏในห้องบรรทมของเจ้าชายอชาตศัตรู
ท่านก็กลับร่างมาเป็นภิกษุ
อันนั้นของฌาน ทำให้อภิญญาเกิด
เกิดอิทธิวิธิ เกิดทิพพจักขุ ตาทิพย์
เกิดทิพพโสต หูทิพย์
เกิดปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
เกิดปรจิตตวิชานนอภิญญา รู้วาระจิตของผู้อื่น
นี่เป็นผลของการเจริญสมถะ
คนที่เจริญสมถะจนได้ปัญจมฌาน ถ้าเขามีของเก่าอยู่
ของเก่าเคยเจริญฌาน เคยเจริญสมถะ
ได้ฌาน ได้อภิญญามา มันก็จะมาเกิดเอง
เกิดอภิญญาขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง
แต่ถ้าไม่มีของเก่าก็ไม่ได้อภิญญา
ก็ได้แต่ฌาน ได้แต่เข้าฌาน ได้ฌานชั้นไหน
เค้าก็เข้าไปสู่ ฌานสมาบัตินั้น
ก็เข้าไปดับ ไม่รับรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกาย
ใจก็นิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว ฌานสมาบัติ

ฉะนั้น มันก็เสื่อม พอไปเกิดกิเลสมากขึ้นก็เสื่อม
อย่างพระเทวทัตนี่ ตอนหลังก็ใจมักใหญ่ใฝ่สูง
อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าซะเองบ้าง
ยุให้เจ้าชายอชาตศตรู ปลงพระชนม์ชีพ
พระราชบิดาหรือพระเจ้าพิมพิสาร
พระเทวทัตตนเองก็จะปลงพระชนม์ชีพพระพุทธเจ้า
กลิ้งหินลงมา ตอนหลังก็ยุให้สงฆ์แตกจากกัน ฌานเสื่อมหมด
ไปทำบาปทำกรรมทำชั่วมาก ที่สุดตายไปก็ไปลงนรก
เพราะฉะนั้นถ้าเพียงแค่สมถะเนี่ย ยังไม่พ้นทุกข์

อาฬารดาบส กับอุทกดาบส ที่เป็นอาจารย์
เคยสอนสมถะที่พระองค์ออกบวชใหม่ๆก็ไปเรียน
ไปเรียนสมถะจนได้อรูปฌาน
อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนณาน
พระองค์ก็เห็นว่า มันก็ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่พ้นทุกข์
จึงออกไปแสวงหาโมฆธรรมด้วยพระองค์เอง
และเมื่อพระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ก็นึงถึงจะโปรดใครหนอที่สมควรโปรดก่อน
ก็นึกถึงบุคคลที่มีฌาน มีสมาธิสูงอยู่แล้ว
คืออาฬารดาบส กับอุทกดาบส
คือถ้าไปโปรดไปสอนให้พิจารณาเป็นเนี่ย
เขาก็จะบรรลุธรรมได้ง่าย
เพราะเขาได้ฌานสมาบัติ ได้สมาธิชั้นสูง
คือเขาเพ่งอยู่กับ นัตถิภาวบัญญัติ อากิญจัญญายตนฌาน
มันจะเพ่งอยู่กับความไม่มีอะไร
จิตจะไปอยู่กับความไม่มีอะไร
อะไรก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี อยู่อย่างนั้น
เนวสัญญา ก็เพ่งถึงขั้นสัญญาดับ
สัญญาจะไม่มี จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่
ถ้ามีพระพุทธเจ้าไปแนะให้พลิกกลับมา
พิจารณาฌาน พิจารณาองค์ฌาน พิจารณาจิตเป็นเนี่ย
เขาก็จะได้เห็นสภาวะ เห็นความเปลี่ยนแปลง จะบรรลุธรรมได้
แต่เมื่อพระองค์แผ่ทิพพจักขุไปก็พบว่า
อาจารย์ทั้งสองก็มรณภาพไปซะก่อนล่วงหน้า
แล้วก็ไปเกิดเป็นอรูปพรหม
อรูปพรหมเนี่ยเป็นพรหมที่มีเพียงนามขันธ์
คือไม่มีรูปร่างกาย ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย
มีแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จึงไม่สามารถจะสอนกันได้ เพราะไม่มีเครื่องรับ
ไม่มีตา ไม่มีหูจะรับฟังรับรู้ได้
ก็สุดวิสัยที่จะไปสอนได้
แล้วก็มีอายุยืนยาว
ชั้นสุดท้ายเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
มีอายุยืนถึง 84,000 มหากัปป์
กัปป์หนึ่งๆเนี่ยมันนับไม่ถ้วน

