สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน – พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี

หลังจากอ่านพระธรรมเทศนาเรื่องนี้จบแล้ว
ให้เข้าไปอ่านพระธรรมเทศนาเรื่อง “กรรมฐาน 3 แนว” ด้วยนะคะ
จะได้ความรู้ที่ครบถ้วนยิ่งกว่านี้อีกคะ ไม่น่าพลาด (-/\-)
นะมัตถุ รัตตนะตะยัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้ก็จะได้ปรารภธรรมะตามหลักคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อส่งเสริมสติปัญญาที่จะได้น้อมนำมาสู่การประพฤติปฏิบัติ ก็จะต้องมีทั้งการฟัง (ปริยัติ) การลงมือ กระทำ(ปฏิบัติ) จึงจะมีผล (ปฏิเวธ) เรียกว่า ต้องมีทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ จึงจะมี ปฏิเวธ ปฏิเวธนั้นเป็นผลของการเจริญวิปัสสนาซึ่งก็คือ มรรค ผล นิพพาน
มรรค ผล นิพพาน นี้จะเกิดขึ้นมาได้ต้องผ่านการปฏิบัติ ถ้าขาดการลงมือกระทำแล้วล่ะก็ ผลเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก่อนจะลงมือปฏิบัตินั้นก็จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ต้องอาศัยทฤษฏีหรืออาศัยปริยัติด้วย ถ้าขาดปริยัติ…ปฏิบัติก็ไขว้เขว ผลก็เข้าถึงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยปริยัติได้แก่การศึกษา การทำความเข้าใจจากการฟังหรือการอ่าน ที่กำลังฟังอยู่นี้ก็ตั้งใจฟังให้ดี ฟังให้เข้าใจ
วันนี้ก็จะได้อธิบายให้เข้าใจถึงการเจริญกรรมฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนลงมือประพฤติปฏิบัติ ในเบื้องต้นเราต้องทราบกันก่อนว่าการทำ กรรมฐาน มีด้วยกัน ๓ รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ ๑ เรียกว่า “สมถบุพพังคมวิปัสสนา” คือ การเจริญวิปัสสนา โดยมีสมถะนำหน้า (เจริญสมถะก่อน)
รูปแบบที่ ๒ เรียกว่า “วิปัสสนาบุพพังคมสมถะ” คือ การเจริญวิปัสสนานำหน้า โดยมีสมถะตามมาทีหลัง( เจริญวิปัสสนาก่อน)
รูปแบบที่ ๓ เรียกว่า “ยุคนันทสมถวิปัสสนา” คือ การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
สมถะ คือ การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ
วิปัสสนา คือ การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดการเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม มีปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันทำให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้
ผู้ปฏิบัติที่มีจริตเหมาะสมกับรูปแบบไหนก็ดำเนินการปฏิบัติไปในรูปแบบนั้น ถ้าถนัดที่จะทำในรูปแบบที่ ๑ คือ เจริญสมถะก่อนแล้วค่อยต่อวิปัสสนาทีหลังก็ได้ ส่วนรูปแบบที่ ๒ เจริญวิปัสสนาไปเลยแล้วมีสมาธิตามมาทีหลังนี่ก็ได้ หรือรูปแบบที่ ๓ เจริญควบคู่กันทั้งสมถะและวิปัสสนานี่ก็ได้
ฉะนั้น จึงไม่ใช่ว่าทุกคนต้องทำเหมือนกัน เราจึงไม่ต้องไปมองบุคคลอื่นว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจก็จะมีใจกว้างขึ้น เพราะการเจริญกรรมฐานดำเนินได้ถึง ๓ รูปแบบด้วยกัน
รูปแบบที่ ๑ สมถบุพพังคมวิปัสสนา
บุคคลที่มีอัธยาศัยเหมาะที่จะเจริญสมถะก่อนก็ทำสมถะก่อน โดยเพ่งบัญญัติเป็นอารมณ์ ให้เข้าถึงฌานจิต นั่นหมายถึงว่าจิตดำเนินเข้าถึงอัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน หรือ อรูปฌาน ๔ ได้ฌานสมาธิแนบแน่นในอารมณ์
สมาธิมีด้วยกัน ๓ ระดับ คือ