ภิกษุเคยถามพระพุทธเจ้าว่ากัปป์นึงนานขนาดไหน
พระองค์ก็อุปมาให้ฟัง

หุบเขาแท่งทึบ สูง1โยชน์ กว้าง1โยชน์
ร้อยปีก็เอาผ้าบางๆไปปะซักครั้ง
จนกว่าภูเขานั้นจะเตียนราบเรียบ

หรือถ้ามีห้องขนาดกว้าง1โยชน์ ยาว1โยชน์ สูง1โยชน์
แล้วมีเมล็ดพันธุ์ผักกาดไปใส่ไว้
ร้อยปีก็เอาออกมาเม็ดนึง
ร้อยปีก็เอาออกมาเม็ด
จนกว่าจะหมด กัปป์หนึ่งเนี่ย มันนานอย่างนั้น
แล้วชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาเนี่ย
ไม่ใช่เพียงกัปป์เดียว แต่นับไม่ถ้วน
ชีวิตของแต่ละท่านเนี่ย เวียนว่ายตายเกิดมามากมาย
น้ำตาที่ไหลจากความเศร้าโศกเสียใจ
ถ้าสามารถรวมไว้ได้ จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทร

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า
ถ้านำใบไม้กิ่งไม้ในชมพูทวีป
เอามามัดมาตัดเป็นท่อนๆ
ท่อนละ 4 นิ้ว 4 นิ้ว
เอามาสมมุติว่านี่คือมารดาของเราในอดีตชาติ
อันนี้ก็มารดา อันนี้ก็มารดา
ใบไม้ กิ่งไม้ที่เอามาสมมุติ มันหมดไปก่อน
มารดาในอดีตยังไม่หมดเลย
นี้แสดงว่าภพชาติมันมาก

ฉะนั้นเพียงพอไหมที่เราจะเกิดสังเวชสลดใจ
ต่อชีวิตแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ที่เราเกิดผ่านมาทุกข์ทรมาน
ต้องเศร้าโศก ต้องพิไรรำพัน
คับแค้นใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ
ทุกข์ ทุกข์จากความเกิด ทุกข์จากความแก่
ทุกข์จากความตาย ทุกข์จากความเศร้าโศก พิไรรำพัน
ทุกข์กายทุกข์ใจ คับแค้นใจ
เพราะว่าต้องพลัดพลากจากบุคคลอันเป็นที่รักบ้าง
จากสิ่งอันเป็นที่รักบ้าง
ต้องเผชิญกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจบ้าง
ต้องผิดหวังไม่สมหวังปราถนาบ้าง
ต้องหลั่งน้ำตาเศร้าโศกทุกข์ทรมานใจบ้าง
น้ำตาที่ไหลนี่ มากกว่าน้ำในมหาสมุทร

เลือดที่หลั่งไหลออกจากลำคอเนี่ย ที่ถูกตัดคอเนี่ย
บางชาติไปเป็นโจร หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถูกตัดคอ มากกว่าน้ำในมหาสมุทร
ให้รู้ว่าชีวิตเราผ่านความทุกข์มามาก

แต่ถ้าหากว่ายังไม่มีปัญญารู้แจ้งแทงตลอด
ไม่สามารถจะตัดกิเลสตัวเองได้
ชีวิตก็จะต้องระหกระเหินไปข้างหน้าอีก
ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดกันเมื่อไหร่

โดยเฉพาะอบายภูมิ
การบังเกิดขึ้นเป็นสัตว์นรก
เป็นเปรต เป็นอสุรกายนี่
ยังรอคอยอยู่สำหรับปุถุชน
ปุถุชนผู้ยังหนาแน่นด้วยกิเลส
คติภพไม่แน่นอน
ยังสามารถทีจะเกิดเป็นสัตว์นรกได้
เป็นเปรตได้ เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน

แล้วพระพุทธองค์ชี้ให้เห็น บอกให้ภิกษุได้ดู
ว่าถ้าเห็นคนพิกลพิกาล คนยากจนอนาถา
เนี่ยก็พึงแน่ใจไว้เลยว่าเราเคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว
ไอ้ที่เราไปเห็นคนอนาถา ยากไร้
คนพิกลพิกาล คนทุกข์ยาก
แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่มันทุกข์ยากลำบาก
เราเคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว

หรือเราไปเห็นคนร่ำรวย คนมีบริวาร
มีคนเพรียบพร้อมเดินหน้า ล้อมหน้าล้อมหลัง
อยู่ในตำแหน่ง อยู่ในยศชั้นสูง
ก็พึงรู้ว่าเราก็เคยเป็นอย่างนั้นมาแล้ว
แม้เราจะเป็นคนที่สูงส่งขนาดนั้นมา
มันก็ยังไม่พ้นทุกข์
ก็ยังมาเป็นเราอยู่
ทุกข์อยู่ขณะปัจจุบันนี้อีก

เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องไปหวัง
หวังยศ ลาภ สุข สรรเสริญขนาดไหน
เพราะมันเคยได้มาขนาดนั้นก็ยังไม่พ้นทุกข์
สิ่งที่มีคุณค่าสาระคือ สติปัญญา
ญาณปัญญา วิมุติความหลุดพ้น
ที่จะทำให้เราดับทุกข์ให้ตนเองได้
ซึ่งก็มีแต่เรื่องทางเดินคือการปฏิบัติวิปัสสนานี้เท่านั้น
และเราก็ต้องมาสู่การปฏิบัติทำความพากเพียร
ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
กำหนดให้มันตรง เราจะใช้บัญญัติใช้ปรมัตถ์
กำหนดบัญญัติ ปรมัตถ์ ควบคู่กันไป
แต่แล้วมันก็จะแยกกันไป
ทำสมถะวิปัสสนาควบคู่กันเนี่ย
บางคนเค้าแยกไปเป็นสมถะ
กำหนดไปกำหนดมา จิตฟุบตัวไปเป็นสมาธิ
จิตมันดับ มันนิ่ง พอจิตมันเข้าไปสู่ อัปปนาสมาธิ
มันจะดับความรู้สึก จะไม่ได้ยินเสียง มันเงียบไป
แล้วก็ไม่ใช่หลับ ถ้าหลับมันก็เป็นอีกอย่าง
หลับนี้รู้ตัวขึ้นมาก็งัวเงีย แต่ถ้ามันออกจากสมาธินะ
มันจะแจ่มใส จิตเบิกบานแจ่มใส
เนี่ยบางคน ทำไปฝึกไปฝึกมา จิตเข้าไปเป็นสมาธิ
ไปเป็นอัปปนาสมาธิ เข้าไปสู่ฌาน

ฉะนั้นถ้าจิตมันจะรวมตัวไปเป็นสมาธิใหญ่
ก็ยอมให้เขาเป็น อย่าไปรั้งไว้
บางคนกลัวสมาธิ รั้งใจไว้ ไม่ยอมลงไป
มันก็ทำให้ไม่สบายด้วย
อย่าไปกลัวเพราะว่า สมาธิมากยิ่งดีอยู่แล้ว
จิตเข้าไปสู่ฌาน มันจะดับนิวรณ์ทั้งหลายแหล่
คนที่ได้ฌานเนี่ย นิวรณ์ทั้งห้าจะถูกระงับไปหมด
กามฉันทะนิวรณ์ กำหนัดยินดีในกามคุณอารมณ์ก็ดี
พยาปาทะนิวรณ์ ความโกรธแค้นพยาบาท อาฆาตเหล่านี้ก็ดี
จะถูกระงับไว้หมด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ หดหู่ ท้อถอย สงสัย
นี่จะถูกระงับ แล้วก็มันสามารถที่จะต่อกันได้นะ
จิตเข้าไปสู่สมาธิใหญ่ นิ่ง เงียบ เดี๋ยวมันก็คลายตัว
มันต้องมีเวลาที่จะคลาย มันก็เริ่มพิจารณาได้
พอมันเริ่มรู้สึกได้ ก็พิจารณาดูจิตใจ
ดูองค์ฌานที่มันเกิดว่าเออปิติเป็นยังไง เที่ยงหรือไม่เที่ยง
ใจที่มีความสุขเที่ยงไหม ใจที่มีสมาธิ
ลักษณะความสงบ ลักษณะความตั้งมั่น
ลักษณะใจผู้รู้ผู้ดู พิจารณาได้