๑. ขณิกสมาธิ สมาธิที่มีความตั้งมั่นหรือความสงบเพียงเล็กน้อย เป็นขณะๆ
๒. อุปจารสมาธิ สมาธิที่มีความตั้งมั่นลงไปมาก สงบลงไปมาก เรียกว่า เฉียดๆฌาน โดยสภาวะของผู้ปฏิบัติจะรู้สึกมีความสงบระงับลงไปมาก แต่ก็ยังรับรู้อยู่ ยังได้ยินเสียงอยู่แต่ไม่หวั่นไหว ไม่รำคาญในเสียง
๓ . อัปปนาสมาธิ สมาธิที่จิตมีความแนบแน่นในอารมณ์เดียว ในความรู้สึกของผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่ามันดับ มันเงียบไปเลยคือไม่มีการรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจก็ไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์อื่น คือ ใจจะแนบนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวที่เป็นนิมิต ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ เรียกว่า ได้ฌาน
ผู้ที่ได้ฌานเขาก็จะฝึกเข้าออกฌาน – ออกฌานให้คล่องแคล่วชำนิชำนาญ เข้าไปอยู่ในอารมณ์ของฌาน เรียกว่า “เข้าฌานสมาบัติ” เป็นการสงบระงับดับความรู้สึกทั้งหลายตามแรงอธิษฐาน ตามความชำนาญของแต่ละบุคคล บางคนก็อธิษฐานเข้าฌานอยู่ได้นานๆ เป็นชั่วโมงหรือได้หลายๆวัน พวกที่ได้ฌานสมาบัตินี่ จิตใจยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแต่อย่างใดเพราะยังมีกิเลสอยู่ แต่กิเลสส่วนที่หยาบจะถูกข่มระงับไว้ด้วยสมาธิดังนั้นพวกที่ได้ฌานนี่เขาจะไม่มีนิวรณ์[๑] เข้ามารบกวน
————————-
[๑] นิวรณ์ ๕ ได้แก่ ความกำหนัดยินดีในกามคุณอารมรณ์, ความพยาบาทปองร้าย, ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ, ความหดหู่ เซื่องซึม ท้อถอย, ความสงสัยลังเลใจ
นิวรณ์ต่างๆ จะถูกสมาธิข่มไว้ได้หมด เรียกว่า “วิขัมภนปหาน” คือการละกิเลสด้วยการข่มไว้ด้วยฌาน เปรียบเสมือนกับหินทับหญ้า สมาธิเปรียบเหมือนหิน กิเลสเปรียบเหมือนหญ้า หญ้าไม่สามารถเจริญงอกงามได้เพราะถูกหินทับไว้ แต่ถ้าเอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้าแพรกนั้นก็จะเจริญงอกงามได้อีก …ไม่ตาย
กิเลสต่างๆ ที่ถูกสมาธิของพวกที่ได้ฌานข่มไว้นั้น ทำให้คนนั้นๆ ดูเหมือนว่าตนไม่มีกิเลส ก็ด้วยจิตที่มีสมาธิ บุคคลที่ได้ฌานเช่นนี้สามารถต่อวิปัสสนาได้โดยการยกฌานจิต คือ องค์ฌานที่ประกอบกับฌานจิต ยกขึ้นมากำหนดพิจารณาได้ เพราะว่าฌานจิตและองค์ฌานที่ประกอบอยู่นั้นเป็นปรมัตถธรรม เมื่อกำหนดเข้ามาที่องค์ฌานก็เท่ากับกำหนดปรมัตถ์
องค์ฌานที่ประกอบกับฌานจิต มีต่างๆกันตามระดับของฌานดังต่อไปนี้
๑. ปฐมฌาน องค์ฌานมี ๕ = วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌาน องค์ฌานมี ๔ = วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌาน องค์ฌานมี ๓ = ปิติ สุข เอกัคคตา
๔. จตุตถฌาน องค์ฌานมี ๒ = สุข และ เอกัคคตา
๕. ปัญจมฌาน องค์ฌานมี ๒ = อุเบกขา และ เอกัคคตา
ผู้ที่ได้ในฌานระดับไหนก็เอาองค์ฌานเหล่านั้นแหละมากำหนดพิจารณา แต่ขณะที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้นกำหนดพิจารณาไม่ได้เพราะจิตแนบแน่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่เวลาที่สมาธิคลายตัวลง เริ่มมีความรู้สึก เริ่มรับรู้ได้ ผู้ปฏิบัตินั้นก็ปล่อยนิมิตบัญญัติมากำหนดปรมัตถ์คือองค์ฌานที่เกิดขึ้นกับจิตนั้น เช่น น้อมมากำหนดจิตที่มีความอิ่มเอิบ ที่มีปีติ พิจารณาจิตที่มีกำลังมีความสุขความเย็นใจ ความโปร่งใจ พิจารณาจิตที่มีสมาธิตั้งมั่นเป็นอย่างไร