ฉะนั้นจะพิจารณาตอนที่มันคลายจากสมาธิ
ก็พิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์
หรือตอนที่มันจะเข้าสู่สมาธิ ก็พิจารณาได้
เวลาจิตมันรวมตัวสงบลงไปเนี่ย
ก็พิจารณาดูในความสงบนั้นนะ
ซึ่งพอสมาธิมันมากขึ้นเนี่ย
ความรู้สึกทางกายมันจะน้อยจนไม่รู้สึก
ลมหายใจก็ไม่รู้สึก ความรู้สึก ความไหว ความกระเพื่อม
เวทนา ทุกขเวทนามันไม่มีในกาย
มันจะไปรวมรู้อยู่ในใจ ใจที่นิ่ง ใจที่สงบ ใจที่เป็นผู้รู้ ใจที่รู้สึก
อิ่มเอิบ ผ่องใส ก็พิจารณาได้
หรือถ้าเกิดมันรวมไปสู่ สมาธิใหญ่ก็ปล่อยให้รวม
บางทีอาการที่มันจะรวมไปเป็นสมาธิ
บางทีมันเหมือนถูก จิตมันเหมือนถูกดูดลงไป
จะรวมลงไป ก็ให้รวม
เนี่ยมันคลายออกมาก็กำหนดสภาวะ

ทีนี้บางคนมันก็จะแยกมาเป็นวิปัสสนาเต็มที่
ตอนแรกเราทำควบคู่กัน สมถะวิปัสสนา
ต่อๆไปมันก็ทิ้งบัญญัติไปหมด
ฝึกไปฝึกไป บัญญัติทั้งหลายก็หลุด
คำบริกรรม หรือว่าความเพ่งอยู่กับความเป็นรูปร่างสันฐานมันก็หลุดไป
เหลือแต่สภาวะล้วนๆขึ้น ก็หมายถึงว่าเรากำหนดที่กาย
มันก็ไม่รู้สึกถึงความเป็นรูปร่างของกาย
แขนขา หน้าตา มือเท้า มันไม่มี เพราะมันเป็นสมมุติ
จิตที่มันจำ มันปรุง มันแต่ง มันประดิษธ์ขึ้นมา
มันจะมีความเป็นรูปร่างสันฐาน เป็นมโนภาพอยู่ในใจ
แต่พอมันไม่ปรุง ไม่แต่ง ไม่จำ ไม่ประดิษฐ์
ความเป็นรูปร่างสันฐานเหล่านี้ก็หายไป
หายไปก็ดีแล้ว ต้องเข้าใจว่ามันเป็นสมมุติ
ก็ระลึกรู้อยู่กับความรู้สึก ยังมีความรู้สึกเป็นความไหวๆอยู่
ความกระเพื่อมอยู่ ความสะเทือนอยู่
หรือเวทนายังปรากฏ แต่ไม่มีรูปร่าง
นั่นละ มันเป็นสภาวะล้วนๆขึ้น