เมื่อกำหนดองค์ฌานที่ประกอบกับจิต รวมทั้งกำหนดจิตที่เป็นทั้งผู้รู้-ผู้ดู จิตที่มีสติเป็นผู้รู้-ผู้ดูก็จะเห็นความเกิดดับขององค์ฌานที่ประกอบนั้น ทำให้มีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เห็นเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เป็นทางแห่งความหลุดพ้น อย่างนี้เรียกว่า การเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า คือ เจริญสมถะให้ได้ฌานในระดับต่างๆ ก่อน แล้วจึงมาต่อวิปัสสนาทีหลัง
การต่อวิปัสสนาก็อย่างที่กล่าวมาแล้วคือ การปล่อยจากนิมิต (อารมณ์บัญญัติ) น้อมกำหนดรู้มาที่จิตใจ ใจที่มีสมาธิ ใจที่มีปีติใจที่มีความสุข ใจที่เป็นผู้รู้-ผู้ดู ถ้ากำหนดมาตรงต่อสภาวะก็จะเห็นความจริง เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิด-ดับ เห็นความบังคัญบัญชาไม่ได้ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
แต่ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดไม่ถูก จิตอยู่กับนิมิตบัญญัติเหล่านั้นก็จะไม่ได้ขั้นวิปัสสนาเลย ได้แต่สมถะ ได้ฌาน เข้าฌานได้แต่ขึ้นวิปัสสนาไม่ถูก บุคคลนั้นอาจมี อภิญญา ได้ เนื่องจากได้ฌานในระดับสูง เช่น การระลึกชาติได้ การรู้วาระจิตของผู้อื่น มีตาทิพย์ หูทิพย์ มีฤทธิ์ต่างๆ ซึ่งเป็นอภิญญาที่เกิดจากการเจริญสมถะ แต่ว่ายังละกิเลสในระดับ “สมุจเฉทปหาน”[๒] ไม่ได้
————————-
[๒] สมุจเฉทปหาน = การละกิเลสได้โดยเด็ดขาดด้วยอริยมรรค
ถ้าไม่ได้กำหนดเข้าสู่ปรมัตถ์ก็เท่ากับไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา ซึ่งถ้าบุคลที่ได้ฌานเหล่านี้สิ้นชีวิตก็ไปสู่พรหมโลกไปเกิดเป็นพรหม มีอายุยืนยาว พอหมดอายุขัยก็เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาซึ่งก็ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อหลงทำความชั่วก็ลงนรกได้อีก ฉะนั้น ทำเพียงแค่สมถะนั้นไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้ ได้แต่เสวยความสุขสงบในสมาธิ ดังตัวอย่างเช่น พระเทวทัต
พระเทวทัต เมื่อบวชเข้ามาใหม่ๆ ท่านก็ได้ฌานมีอภิญญาด้วย สามารถแสดงฤทธิ์ แปลงกายเป็นมาณพมีงูพันกายไปปรากฏในที่บรรทมของเจ้าชายอชาตศัตรู เจ้าชายจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในฤทธิ์ของพระเทวทัต แล้วพระเทวทัตก็ยุยงให้เจ้าชายอชาตศัตรูปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา ส่วนตัวพระเทวทัตเองก็จะปลงพระชนม์ชีพพระพุทธเจ้าด้วยหวังความเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า แต่กระทำไม่สำเร็จ ต่อมาฌานต่างๆ ของพระเทวทัตก็เสื่อม เสื่อมเนื่องจากความไม่บริสุทธิ์ของศีล เราจะเห็นได้จากเรื่องราวของพระเทวทัตว่า การมีสมาธิในระดับสูงแม้จะได้อภิญญามีฤทธิ์ต่าง ๆ ก็ตาม แต่ถ้าหากทำกรรมชั่วแล้วละก็ฌานที่ได้ก็เสื่อมหมด
ครั้งหนึ่งพระเทวทัตได้เคยพยายามกลิ้งหินลงมาจากเขาเพื่อหวังจะปลงพระชนม์ชีพพระพุทธเจ้า แต่ด้วยพระบารมีของพระองค์ที่เคยสั่งสมมาในอดีต สะเก็ดหินจึงเพียงแค่กระเด็นถูกข้อพระบาททำให้พระองค์ห้อพระโลหิตเท่านั้น นับว่าพระเทวทัตได้ทำกรรมหนักคือโลหิตตุปบาท เป็น อนันตริยกรรม[๓] ซึ่งส่งผลให้พระเทวทัตต้องตกลงสู่อเวจีมหานรก (ไม่มีใครทำให้พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ได้ อย่างมากก็แค่ห้อพระโลหิต)
————————-
[๓] อนันตริยกรรม คือ กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลรุนแรงต่อเนื่องไปโดยไม่มีกรรมอื่นจะมากั้นหรือคั่นได้ ไม่ว่าจะทำกรรมดีทดแทนมากเพียงใด เมื่อตายลงก็จะส่งผลให้ต้องไปเสวยวิบากในนรกเท่านั้น ได้แก่
มาตุฆาต = ฆ่ามารดา
ปิตุฆาต = ฆ่าบิดา
อรหันตฆาต = ฆ่าพระอรหันต์
โลหิตุปบาท = ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงกับห้อพระโลหิต
สังฆเภท = ทำสงฆ์ให้แตกกัน
นอกจากนั้น พระเทวทัตยังได้ทำอนันตริยกรรมอีกข้อหนึ่งที่เป็นกรรมหนักกว่าโลหิตตุปบาทคือ การทำสังฆเภท พระเทวทัตได้ยุยงค์ให้สงฆ์แตกจากกัน ไม่ลงอุโบสถทำสังฆกรรมร่วมกัน กรรมหนักทั้ง ๒ ข้อ ที่ได้กระทำลงไปเป็นเหตุให้พระเทวทัตถูกธรณีสูบตาย แล้วไปเสวยกรรมต่อในอเวจีมหานรกจนถึงปัจจุบันนี้ นี่ก็เพราะเจริญเพียงสมถะแต่ไม่ต่อวิปัสสนา
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการทำสมถะ ก็เพื่อเป็นบาทฐานให้แก่การทำวิปัสสนา จะทำสมถะ (กรรมฐาน ๔๐)[๔] ด้วยการใช้อารมณ์อันใดก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วต้องมาต่อวิปัสสนา[๕] ถ้าไม่ต่อวิปัสสนาก็พ้นทุกข์ไม่ได้
————————-
[๔] กรรมฐาน ๔๐ = ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ ได้แก่ กสิน ๑๐, อสุภะ ๑๐, อนุสสติ ๑๐, อัปปมัญญา ๔, อรูป ๔, อาหาเรปฏิกูลสัญญา และ จตุธาตุววัฏฐาน
[๕] วิปัสสนา = การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น ว่าเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พระพุทธศาสนานี้มีความพิเศษอยู่ที่วิปัสสนา เพราะเรื่องของสมถะนั้น ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ฤาษีดาบสต่างๆเขาก็ทำกันอยู่แล้ว ทั้งการเหาะเหินเดินอากาศ การระลึกชาติได้การแสดงฤทธิ์ต่างๆได้ เขาทำกันได้อยู่ก่อนนานแล้ว ดังตัวอย่างของพระเทวทัตที่หลงทำกรรมชั่วจึงต้องตกนรก นี่ก็เพราะไม่ได้ทำวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตามเป็นจริง
ถ้าได้เจริญวิปัสสนาต่อจนเป็นพระอริยบุคคลแล้วก็จะไม่หลงทำกรรมชั่วอีก พระอริยบุคคลทุกระดับท่านจะไม่หลงกลับไปทำกรรมชั่ว ทำให้ท่านไม่ตกต่ำอีก สามารถปิดอบายภูมิได้ เพียงแค่พระโสดาบัน (อริยบุคคล[๖] ชั้นที่๑) ท่านเป็นผู้ที่มีศีลอันบริสุทธิ์จะไม่หลงทำกรรมชั่วใดๆอีก ยิ่งระดับพระอรหันต์[๗] ท่านเป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์หมดจดจากอาสวะกิเลสทั้งหลายแล้วไม่ต้องเวียนเกิดอีก
ดังนั้น การปฏิบัติกรรมฐานไม่ว่าจะทำในรูปแบบใด สุดท้ายก็ต้องมาต่อวิปัสสนาให้ได้ ใครที่มีความถนัดสมถะก็ทำก่อน ให้มันได้สมาธิให้ได้จริงๆ แล้วยกจิตที่มีสมาธิให้เข้าสู่ไตรลักษณ์ให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ส่วนการเจริญสมถะนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ มีอารมณ์ให้เพ่งมากมาย มีถึง ๔๐ อย่าง เช่น การเพ่งลมหายใจเข้า – ออก, การเพ่งซากศพ, การเจริญพรหมวิหาร ๔ เหล่านี้ก็ทำให้ได้ฌาน เพื่อทำสมถะ ได้ฌานแล้วก็มาต่อวิปัสสนาอีกทีหนึ่ง
————————-
[๖] อริยบุคคล มี ๔ ประเภท คือ
พระโสดาบัน = ท่านผู้เวียนเกิในสุคติภพอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ครั้ง ก็จะบรรลุอรหันต์
พระสกิทาคามี = ท่านผู้กลับมาอีกเพียงครั้งเดียว