หรือแม้แต่ว่า ถ้าความรู้สึกทางกายมันละเอียดจนไม่รู้สึก
แต่ก็มีความรู้สึกทางใจ ใจมันก็ยังมีความรู้สึกอยู่
มีความสงบอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ มีความผ่องใสอยู่
มีความสบายอยู่ หรือถ้ามันเฉย มันก็มีสภาพผู้รู้อยู่
งั้นบางคนพอรูปร่างไม่มี อะไรรู้สึกทางกายก็ไม่ปรากฏ
ดูใจ ใจก็ไม่รู้สึกว่ามันมีความรู้สึกประการใด
จะว่าสบายก็ไม่มี มันเฉย
ดูความเฉยแล้วก็เลยไปสู่ความว่างเปล่า
ก็เลยกลายเป็นไปอยู่กับความว่างๆ ก็ไปเป็นสมถะอีก
ความว่างเปล่า ความไม่มีอะไร ก็เป็นบัญญัติชนิดหนึ่ง
แต่ที่จริงมันมีอยู่ มีใจที่รู้ ใจที่อยู่ ใจที่ดูความว่าง
ใจที่รู้ความว่างเนี่ย เป็นสภาวะ
ใจที่สงบอยู่กับความว่าง ใจที่มองความว่าง ที่รู้ความว่าง
ใจที่เฉยอยู่กับความว่างเนี่ย เป็นสภาวะ
งั้นถ้าสติสังเกตออกต่อ สังเกตสภาพรู้ สภาพรู้ว่าง
รู้ว่า พอสังเกตออกก็จะเห็นสภาพรู้มันก็หมด
มันก็เกิดดับ มันรู้ก็หาย รู้ก็หาย รู้ก็ไม่ได้ตั้งอยู่
มันไม่ใช่รู้ตลอดเวลา มันมีการขาดตอน
ขาดทำให้เห็นว่าสภาพรู้ หรือผู้รู้เนี่ย ก็ไม่เที่ยง
เปลี่ยนแปลงแล้วก็บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
เนี่ยเพราะงั้นต้องระลึก ฉะนั้นพอจิตเข้ามาสู่สภาวะล้วนๆ
แล้วก็มีสมาธิบวกเข้ามาด้วยเนี่ย
ความรู้สึกทางกายมันจะน้อยลง หรือไม่รู้สึก
มันก็จะรวมๆกันมาอยู่ทางใจ
นี้ถ้าคนกำหนดใจไม่เป็นเนี่ย มันก็จบ
ก็จะอยู่แค่สมถะ ไปอยู่แค่นิ่งว่าง
ต้องดูใจให้เป็น อ่านใจให้ออก
ใจยังรู้อยู่ ยังรู้สึกอยู่ ยังมีสัญญา สังขาร
ในด้านจิตใจมันจะมีเวทนาอยู่ มีสัญญาอยู่
มีสังขาร มีวิญญาณประกอบกันอยู่
เวทนามันก็จะมีสุข มีอุเบกขา
ถ้าสุขก็มองง่ายหน่อย เออมันสบาย
แต่ถ้ามันอุเบกขา มันก็จะเฉยๆ
แต่มันก็มีสัญญาอยู่ในนั้น มีจำได้หมายรู้
มีสังขารอยู่ คือมันจะมีการปรุงอยู่ในใจ มีวิตกวิจาร
มันจะมีตรึกนึกอยู่เบาๆอยู่ก็ตาม ละเอียดๆ
วิตก วิจัย บางทีมันก็วิจัยในธรรม
มันจะพิจารณาธรรมะอยู่
พิจารณาธรรมะ เห็นสภาวะ พิจารณาธรรม
ไอ้ตัวที่มันกำลังพิจารณาธรรม มันก็เป็นสภาวะ
มันเป็นปัญญาที่กำลังปรากฏ ที่กำลังทำงานอยู่
สติก็จะระลึกรู้ เพราะฉะนั้นองค์ธรรมของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จึงมีธรรมฝ่ายดีอยู่ด้วย ธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติเนี่ย
การเจริญสติปัฏฐาน ในข้อธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จึงมีธรรมที่ใช้กำหนดรู้ในฝ่ายดีอยู่ด้วย
นั่นก็คือโพชฌงค์

โพชฌงค์นี่ก็เป็นองค์ เป็นองค์ของความตรัสรู้ก็จริง
แต่ก็เป็นที่ตั้งของสติด้วย สติก็จะต้องระลึกพิจารณาเมื่อ
เมื่อองค์แห่งความตรัสรู้กำลังปรากฏประกอบอยู่
มีสติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้อยู่ ระลึกได้อยู่เนี่ย
ก็จะต้องถูกรู้บ้าง สติที่กำลังระลึกก็จะต้องถูกรู้ สติก็ไประลึกรู้สติได้
โดยเฉพาะสติที่ประกอบกับจิต ก็ทำงานเหมือนเป็นผู้รู้ผู้ดู ก็จะต้องถูกรู้ด้วย
พบได้ว่ามันมีสภาพระลึกรู้ รับรู้หมดไปดับไปอยู่
ตัวธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ การสอดส่องพิจารณาในธรรม
ปฏิบัติไปมันจะมีการพิจารณาในธรรมอยู่ในนั้น
วิจัยธรรม พิจารณาธรรม เห็นสภาวะก็จะพิจารณา
ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง
ตัวพิจารณาในธรรมเนี่ย ก็จะต้องถูกรู้
สติสัมปชัญญะก็กำหนดพิจารณา เกิดความเพียรอยู่ในนั้น
วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียร ปิติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มเอิบใจ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบ มีความสงบกายสงบใจ
แล้วก็ต้องกำหนดรู้หมด
ตัวสมาธิสัมโพชฌงค์ ความตั้งมั่นของจิต
เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์ จิตใจสม่ำเสมอเป็นกลาง ในสภาวะธรรมที่กำลังทำงานกันอยู่
มันมีความสม่ำเสมอเป็นกลาง สติสัมปชัญญะก็รู้ รู้สภาพของจิตใจที่เป็นกลางสม่ำเสมอนั้น
เนี่ยจะเห็นว่าต้องพิจารณา ซึ่งมันเป็นสภาพธรรมที่แยบคายที่ละเอียด
ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องใส่ใจสังเกต ความละเอียดใน ในนามธรรมเหล่านี้
ซึ่งเท่ากับว่าพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือนามธรรม
ตัวสติก็เป็นนามธรรม ตัวพิจารณาในธรรมก็เป็นนามธรรม
เป็นตัวสังขาร สติก็เป็นตัวสังขารขันธ์
ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือปัญญาก็เป็นตัวสังขารขันธ์
วิริยะความเพียรก็เป็นสังขารขันธ์
ปิติความอิ่มเอิบใจ ก็เป็นเวทนา
เป็นโสมนัสเวทนา เป็นปิติ เป็นสังขาร
สุขหรือความสงบ มีความสงบกายสงบใจ
มีความเป็นกลางสม่ำเสมอ
องค์ธรรมเขาเรียกว่า ตัตรมัชฌัตตตา ธรรมชาติที่ทำให้
สัมปปยุตตธรรม มีความสม่ำเสมอเป็นกลาง
นี้ก็เป็นนามธรรมทั้งหมด ที่จะต้องใส่ใจพิจารณา
ฉะนั้น ตัวโพชฌงค์ ที่กำลังทำงานพิจารณา
ทำงานที่จะประกอบกัน ก็ยังต้องถูกรู้
เรียกว่ารู้เขาก็ต้องรู้เรา
คือรู้สิ่งที่ถูกรู้และรู้สิ่งที่เป็นฝ่ายผู้รู้ด้วยกัน
ก็จะทำให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นความเป็นจริง
ว่าสิ่งที่ทำหน้าที่รู้ ที่ระลึกรู้ ที่รู้ ที่สงบเนี่ย ก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา
มันเป็นสักแต่ว่าธาตุธรรมชาติ สติก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดดับ
ปัญญาที่เกิดขึ้นมาก็เป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงเกิดดับ
ปิติก็ดี สมาธิก็ดี ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเกิดดับทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน
ฉะนั้น เมื่อปฏิบัติไปแล้วก็ จึงมีญานหยั่งเห็นสัจธรรมความเป็นจริง
ถึงความไม่เที่ยง ถึงความเป็นทุกข์ ถึงความไม่ใช่ตัวตน
นี่ก็เป็นทางแห่งความหลุดพ้น

ตามที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ขอความสุขความเจริญในธรรม จงมีแก่ทุกท่านเทอญ”


[1] ตรงนี้(ถ้าดูในคลิป) จะเห็นหลวงพ่อเหมือนพูดติดสลับนิดหน่อย ข้าพเจ้าผู้ถอดเทปจึงนำมาจัดเรียงอีกที
ในคลิปหลวงพ่อพูดว่า “ทุติยฌาน ก็ละปิติ เหลือ..อ่า ละวิตกเหลือวิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา”
ข้าพเจ้าจึงนำมาเรียงอีกทีเป็น “ทุติยฌาน ละวิตก เหลือวิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา”
ถ้าผิดพลาดประการใด ขอโทษด้วยนะคะ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าผู้จัดทำบล็อกเป็นคนถอดเทปเอง ซึ่งได้พยามตรวจทานไปหลายรอบแล้ว แต่อย่างไรก็อาจยังมีที่ผิดพลาดได้อยู่ อันเนื่องจากการฟังและความรู้ที่มีน้อยของข้าพเจ้าเอง ถ้ายังไงอยากขอให้ผู้สนใจ เข้าไปฟังจากคลิปพระอาจารย์โดยตรงอีกทีนะคะ

http://www.youtube.com/watch?v=_vaii_WJ3l4

หากมีตรงไหนผิดพลาด หรือมีอะไรฉุกเฉินแจ้งข้าพเจ้าโดยตรงได้ที่นี่นะคะ https://dhammaway.wordpress.com/about/