พระอนาคามี = ท่านผู้ไม่กลับมาเกิดอีกในโลก นิพพานอยู่บนสวรรค์ชั้นสุทธาวาส
พระอรหันต์ = ท่านผู้ไม่เกิดอีกในภพใดๆ

[๗] พระอรหันต์ มี ๒ ประเภท คือ
สุกขวิปัสสก = ผู้สำเร็จอรหัตด้วยการเจริญวิปัสสนาล้วนๆ
สมถยานิก = ผู้เจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จอรหัต

รูปแบบที่ ๒ วิปัสสนาบุพพังคมสมถะ
บางคนสามารถปฏิบัติวิปัสสนาไปได้เลยตั้งแต่ต้น ไม่ต้องไปทำสมาธิก่อน ถ้าใช้สมาธิก็เพียงเล็กน้อยแค่ขณิกสมาธิ ผู้ปฏิบัติสามารถทำวิปัสสนาได้เลยโดยเจริญสติกำหนดรู้สภาวะปรมัตถธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางกาย-ทางใจ ตลอดทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น
ทางกาย ก็โดยการกำหนดรู้ความรู้สึกที่กาย ได้แก่ ความเย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง หย่อน-ตึง สบาย-ไม่สบาย ที่กาย
ทางใจ ก็โดยการกกำหนดรู้ดูความนึกคิด ดูความรู้สึกของจิตใจ รู้สึกเป็นอย่างไรก็รู้ มีราคะ-ไม่มีราคะ มีโทสะ-ไม่มีโทสะ สงบ-ไม่สงบ ขุ่นมัว-ผ่องใส สบายใจ-ไม่สบายใจ ได้ยินก็รู้สภาพได้ยิน เห็นก็รู้สภาพเห็น รู้กลิ่น-รู้รสต่างๆ ก็มีสติระลึกรู้เป็นไปในสภาวปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏโดยไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อันใดปรากฏ จะเป็นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่ปรากฏขึ้นมาในปัจจุบัน สติก็ระลึกรู้หมด รู้ตรงๆ รู้ปรมัตถ์ไปต่างๆ ผู้ที่จะเจริญสติหรือทำในรูปแบบที่ ๒ นี้ได้ ต้องมีปัญญามีความเข้าใจปริยัติ ไม่เช่นนั้นจะกำหนดไม่ถูก จะดูปรมัตถ์ไม่ถูก
การศึกษาปริยัติก็อาจจะศึกษาเพียงย่อๆ ศึกษาพอให้รู้ว่าอะไรเป็นบัญญัติ อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นรูป-เป็นนาม แล้วก็ลงมือปฏิบัติ บางคนอาจจะศึกษาอย่างละเอียดลงลึกในภาคทฤษฏี แต่สุดท้ายก็ต้องสรุปย่อความเพื่อนำมาปฏิบัติ บางคนเรียนมากก็เตลิดไปเลย จับมาปฏิบัติไม่ถูก บางคนก็เรียนพอให้รู้ในการนำมาปฏิบัติ ก็สามารถปฏิบัติไปได้ คือเรียนเฉพาะที่นำมาใช้ได้เท่านั้น ก็สำเร็จประโยชน์ได้
การเรียนก็ได้แก่ การฟัง การอ่าน การสนทนา การสอบถามก็สามารถจะนำสิ่งที่รู้เหล่านี้มาปฏิบัติได้เลย บางคนเรียนโดยละเอียดรู้ปริยัติกว้างขวางก็เป็นผู้ที่รอบรู้มากขึ้น มีโอกาสที่จะตัดสินอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ว่าภาคปฏิบัตินั้นอาจจะปฏิบัติไม่เป็นก็ได้ มีความรู้ในด้านปริยัติมากมาย แต่ว่าท่านปฏิบัติไม่เป็นตัวอย่าง เช่น พระโปฐิละ
ท่านพระโปฐิละมีความรู้แตกฉานมากมายในพระไตรปิฏกมีลูกศิษย์ลูกหามาก แต่ว่าท่านก็ยังคงเป็นปุถุชนอยู่ สอนลูกศิษย์ให้เป็นถึงอรหันต์ก็เยอะ ทั้งภิกษุทั้งสามเณรเป็นอริยบุคคลมากมายแต่ตัวท่านยังไม่สำเร็จอะไรเลยเพราะว่ามัวแต่ศึกษาและสอน ไม่ได้ลงมือปฏิบัติเอง
วันหนึ่งท่านโปฐิละไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ท่านโปฐิละ คัมภีร์เปล่ามาแล้วรึ?” เวลาจะกลับพระองค์ทรงตรัสว่า “โปฐิละ คัมภีร์เปล่าไปแล้วรึ” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกเช่นนั้น ก็เพื่อที่จะให้ท่านโปฐิละเกิดความสำนึกตัว
พระโปฐิละท่านเก็บคำตรัสเรียกเช่นนั้นมาคิดด้วยความแปลกใจว่า ทั้งๆที่ท่านก็มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก แต่ทำไมพระองค์ทรงตรัสเรียกเช่นนั้น ต่อมาท่านสำนึกได้ว่าท่านยังไม่ได้สำเร็จขั้นใดขั้นหนึ่งเลย ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อละกิเลสส่วนลูกศิษย์สำเร็จกันไปมากแล้ว
ดังนั้น ท่านจึงตั้งใจที่จะเข้าสู่ภาคปฏิบัติ คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่พอจะลงมือปฏิบัติจริงๆ ท่านโปฐิละท่านไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ทั้งๆที่ท่านรอบรู้ในภาคทฤษฏี แต่กลับไม่รู้ว่าจะเริ่มปฏิบัติที่ตรงไหนก่อน เสมือนคนที่เรียนวิชาชีพมา รู้แต่ทฤษฏีแต่ว่าไม่เคยจับเครื่องไม้เครื่องมือ พอถึงเวลาก็ทำไม่ถูกหรอก เพราไม่เคยทำเลย ทุกอย่างอยู่ในตำราหมด ต้องมาฝึกหัดงานให้เป็นก่อนจึงจะทำได้ ท่านโปฐิละนี่ก็เหมือนกัน ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร
ในที่สุดพระโปฐิละตัดสินใจไปถามภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน ลูกศิษย์รูปนั้นท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านทราบวาระจิตของอาจารย์ จึงตอบไปว่า “ท่านมีความรู้มากมาย เหตุใดท่านอาจารย์จึงมาถามกระผมเล่า? นิมนต์ท่านถามรูปอื่นเถิด” ลูกศิษย์ของท่านต่างก็เป็นพระอรหันต์ ปรากฏว่าไม่มีภิกษุรูปใดยอมสอนท่าน
พระโปฐิละไม่ทราบว่าจะทำประการใด ด้วยความที่อยากปฏิบัติมาก วันหนึ่งท่านจึงยอมบากหน้าไปถามสามเณรรูปหนึ่งที่ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามเณรอรหันต์จึงถามว่า “ท่านจะเชื่อผมหรือ ผมเป็นแค่สามเณร” ท่านโปฐิละตอบว่า “บอกมาเถิดท่านเณร เราจะยอมทำตามทุกอย่าง”
นี่คือผู้หวังความเจริญ เขาจะยอมตัวได้ ไม่ว่าผู้ที่สอนจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็ก หรือเป็นใครก็ตาม ผู้ที่หวังความรู้นั้นจะต้องลดตัวลงได้ มิฉะนั้นแล้วจะไปต่อไม่ได้
สามเณรท่านต้องการทดสอบว่าท่านโปฐิละจะทำตามจริงหรือเปล่า จึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอท่านอาจารย์เดินลงไปในสระน้ำนี่” ท่านโปฐิละก็เดินลงสระไปอย่างว่าง่าย พอสามเณรเห็นว่าเชื่อแน่แล้ว จึงบอกว่า “ท่านอาจารย์เชิญขึ้นมาได้”
เมื่อสามเณรทดสอบจนแน่ใจแล้วเช่นนั้น จึงบอกอุบายการปฏิบัติว่า “มีจอมปลวกอยู่จอมปลวกหนึ่ง มันมีช่องอยู่ ๖ ช่อง มีตัวเหี้ยเข้าไปในจอมปลวกนั้น จะจับมันได้อย่างไร?”
ท่านโปฐิละมีความรู้ในด้านปริยัติมาก พอฟังเพียงเท่านี้ก็บอกสามเณรว่า “พอแล้ว แค่นี้พอแล้วเณร” ท่านฟังอุปมาเพียงเท่านี้ก็เข้าใจในวิธีปฏิบัติ แล้วท่านก็นำมาปฏิบัติได้เลย
ประโยคที่สามเณรพูดนั้น หมายความว่า ช่องทั้ง ๖ นั้นเปรียบได้กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางผ่าน จิตเป็นตัวไปรับอารมณ์ซึ่งผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ นี้แหละ ผ่านช่องตาไปรับสี ผ่านช่องหูไปรับเสียง ผ่านช่องจมูกไปรับกลิ่น ผ่านช่องลิ้นไปรับรส ผ่านช่องกายไปรับโผฏฐัพพารมณ์ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง หย่อน-ตึง ผ่านช่องใจไปรับธรรมารมณ์ต่างๆ
กิเลสเปรียบเสมือนตัวเหี้ย เราจะจับมันได้อย่างไร เจ้ากิเลสนี่สามเณรท่านหมายความว่า ให้ปิดช่องอื่นๆเสียก่อน ให้เหลือแต่ใจเพียงช่องเดียว ก็จะง่าย เปรียบเหมือนกับการปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติทางใจ ดำเนินการทางใจโดยมีสติตามรู้ไป ตามพิจารณาไปในที่สุดพระโปฐิละก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
การปฏิบัติในรูปแบบที่ ๒ นี่ต้องเข้าใจเรื่อง รูป-นาม บัญญัติ-ปรมัตถ์ ถ้าไม่เข้าใจแล้วจะปฏิบัติไม่ถูก อาจจะศึกษาเรื่องสภาวะขันธ์ ๕ อายตนะ ธาตุ เรื่องรูป-นาม ให้เข้าใจ ซึ่งเหมือนๆกันเรียกไปได้หลายๆอย่าง แล้วหยิบมาปฏิบัติก็ได้
เมื่อรู้สภาวะปรมัตถ์ที่มาปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อเนื่องกันไป สมาธิก็จะตามมาเอง เมื่อมีสติรู้เท่าทันนี่ จิตใจจะอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น จิตไม่ส่งออกนอกมากขึ้น ปล่อยวางเป็นกลางมากขึ้น จิตก็จะรวมตัวเข้าสู่สมาธิได้ทั้งๆที่ไม่ต้องเพ่งบัญญัติ ก็มีสมาธิตามขึ้นมาได้เอง
ผู้ที่มีสมาธิตามมาภายหลังโดยการเจริญวิปัสสนานำหน้านั้นเขาก็จะกำหนดสภาวะที่อยู่ในความสงบนั้นได้ กำหนดจิต กำหนดผู้รู้ กำหนดสภาวธรรมต่างๆได้ ก็จะสามารถทำความรู้แจ้งให้เกิดขึ้นและถึงซึ่งวิมุตติได้เช่นกัน
รูปแบบที่ ๓ ยุคนันทสมถะวิปัสสนา
การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เหมาะสำหรับบุคคลที่ทำในรูปแบบที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ คือ จะเจริญสมถะโดยการเพ่งก็ไม่ไหว จะเจริญสติรับรู้ปรมัตถ์ไปโดยตรงก็ยังไม่เข้าใจ ยังกำหนดไม่ถูกหรือตั้งสติไม่อยู่ ก็ต้องอาศัยสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป อัธยาศัยบางคนก็ต้องอาศัยสมาธิบ้างจึงจะระลึกสภาวะได้ ไม่มีสมาธิบ้างเลยก็กำหนดไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการเพ่งบัญญัติบ้าง ระลึกปรมัตถ์บ้าง สลับกันไป
เช่น บางขณะก็ระลึกรู้ลมหายใจเข้า-ออก ยาว-สั้น บางขณะก็ระลึกรู้ความไหว-ความตึง ความสบาย-ไม่สบาย รู้ลมหายใจเข้า-ออกบ้าง รู้ความรู้สึกบ้าง คือรู้บัญญัติบ้าง รู้ปรมัตถ์บ้าง เวลาเดินก็รู้การยก ย่าง เหยียบ ที่เป็นบัญญัติบ้างรู้ความรู้สึกแข็ง-อ่อน เย็น-ร้อน ที่เป็นปรมัตถ์บ้าง แล้วแต่ว่าจะใช้บัญญัติมากน้อยแค่ไหน นี่คือรูปแบบที่ ๓
แม้แต่ การแผ่เมตตา ก็เจริญควบคู่กันได้ ในขณะที่จิตแผ่เมตตานึกถึงสัตว์ทั้งหลาย “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข” แผ่ไปๆขณะที่แผ่เมตตานั้นเป็นสมถะ ทำให้จิตสงบได้ แต่ในขณะที่แผ่จิตก็กลับมารู้สภาวะในจิต พบว่าจิตมีความอิ่มเอิบ มีปีติ มีความปรารถนาดี นี่คือรุ้สภาวะปรมัตถ์ เดี๋ยวก็แผ่เมตตาไปเดี่ยวก็มารู้สภาวะปรมัตถ์ รู้สลับไปมาอย่างนี้ก็ได้
หรือแม้แต่ การเจริญมรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายก็นำมาใช้เจริญในรูปแบบที่ ๓ นี้ได้เหมือนกับการแผ่เมตตา คือขณะที่จิตนึกถึงความตาย จิตเกิดความสลดสังเวช ความสงบก็เกิดขึ้นได้ แล้วก็ระลึกรู้สภาวะปรมัตถ์สลับไปมาก็ได้เช่นกัน
ส่วนที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด คือ ลมหายใจเข้า – ออก ก็สามารถนำมาระลึกรู้ได้ เรียกว่า การเจริญอานาปานสติ โดยการรู้ลมเข้า-ลมออก รู้ความรู้สึก รู้ความไหว รู้ใจที่รู้สึก สลับควบคู่กัน เช่นว่า หายใจเข้าก็รู้ว่าเข้า หายใจออกก็รู้ว่าออก แล้วขณะหนึ่งก็มารู้ที่ใจผู้รู้ การรู้ลมเข้า-ออก เป็นการรู้บัญญัติ การมารู้ใจผู้รู้เป็นการมารู้ปรมัตถ์ ซึ่งก็เป็นการเจริญในรูปแบบที่ ๓ พอฝึกๆไปมันก็แยกกันไปเอง บางคนก็แยกไปเป็นสมถะ บางคนก็แยกไปเป็นวิปัสสนา
การเจริญสมถะควบคู่ไปกับวิปัสสนานี้ บางทีจิตรวมตัวนิ่งดิ่งลงไปเป็นอัปปนาสมาธิ จิตรวมตัวนิ่ง…เงียบ ได้สมถะแบบฟลุ๊คๆ ได้ฌานเองโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่าพวกนี้จะไม่ชำนาญ พออยากจะเข้าใหม่ก็เข้าไม่ได้เพราะมีความอยาก ติดใจอยากได้ความสงบสบายแบบนั้นอีก จิตนี่ถ้าอยากได้จะไม่ได้ ถ้าอยากจะสงบมันจะไม่สงบ พอปล่อยวางว่า เอ้อ ! ไม่ได้ก็ไม่ได้ บางทีก็ได้สมาธิเองโดยไม่ตั้งใจ บางทีก็ได้อุปจารสมาธิเฉียดๆ ฌาน คือยังรับรู้ได้ บางทีได้อัปปนาฯเงียบไปเลยก็มี
บางคนเจริญสมถะควบคู่กับวิปัสสนา แต่พอทำไปๆ ก็ไปเจริญวิปัสสนาล้วนๆ ปล่อยบัญญัติออกไปหมด สติรวมรู้กับสภาวปรมัตถ์ล้วนๆ นั่งสมาธิไปเรื่อยๆ แล้วไม่มีกาย ไม่มีแขนขา หน้าตา ไม่มีรูปทรงสัณฐาน มีแต่ความไหว มีแต่ใจที่รับรู้ มีแต่ปรมัตถ์ล้วนๆ มันก็ไปวิปัสสนาเต็มที่ ก็จะเห็นว่ามีรูปแบบต่างๆซึ่งมีหนทางที่จะไปสู่วิปัสสนาได้ทั้งนั้น ขอให้มีความเพียรฝึกๆกันไป รูปแบบภายนอกมันเป็นเพียงส่วนประกอบ ความสำคัญอยู่ที่ภายในคือการระลึกรู้อยู่กับรูปนามในปัจจุบันขณะให้ถูกต้อง
บางคนอาจจะเดินช้า บางคนอาจจะเดินไว ก็แล้วแต่ความถนัดหรือจริตของแต่ละคน จะเดินมาก-เดินน้อย (เดินจงกลม) หรือนั่งมาก-นั่งน้อย (นั่งสมาธิ) ก็ดูสัปปายะของตนเอง ไม่มีรูปแบบใดที่ตายตัว เราต้องพิจารณาสังเกต ต้องฝึกหัดทดลองทำดูเอง พอลงมือปฏิบัติแล้วเราก็จะรู้ได้ด้วยตนเองว่า แบบไหนจึงจะเหมาะกับตัวเอง
เพราฉะนั้น ก็ขอให้ตั้งใจฝึกปฏิบัติทำความเพียร จะเป็นรูปแบบที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ก็ตาม ทำไปแล้วในที่สุดก็เข้าสู่วิปัสสนา เพื่อการละกิเลสเป็นสมุจเฉทปทาน เข้าสู่มรรค ผล นิพพาน บรรลุมรรคญาณ มรรคญาณเหล่านี้ซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมก็ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาญาณ คือญาณที่เห็นรูปนาม เห็นปรมัตถ์มีความเปลี่ยนแปลงเกิดดับ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา
การจะเกิดวิปัสสนาญาณก็ต้องอาศัยการระลึกรู้ตรงต่อสภาวปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ สติจะมีกำลังต่อเนื่องรู้เท่าทัน ก็ต้องอาศัยความเพียร ความตั้งใจในการฝึกหัดอบรม เราบังคับมันก็ไม่ได้ ที่จะให้รู้เห็นความเกิดดับ แต่เราต้องปลูกฝังการฝึกหัดอบรมอย่างต่อเนื่องๆในวันแรกๆ จิตอาจจะเผลอมาก ล่องลอยมาก ลืมเนื้อลืมตัวมาก ถ้าเราฝึกมากๆ จิตก็จะอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น แรกๆจิตจะยังไม่มีกำลังหรอก เราก็ต้องยอมรับและต้องฝึกต่อไป การเพียรอย่างถูกต้องก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จได้
วันนี้ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ.
เนื้อหาข้อความตัดทอนมาจากหนังสือ “บนวิถีแห่งธรรม”
เรื่อง “สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน”

โดยพระครูเกษมธรรมทัต (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี)
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลังจากอ่านบทความตรงนี้แล้ว !!
ให้เข้าไปอ่านพระธรรมเทศนาเรื่อง “กรรมฐาน 3 แนว” (คลิกที่นี่) ด้วยนะคะ
จะได้ความรู้ที่ครบถ้วนยิ่งกว่านี้อีกคะ ไม่น่าพลาด (-/\-)